ตาบอดสี (Color blindness) – Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • ผลกระทบของภาวะตาบอดสี
  • การจำแนกประเภท
  • สาเหตุ
  • การวินิจฉัยโรค
  • การรับมือ
  • ระบาดวิทยา

เกริ่นนำ

ตาบอดสีหรือภาวะบกพร่องในการรับรู้สี (Color Vision Deficiency, CVD) คือความบกพร่องที่ส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นสีหรือการแยกแยะความแตกต่างของสีลดลง ความรุนแรงของภาวะตาบอดสีมีตั้งแต่ระดับที่แทบไม่อาจสังเกตเห็นได้ไปจนถึงระดับที่มองไม่เห็นสีอย่างสมบูรณ์ ภาวะตาบอดสีมักเกิดจากพันธุกรรมหรือการทำงานผิดปกติของเซลล์รูปกรวย (cone cells) ภายในเรตินาอย่างน้อยหนึ่งชนิด (ในจำนวนเซลล์รูปกรวยทั้งหมดสามชนิด) ซึ่งเซลล์นี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นสี

รูปแบบของภาวะตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากภาวะทางพันธุกรรม เรียกว่าตาบอดสีแดง-เขียวแต่กำเนิด (ได้แก่ประเภทภาวะโปรแทนและภาวะดูแทน) โดยพบในผู้ชายประมาณ 1 ใน 12 คน (8%) และผู้หญิงประมาณ 1 ใน 200 คน (0.5%) สาเหตุที่พบได้บ่อยกว่าในผู้ชายนั้นเนื่องจากยีนอ็อปซิน (opsin genes) ซึ่งมีบทบาทสำคัญตั้งอยู่บนโครโมโซม X นั่นเอง

ภาวะตาบอดสีทางพันธุกรรมอื่น ๆ ที่พบน้อยลงมา ได้แก่ ตาบอดสีน้ำเงิน-เหลืองแต่กำเนิด (ประเภทไทรแทน), ภาวะโคนสีน้ำเงินผิดปกติ (blue cone monochromacy) และภาวะมองไม่เห็นสีโดยสมบูรณ์ (achromatopsia)

นอกจากนี้ ตาบอดสีอาจเกิดจากความเสียหายทางกายภาพหรือทางเคมีต่อดวงตา เส้นประสาทตา ส่วนของสมอง หรือผลข้างเคียงจากสารพิษในยาบางชนิดได้ และความสามารถในการมองเห็นสีก็สามารถลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้นได้เช่นกัน

การวินิจฉัยภาวะตาบอดสีมักทำได้ด้วยแบบทดสอบการมองเห็นสี เช่น การทดสอบอิชิฮาระ (Ishihara test) เป็นต้น แม้ว่าเรายังไม่มีวิธีรักษาภาวะตาบอดสีส่วนมาก แต่ปัจจุบันมีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดด้วยยีนสำหรับภาวะตาบอดสีชนิดรุนแรงอยู่ด้วย

ภาวะตาบอดสีในระดับเล็กน้อยมักไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ผู้ที่ตาบอดสีจะปรับตัวและมีวิธีรับมือกับข้อจำกัดนี้ได้โดยด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยจะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะตาบอดสี ผู้ปกครอง และครูผู้สอนสามารถจัดเตรียมวิธีรับมือได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

แว่นตาสำหรับผู้ตาบอดสี (เช่น แว่นตา EnChroma) อาจช่วยให้ผู้ที่ตาบอดสีแดง-เขียวสามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับสีได้ในบางกรณี แต่แว่นดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ผู้สวมใส่มองเห็นสีได้ "เหมือนคนปกติ" หรือทำให้มองเห็นสี "ใหม่" นอกจากแว่นตาดังกล่าว ยังมีแอปพลิเคชันบนมือถือบางตัวที่สามารถใช้กล้องของอุปกรณ์เพื่อช่วยระบุสีได้เช่นกัน

ผู้ที่ตาบอดสีอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพบางอย่าง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเขตอำนาจศาล ยกตัวอย่างเช่น นักบิน พนักงานขับรถไฟ ตำรวจ นักดับเพลิง และทหารในกองทัพ ขณะเดียวกันผลกระทบของตาบอดสีต่อความสามารถทางศิลปะยังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่ แต่เชื่อกันว่ามีศิลปินชื่อดังหลายคนที่อาจมีภาวะตาบอดสี

