ติ่งเนื้อผิวหนัง ติ่งเนื้อ (Acrochordon)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 19 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- สาเหตุและกลไกการเกิดโรคติ่งเนื้อผิวหนังเป็นอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดติ่งเนื้อผิวหนัง?
- ติ่งเนื้อผิวหนังมีอาการอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยโรคติ่งเนื้อผิวหนังได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคติ่งเนื้อผิวหนังอย่างไร?
- โรคติ่งเนื้อผิวหนังก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคติ่งเนื้อผิวหนังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีติ่งเนื้อผิวหนัง?
- เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคติ่งเนื้อผิวหนังได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- มะเร็ง (Cancer)
บทนำ
ติ่งเนื้อผิวหนัง หรือ ติ่งเนื้อ (Acrochordon หรือ Skin tag หรือ Cutaneous skin tag) คือ เนื้องอกชนิดหนึ่งที่มิใช่มะเร็ง ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบได้บ่อย ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วไป
ติ่งเนื้อผิวหนัง เป็นเนื้องอกที่ประกอบด้วย เนื้อเยื่อผิวหนัง ทั้งที่เป็นหนังกำพร้า (ที่เป็นเนื้อเยื่อส่วนนอกสุด) ถัดลงไปคือ หนังแท้ และส่วนในสุดเป็นเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งทั้งนี้ ยังไม่เคยมีรายงานว่า เนื้องอกติ่งเนื้อผิวหนัง กลายเป็นเนื้องอกมะเร็ง
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคติ่งเนื้อผิวหนังเป็นอย่างไร?
กลไกการเกิดโรคติ่งเนื้อผิวหนัง ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่มักพบติ่งเนื้อเกิดในบริเวณที่ผิวหนังมีการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนังด้วยกัน (เช่น ผิวหนังส่วนที่มีรอยย่นต่างๆ) หรือกับเสื้อ ผ้า เครื่องประดับ (เช่น ที่ลำคอ)
นอกจากนั้น การศึกษาทางสถิติยังพบว่า โรคติ่งเนื้อผิวหนัง มีความสัมพันธ์กับ ความอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดติ่งเนื้อผิวหนัง?
โรคติ่งเนื้อผิวหนัง พบได้บ่อยในคนอ้วน และผู้สูงอายุ เพศชาย เพศหญิงไม่มีความแตก ต่างกันในการเกิดติ่งเนื้อผิวหนัง
ติ่งเนื้อผิวหนังมีอาการอย่างไร?
ติ่งเนื้อผิวหนัง มีลักษณะเป็น
- ติ่ง ที่มีก้านติดกับผิวหนัง มีขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร สีเดียวกับผิวหนัง หรือสีเข้มกว่าผิวหนัง มีลักษณะนุ่ม
- ก้อนเนื้อมักไม่ค่อยมีการเจริญเติบโต
- มักพบบริเวณข้อพับที่มีการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับผิวหนังบ่อย เช่น รักแร้ คอ
- แต่บริเวณ ใบหน้า หนังตา ลำตัว ขาหนีบ ก้น ก็พบได้เช่นกัน
อาการ:
โดยทั่วไป ติ่งเนื้อผิวหนัง จะไม่ก่ออาการ แต่อาจมีอาการคันระคายเคือง หากติ่งเนื้อเสียดสีกับเสื้อผ้า และ/หรือเครื่องประดับ
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่? แพทย์วินิจฉัยโรคติ่งเนื้อผิวหนังได้อย่างไร?
สามารถพบแพทย์ได้เพื่อกำจัดติ่งเนื้อออก ทั้งนี้ โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าเป็นติ่งเนื้อผิวหนังได้จาก
- การตรวจด้วยตาเปล่า
- มีส่วนน้อยที่ลักษณะก้อนเนื้อ แยกจากรอยโรคอื่นได้ไม่ชัดเจนนัก (เช่น จาก หูด) แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตัดชิ้นเนื้อตรงรอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
แพทย์รักษาโรคติ่งเนื้อผิวหนังอย่างไร?
ติ่งเนื้อผิวหนังนี้ โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะไม่ก่ออาการอะไร ไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง และก้อนเนื้ออาจบิดหลุดไปได้เอง
อย่างไรก็ตาม ในบางคน ที่มีปัญหาในภาพลักษณ์ อาจต้องการรักษา ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยทำการตัดออก โดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ใช้ใบมีดโกน กรรไกร การตัดด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์
ซึ่งโดยทั่วไปหลังการตัดออก:
- จะเกิดเป็นแผลตื้นๆ ที่ดูแลรักษาความสะอาด ทายา เหมือนการดูแลแผลถลอกทั่วไป
- แต่หากมีติ่งเนื้อหลายติ่ง จึงมีแผลหลายตำแหน่ง แพทย์อาจพิจารณาการให้ยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลได้
โรคติ่งเนื้อผิวหนังก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โรคติ่งเนื้อผิวหนังนั้น ไม่ใช่เนื้อร้าย/เนื้องอกมะเร็ง และมักไม่ก่ออาการหรือผลข้างเคียงใดๆ นอกจากมีการเสียดสีกับเสื้อผ้า และ/หรือเครื่องประดับ ที่อาจก่อให้เกิดอาการคัน ความรำ คาญ หรือเป็นปัญหาด้านความสวยงาม
โรคติ่งเนื้อผิวหนังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของติ่งเนื้อผิวหนัง คือ
- เป็นโรคที่ยังไม่เคยมีรายงานว่ากลายเป็นมะเร็ง
- ติ่งเนื้ออาจหลุดไปได้เอง หรือ
- ถ้าตัดออก หลังการตัดออก ก็อาจมีติ่งเนื้อผิวหนังเกิดใหม่ขึ้นมาอีกได้ตามปัจจัยเสี่ยงคือ
- ความอ้วน
- อายุที่มากขึ้น และ/หรือ
- การเสียดสีกันของผิวหนังกับผิวหนัง หรือผิวหนังเสียดสีกับสิ่งอื่นๆ ที่เป็นการเสียดสีอย่างต่อเนื่อง
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีติ่งเนื้อผิวหนัง?
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีติ่งเนื้อผิวหนัง คือ
- หากติ่งเนื้อผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ แล้วก่อเกิดอาการคัน รำคาญ พยายามอย่าเกา เพื่อเลี่ยงการเกิดแผล หรือการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ตำแหน่งที่เกาจนเกิดแผล ร่วมกับ
- พยายามลดการเสียดสีในตำแหน่งรอยโรค เช่น ไม่ใส่เครื่องประดับ และ/หรือ สวมเสื้อผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการเสียดสี เป็นต้น
เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
หากมีการเปลี่ยนแปลงของรอยโรค ทั้งก่อนและหลังการรักษา เช่น มีอาการ แดง เจ็บ ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อพิจารณารับยาฆ่าเชื้อ/ยาปฏิชีวนะ
ป้องกันโรคติ่งเนื้อผิวหนังได้อย่างไร?
การป้องกันการเกิดติ่งเนื้อผิวหนังให้เต็มร้อย เป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่แน่นอน รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การสูงอายุ
แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค ซึ่งเท่าที่ทำได้คือ
- การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีภาวะอ้วน
- การใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย
- การเลือกใช้เครื่องประดับชนิดลดการเสียดสีต่อเนื่องกับผิวหนัง
บรรณานุกรม
- Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest,Amy S.Paller ,David J. Leffell,Klaus Wolff . Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eighth edition ; Mc Grawhill medical.
- Acrochordon : medscape ; https://emedicine.medscape.com/article/1060373-overview#showall [2020,Jan18].