ผลกระทบของภาวะตาบอดสี

ผู้ที่ตาบอดสีจะมีความสามารถในการแยกแยะสีบกพร่อง (หรือไม่มีเลย) ในแกนสีแดง-เขียว แกนสีน้ำเงิน-เหลือง หรือทั้งสองแกนพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตาบอดสีส่วนใหญ่มักมีปัญหาการแยกแยะเฉพาะในแกนสีแดง-เขียว

สัญญาณบ่งชี้แรกของภาวะตาบอดสีคือการที่บุคคลใช้สีทำสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้อง เช่น การทาสีหรือการเรียกชื่อสีผิด สีที่ผู้มีภาวะตาบอดสีจะสับสนมักจะเหมือนกับสีสับสนของคนอื่น ๆที่มีภาวะตาบอดสีประเภทเดียวกัน

  • สีสับสน

สีที่สับสนคือคู่หรือกลุ่มของสีที่ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีมักจะเข้าใจผิด สำหรับภาวะตาบอดสีแดง-เขียว สีสับสน ได้แก่:

    • สีน้ำเงินอมเขียวกับสีเทา
    • สีชมพูกุหลาบและสีเทา
    • สีน้ำเงินและสีม่วง
    • สีเหลืองและสีเขียวนีออน
    • สีแดง, เขียว, ส้ม, และสีน้ำตาล

สำหรับภาวะตาบอดสีน้ำเงิน-เหลือง (ไทรแทน), สีสับสน ได้แก่:

    • สีเหลืองและสีเทา
    • สีน้ำเงินและสีเขียว
    • สีน้ำเงินเข้ม/สีม่วงและสีดำ
    • สีม่วงและสีเหลืองอมเขียว
    • สีแดงและสีชมพูกุหลาบ
  • กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสี

Cole, Barry L ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านทัศนมาตรศาสตร์ระบุประเภทหลักๆ ของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสีไว้ 4 ประเภท ซึ่งทั้งหมดได้รับผลกระทบจากภาวะตาบอดสี ได้แก่:

    • เปรียบเทียบ – กิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะเปรียบเทียบสีหลายๆ สี เช่น การผสมสี
    • ตีความ – กิจกรรมที่สีมีความหมายโดยนัย เช่น การตีความว่าสีแดงหมายถึง "หยุด"
    • ระบุชื่อ – กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระบุสีโดยใช้ชื่อ เช่น การถาม-ตอบว่า "ลูกบอลสีเหลืองอยู่ที่ไหน?"
    • ความงาม – กิจกรรมที่ใช้สีในการดึงดูดความสนใจทางสายตาหรือสื่ออารมณ์โดยไม่มีความหมายชัดเจน

ตัวอย่างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสีที่ผู้ที่ตาบอดสีมักประสบปัญหามีดังนี้

  • อาหาร

ภาวะตาบอดสีทำให้เกิดความยากลำบากในการตีความสีเมื่อเลือกหรือเตรียมอาหาร กล่าวคือ การเลือกอาหารตามความสุกอาจกลายเป็นเรื่องยาก เช่น ยากที่จะแยกแยะกล้วยที่เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ยากที่จะตรวจจับรอยช้ำ รา หรือสภาพเน่าเสียบนอาหารบางอย่าง ยากที่จะตรวจสอบความสุกของเนื้อสัตว์โดยการดูสี ยากที่จะแยกแยะผลไม้บางประเภท เช่น แอปเปิลพันธุ์แบรเบิร์นกับแอปเปิลพันธุ์แกรนนี่สมิธ หรือแม้แต่การแยกแยะสีการแต่งรสชาติ (เช่น ลูกอมเจลลี่บีน หรือเครื่องดื่มเกลือแร่) ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน

  • สีผิว

ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแดง-เขียวไม่อาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสีผิวจากรอยฟกช้ำ แผลไหม้จากแดด ผื่น หรือแม้กระทั่งอาการเขินอายหน้าแดงได้

  • สัญญาณไฟจราจร

สีของสัญญาณไฟจราจรอาจก่อให้เกิดความลำบากต่อผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแดง-เขียว ปัญหานี้รวมไปถึงการแยกแยะไฟสีแดงและไฟสีเหลืองจากไฟถนนแบบหลอดโซเดียม การแยกแยะไฟสีเขียว (ที่เฉดใกล้กับสีน้ำเงินเทา) จากไฟสีขาวปกติ และการแยกแยะไฟสีแดงจากไฟสีเหลือง โดยเฉพาะเมื่อไม่มีตำแหน่งของไฟช่วยบอกใบ้

วิธีปรับตัวส่วนใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้คือการจำตำแหน่งของไฟ สัญลักษณ์ไฟจราจรแบบสามสีทั่วไปจะมีลำดับที่เป็นมาตรฐาน คือไฟแดง–ไฟเหลือง–ไฟเขียวจากบนลงล่างหรือจากซ้ายไปขวา และแม้ไม่ค่อยมีไฟจราจรที่มีตำแหน่งต่างไปจากนี้ แต่เคยมีกรณีหนึ่งคือสัญญาณไฟจราจรที่ทิพเพอรี ฮิลล์ในซิราคิวส์ นิวยอร์ก ถูกติดตั้งในลำดับกลับกัน (ไฟเขียว–ไฟเหลือง–ไฟแดงจากบนลงล่าง) ด้วยเหตุผลทางความรู้สึกของชุมชนชาวไอริชอเมริกันในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ไฟจราจรนี้ก็ถูกวิจารณ์เนื่องจากอาจสร้างอันตรายให้กับผู้ขับขี่ที่ตาบอดสีได้

สัญญาณไฟจราจรสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตาบอดสีได้ในลักษณะอื่น ๆ เช่นสัญญาณไฟของ British Rail ใช้สีที่สามารถแยกแยะได้ง่าย คือใช้สีแดงเลือดเป็นไฟแดง สีเหลืองสดเป็นไฟเหลือง และสีแกมฟ้าเป็นไฟเขียว ไฟจราจรบนถนนในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่จะเป็นแนวตั้งบนกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำขอบสีขาว เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองหาตำแหน่งของไฟได้ง่ายขึ้น ในรัฐทางตะวันออกของแคนาดา นอกเหนือจากสี ผู้คนสามารถแยกสัญญาณไฟจราจรบางแห่งได้จากรูปทรงด้วย คือสี่เหลี่ยมสำหรับไฟแดง รูปเพชรสำหรับไฟเหลือง และวงกลมสำหรับไฟเขียว

  • สัญญาณไฟ

ไฟนำทางทางทะเลและการบินใช้ไฟสีแดงและสีเขียวเพื่อบอกตำแหน่งสัมพัทธ์ของเรือหรือเครื่องบินอื่น ส่วนไฟสัญญาณของรถไฟก็เป็นสีแดง-เขียว-เหลือง ซึ่งทั้งสองกรณี การใช้สีดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ที่ตาบอดสีแดง-เขียว การทดสอบด้วยเครื่องแสดงสี (Lantern tests) เป็นวิธีปกติในการทดสอบว่าบุคคลนั้นตาบอดสีหรือไม่ และสามารถแยกแยะสีสัญญาณเหล่านี้ได้หรือไม่ โดยผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบมักถูกจำกัดจากการทำงานบนเครื่องบิน เรือ หรือรถไฟ เป็นต้น

  • แฟชั่น

การวิเคราะห์สี (Color analysis) คือการวิเคราะห์การใช้สีในวงการแฟชั่นเพื่อกำหนดสีที่เหมาะสมและสวยงามที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล ชุดสีที่ว่านี้ประกอบไปด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ การแต่งหน้า สีผม สีผิว และ สีตา เป็นต้น การวิเคราะห์สีนั้นคือกิจกรรมด้านความงามและการเปรียบเทียบสี จึงเป็นงานที่ยากสำหรับผู้ที่ตาบอดสี

  • ศิลปะ

การที่มีความบกพร่องในการแยกแยะสี มิได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะไม่สามารถเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงได้ จิตรกรเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ชาวออสเตรเลียในศตวรรษที่ 20 อย่างคลิฟตัน พัค (Clifton Pugh) ผู้ได้รับรางวัล Archibald Prize ของออสเตรเลียถึงสามครั้ง ถูกระบุว่าเป็นผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแดง (protanopia) โดยพิจารณาจากประวัติชีวิต การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเหตุผลสนับสนุนอื่นๆ ศิลปินชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 อย่างชาร์ลส์ เมรียอง (Charles Méryon) ประสบความสำเร็จด้านงานแกะสลักแทนที่จะเป็นงานจิตรกรรมหลังถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะตาบอดสีแดง-เขียว หรือกระทั่งจิน คิม (Jin Kim) ภาวะตาบอดสีแดง-เขียวก็มิได้เป็นอุปสรรคในการเป็นอนิเมเตอร์คนแรก และเป็นนักออกแบบตัวละครของ Walt Disney Animation Studios แต่อย่างใด

  • ข้อได้เปรียบ

ผู้ที่มองเห็นสีเขียว สีส้ม เป็นโทนสีแดง (Deuteranomals) สามารถแยกแยะเฉดสีของสีกากีได้ดีกว่า ซึ่งอาจได้เปรียบเมื่อต้องมองหาสัตว์นักล่า อาหาร หรือวัตถุที่ถูกอำพรางในป่า ผู้ที่มีเซลล์รูปกรวยเพียงสองชนิด (Dichromats) มักจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ จากพื้นผิวและรูปร่าง ทำให้สามารถแยกแยะการพรางตัวที่ถูกออกแบบมาใช้กับบุคคลที่มีการมองเห็นสีปกติได้ดี

มีหลักฐานพิสูจน์ว่าผู้ตาบอดสีสามารถแยกแยะการพรางตัวบางประเภทได้ดีกว่า การค้นพบเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลในเชิงวิวัฒนาการที่อธิบายสาเหตุที่เรายังมีผู้ตาบอดสีแดง-เขียวในอัตราสูง ยังมีการศึกษาที่เสนอว่าผู้ที่มีภาวะตาบอดสีบางประเภทสามารถแยกแยะสีที่คนที่มีการมองเห็นสีปกติไม่สามารถแยกแยะได้ และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีการใช้ทหารสังเกตการณ์ที่ตาบอดสีเพื่อชี้การพรางตัวอีกด้วย

การจำแนกประเภท

มีศัพท์เฉพาะมากมายที่เราเคยใช้และยังคงใช้จำแนกประเภทของตาบอดสีอยู่ แต่การแบ่งประเภทโดยทั่วไปจะเป็นไปตามการจำแนกของฟอน ครีส์ (von Kries classifications) ซึ่งตั้งชื่ออาการตามระดับความรุนแรงและชนิดของเซลล์กรวยตาที่มีปัญหา

  • แบ่งตามระดับความรุนแรง

ตาบอดสีอาจแบ่งเป็นตาบอดสีทั้งหมดหรือตาบอดสีบางส่วนตามลักษณะที่วินิจฉัยได้ โดยตาบอดสีทั้งหมด (monochromacy) จะพบได้น้อยกว่าตาบอดสีบางส่วน (Partial color blindness) มาก ตาบอดสีบางส่วนแบ่งออกเป็น dichromacy - ภาวะที่ขาดเซลล์รูปกรวยไป 1 ชนิด และ anomalous trichromacy – ภาวะที่มีเซลล์ครบชนิดแต่การทำงานของเซลล์ผิดปกติ อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์อาการตาบอดสีบางส่วนมักถูกเรียกเป็นระดับ คือเล็กน้อย ปานกลาง และระดับรุนแรง

  • ตาบอดสีทั้งหมด (Monochromacy)

Monochromacy มักถูกเรียกว่าตาบอดสีทั้งหมด เนื่องจากผู้มีภาวะนี้จะไม่มีความสามารถในการมองเห็นสีเลย แม้ว่าคำนี้อาจใช้พูดถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น cerebral achromatopsia หรือภาวะตาบอดสีซึ่งเกิดจากการเสียหายของสมองได้ แต่โดยทั่วไปจะหมายถึงความผิดปกติของการมองเห็นสีแต่กำเนิด อันได้แก่ Rod monochromacy และ Blue cone monochromacy

ผู้มีภาวะ Cerebral achromatopsia จะไม่สามารถรับรู้สีแม้ว่าดวงตาจะยังสามารถแยกแยะสีได้ก็ตาม แหล่งข้อมูลบางแห่งจึงไม่ถือว่าอาการนี้จัดเป็นภาวะตาบอดสี เนื่องจากปัญหาเกิดขึ้นที่การรับรู้ ไม่ใช่ที่การมองเห็น ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวจัดอยู่ในรูปแบบหนึ่งของภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา (Visual agnosia)

Monochromacy เป็นภาวะที่มีเกี่ยวกับสีเพียงช่องทางเดียว ผู้ที่มีภาวะนี้ (เรียกว่า Monochromats) จะไม่สามารถแยกแยะสีใด ๆ ได้และสามารถรับรู้ได้เพียงความแตกต่างของความสว่างเท่านั้น ภาวะ Monochromacy แต่กำเนิดแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักคือ:

    • Rod monochromacy หรือที่มักเรียกว่าภาวะเสียการระลึกรู้สีสมบูรณ์ (complete achromatopsia) เป็นภาวะที่จอประสาทตาไม่มีเซลล์รูปกรวยเลย ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถแยกแยะสีได้แล้ว ผู้ป่วยยังประสบความยากลำบากในการมองเห็นในสภาพแสงปกติอีกด้วย
    • Cone monochromacy เป็นภาวะที่มีเซลล์รูปกรวยเพียงประเภทเดียว ผู้มีภาวะนี้สามารถมองเห็นได้ดีในแสงปกติ แต่จะไม่สามารถแยกแยะเฉดสีได้ ภาวะนี้แบ่งออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ตามเซลล์ที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ในเชิงวิชาการยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดเกี่ยวกับภาวะ Red cone monochromacy และ Green cone monochromacy
  • Blue cone monochromacy เกิดจากการทำงานบกพร่องของเซลล์รูปกรวยชนิด L (แดง) และ M (เขียว) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับยีนบนโครโมโซม x ยีนเดียวกันกับภาวะตาบอดสีแดง-เขียว ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการลูกตากระตุก (Nystagmus) ดวงตาไวต่อแสง (Photophobia) มีการมองเห็นที่ลดลง และมีภาวะสายตาสั้น (Myopia) โดยความคมชัดของการมองเห็นมักลดลงเหลือในช่วง 20/50 ถึง 20/400
  • Dichromacy

ผู้ที่มีภาวะ Dichromacy จะสามารถจับคู่สีที่เห็นได้โดยใช้ส่วนผสมของแม่สีเพียงสองสี แตกต่างจากผู้ที่มีการมองเห็นปกติ (Trichromats) ซึ่งสามารถแยกแยะแม่สีทั้งสาม ผู้ที่มีภาวะ Dichromacy มักจะรู้ว่าตนเองมีปัญหาด้านการมองสี และภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

ในมนุษย์ ภาวะ Dichromacy ประกอบด้วย ตาบอดสีแดง (Protanopia), ตาบอดสีเขียว (Deuteranopia), และตาบอดสีน้ำเงิน (Tritanopia) โดยในกลุ่มประชากรเพศชายประมาณ 2% จะแยกแยะสีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียวได้ลำบาก ด้วยความที่สีส้มและสีเหลืองเป็นการผสมที่ไม่เหมือนกันระหว่างแสงสีแดงและแสงสีเขียว แม้สีในช่วงนี้จะดูแตกต่างกันในมุมของผู้ที่มองเห็นได้ปกติ แต่สำหรับผู้ที่มี dichromacy จะดูเหมือนเป็นสีเดียวกันหรือใกล้เคียงกันนั่นเอง

  • Anomalous Trichromacy

Anomalous trichromacy เป็นภาวะบกพร่องด้านการมองเห็นสีที่มีความร้ายแรงน้อยที่สุด และระดับความรุนแรงสามารถแตกต่างกันตั้งแต่รุนแรงขั้นใกล้เคียงกับ Dichromacy ไปจนถึงใกล้เคียงกับ trichromacy หรือผู้ที่มองเห็นสีได้ปกติทีเดียว ในชีวิตจริง มีผู้ที่มีอาการ Anomalous trichromacy ในระดับเล็กน้อยมากมายที่แทบไม่มีปัญหาในการทำงานที่ต้องใช้การมองเห็นสี กระทั่งว่าบางคนอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเองมีภาวะบกพร่องชนิดนี้

ประเภทของ Anomalous trichromacy ได้แก่ Protanomaly (เซลล์รูปกรวยสีแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้มองเห็นวัตถุเฉดแดงเป็นสีเขียว) Deuteranomaly (เซลล์รูปกรวยสีเขียวน้อยกว่าปกติ ทำให้มองเห็นวัตถุเฉดเขียวเป็นสีแดง) และ Tritanomaly (เซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินน้อยกว่าปกติ ทำให้แยกแยะสีบางเฉดได้ลำบาก) โดยภาวะ Anomalous trichromacy นี้พบได้บ่อยกว่า Dichromacy ถึงสามเท่า ผู้ที่มี

ตัวอย่างเช่น เมื่อจับคู่แสงสีเหลือง ผู้ที่มีภาวะ Protanomaly จะต้องใช้แสงสีแดงผสมลงในแสงเฉดแดงและเขียวมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มองเห็นปกติ ในขณะที่ผู้ที่มี Deuteranomaly จะต้องใช้แสงสีเขียวมากกว่า ความแตกต่างนี้สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Anomaloscope เครื่องมือผสมแสงสีแดงและสีเขียวเพื่อจับคู่แสงสีเหลืองตามที่ผู้ทดลองมองเห็นนั่นเอง

สาเหตุ

ตาบอดสีคือความผิดปกติของการมองเห็นสี ผิดจากภาวะที่มองเห็นสีได้ครบผ่านเซลล์รูปกรวยทั้งสามประเภท ส่งผลให้ขอบเขตของสีที่มองเห็นลดน้อยลง ภาวะตาบอดสีนั้นเกี่ยวข้องกับทำงานของเซลล์กรวยในจอประสาทตา และมักเกี่ยวข้องกับการแสดงผลของphotopsins ซึ่งเป็นรงควัตถุที่จับโฟตอนและแปลงแสงให้เป็นสื่อเคมี

ภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสีสามารถจำแนกได้เป็นสองประเภทหลัก คือ ภาวะทางพันธุกรรมและภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง

  • พันธุกรรม: ภาวะตาบอดสีที่เกิดจากพันธุกรรมหรือเกิดขึ้นโดยกำเนิดมักมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่เข้ารหัสโปรตีนออพซิน (Opsin proteins) อย่างไรก็ตาม ยังมียีนอื่น ๆ อีกหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในรูปแบบที่พบได้น้อยหรือรุนแรงกว่า
  • ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลัง: ตาบอดสีที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิดอาจเกิดจากโรคเรื้อรัง อุบัติเหตุ การใช้ยา การได้รับสารเคมี หรือความเสื่อมถอยปกติตามวัย
  • สาเหตุที่ไม่ใช่พันธุกรรม

การบาดเจ็บทางกายภาพอาจทำให้เป็นตาบอดสีได้ ทั้งจากการบาดเจ็บทางระบบประสาท เช่นการบาดเจ็บบริเวณสมองซึ่งทำให้เกิดการบวมในสมองส่วนท้าย (Occipital lobe) หรือจากการบาดเจ็บที่จอตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน (เช่น จากการรับแสงเลเซอร์) หรือเรื้อรัง (เช่น จากการสัมผัสแสงยูวี)

ตาบอดสียังอาจเป็นอาการของโรคดวงตาเสื่อมสภาพ เช่น ต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อมจากอายุ และเป็นส่วนหนึ่งของอาการที่จอตาอันเกิดจากโรคเบาหวาน นอกจากนี้ การขาดวิตามิน A ยังอาจก่อให้เกิดตาบอดสีได้ด้วย

ตาบอดสีอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ ตัวอย่างเช่น ตาบอดสีแดง–เขียวอาจเกิดจากยาเอทัมบูทอล (Ethambutol) ซึ่งใช้ในการรักษาวัณโรค ตาบอดสีน้ำเงิน–เหลืองสามารถเกิดจากยาไซลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาไวอากร้า (Viagra) ยาHidroxychloroquine สามารถทำให้เกิดภาวะ Hydroxychloroquine retinopathy คือความผิดปกติของการมองเห็นสีหลาย ๆ รูปแบบ การสัมผัสกับสารเคมีเช่น สไตรีนหรือสารละลายอินทรีย์อื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดความผิดปกติในการมองเห็นสีได้เช่นเดียวกัน

การวินิจฉัยโรค

  • การทดสอบการมองเห็นสี

วิธีหลักในการวินิจฉัยภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสี คือ การทดสอบการมองเห็นสีโดยตรง การทดสอบสีอิชิฮาระ (Ishihara color test) เป็นการทดสอบที่ถูกนำมาใช้บ่อยที่สุดในการตรวจหาภาวะตาบอดสีแดง–เขียว และเป็นวิธีที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางที่สุด การทดสอบบางวิธีเป็นการทดสอบทางการแพทย์ ออกแบบให้ทำได้รวดเร็ว ง่าย และสามารถระบุประเภทของตาบอดสีแบบกว้าง ๆ ส่วนการทดสอบอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นจะเน้นความแม่นยำ และโดยทั่วไปจะทำกันในทางการวิจัยเท่านั้น

  • แผ่นภาพพีซูโดอิโซโครมาติก (Pseudoisochromatic plates) ประกอบด้วยการทดสอบสีอิชิฮาระและการทดสอบ HRR โดยจะฝังตัวเลขลงในแผ่นภาพในลักษณะของจุดที่ล้อมรอบด้วยจุดที่มีสีต่างออกไปเล็กน้อย สีเหล่านี้จะดูเหมือนกันสำหรับผู้ที่ตาบอดสี แต่จะไม่เหมือนและแยกแยะออกสำหรับผู้ที่มองเห็นสีปกติ แผ่นภาพพีซูโดอิโซโครมาติกถูกใช้เป็นเครื่องมือคัดกรองเนื่องจากราคาไม่แพง รวดเร็ว และง่าย อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่สามารถให้การวินิจฉัยภาวะตาบอดสีที่แม่นยำได้

เครื่องแสดงสี (Lantern tests) เช่น การทดสอบตะเกียงฟาร์นส์เวิร์ธ (Farnsworth lantern test) จะฉายลำแสงสีเล็กๆ ไปยังผู้ทดสอบให้ระบุสีของแสง แสงเหล่านี้คือสีของไฟสัญญาณปกติ เช่น แดง เขียว และเหลือง ซึ่งเป็นสีสับสนของผู้ที่มีภาวะตาบอดสีแดง–เขียว เครื่องแสดงสีไม่สามารถวินิจฉัยตาบอดสีได้ แต่สามารถใช้ในการคัดกรองอาชีพเพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครมีความสามารถในการแยกแยะสีในการทำงานเพียงพอ

    • การทดสอบการจัดเรียง (Arrangement tests) สามารถใช้เป็นเครื่องมือการคัดกรองหรือวินิจฉัย ผู้ทดสอบจะต้องจัดเรียงฝาครอบหรือแผ่นสีเพื่อเรียงสีระหว่างฝาครอบสองตัวให้ไล่ไปตามเฉดทีละน้อย
    • เครื่องแอนะมาลอสโคป (Anomaloscopes) โดยทั่วไปออกแบบมาเพื่อตรวจหาภาวะตาบอดสีแดง–เขียว โดยอิงจากการทดสอบ Rayleigh match คือเปรียบเทียบการผสมแสงสีแดงและเขียวในอัตราส่วนที่แตกต่างกันกับแสงสีเหลืองสเปกตรัมในความสว่างหลายระดับ ผู้ทดสอบต้องปรับตัวแปรทั้งสองจนสีตรงกัน แอนะมาลอสโคปมีราคาแพงและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ จึงมักใช้เฉพาะในการวิจัยเท่านั้น
  • การทดสอบทางพันธุกรรม

แม้ว่าการทดสอบทางพันธุกรรมจะไม่สามารถประเมินการมองเห็นสี (ฟีโนไทป์) ของบุคคลได้โดยตรง แต่ความบกพร่องในการมองเห็นสีแต่กำเนิดส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพันธุกรรม (จีโนไทป์) ดังนั้น เราจึงใช้จีโนไทป์ประเมินและทำนายฟีโนไทป์ได้

การรับมือ

แม้ว่าการรักษาตาบอดสีด้วยยีนนั้นพัฒนาขึ้นมากแล้วในระยะหลัง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาภาวะตาบอดสีที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอเมริกา และยังไม่มีกรณีที่รักษาจนหายขาดได้ สำหรับการรับมือกับภาวะนี้ประกอบด้วยการใช้เลนส์เพื่อบรรเทาอาการหรือแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน

  • เลนส์

ยังไม่มีเลนส์ที่ช่วยรักษาอาการตาบอดสีให้หายเป็นปกติ แต่มีเลนส์สามประเภทที่เพิ่มความแม่นยำในงานที่เกี่ยวข้องกับสีบางประการได้:

    • คอนแทคเลนส์สีแดง สำหรับสวมใส่ที่ดวงตาข้างตาด้อย (Non-dominant eye) เพื่อใช้ความแตกต่างของภาพจากสองตาช่วยให้แยกแยะสีบางสีได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เลนส์เหล่านี้อาจทำให้การแยกแยะสีอื่น ๆ ยากขึ้นได้ คอนแทคเลนส์สีแดงสามารถเพิ่มคะแนนในการทดสอบการมองเห็นสีบางการทดสอบ แต่เลนส์เหล่านี้ไม่สามารถปรับการมองเห็นสีให้ถูกต้องในสภาพแวดล้อมจริง
    • แว่นตาสี (เช่น แว่นตา Pilestone/Colorlite) เปลี่ยนแสงที่มองเห็นเป็นสีม่วงหรือสีอื่นที่คล้ายกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงการรับรู้สีให้ทำงานบางอย่างได้ง่ายขึ้น อนึ่ง แว่นตาสีไม่สามารถทำให้ผู้สวมมองเห็นสีที่แท้จริงได้ และมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการทดสอบการมองเห็นสี
  • อุปกรณ์ช่วยเหลือ

มีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือและคอมพิวเตอร์ขึ้นหลายตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะตาบอดสี:

    • แอปพลิเคชันช่วยระบุสี สามารถตรวจจับและแสดงชื่อและหน่วยสีของสีผ่านกล้องของอุปกรณ์
    • แอปพลิเคชันที่ช่วยเพิ่มคอนทราสต์ จะแก้ไขภาพเพื่อปรับความแตกต่างของสี โดยเฉพาะในกราฟิกและข้อมูลของภาพ เทคนิคเหล่านี้รู้จักกันในชื่อ Daltonization algorithms
    • แอปพลิเคชันจำลองตาบอดสี จะใช้ฟิลเตอร์ปรับภาพหรือหน้าจอและลดขอบเขตของสีเพื่อจำลองอาการตาบอดสีประเภทต่าง ๆ แม้ว่าแอปเหล่านี้จะไม่ได้ช่วยเหลือผู้ที่ตาบอดสีโดยตรง แต่สามารถช่วยให้นักออกแบบสร้างภาพที่เป็นมิตรกับผู้มีภาวะตาบอดสีได้มากขึ้น
    • เทคโนโลยี Eyeborg พัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถรับรู้สีผ่านเสียง นีล ฮาร์บิสัน ศิลปินผู้มีอาการบกพร่องด้านการรับรู้สีชนิด achromatopsia เป็นคนแรกที่ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โดยเขาได้จำเสียงความถี่ที่สอดคล้องกับสีต่าง ๆ และในปี ค.ศ. 2012 นีลได้เผยว่าเขาสามารถรับรู้สีที่เกินขีดความสามารถในการมองเห็นของมนุษย์อีกด้วย

ระบาดวิทยา

ภาวะตาบอดสีส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือ ตาบอดสีแดง-โปรแทน (Protan) และ ตาบอดสีเขียว-เดอูแทน (Deutan) พบว่าผู้ชายถึง 8% และผู้หญิง 0.4% ที่มีเชื้อสายจากยุโรปตอนเหนือ ประสบกับภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด

  • อาชีพ

ภาวะตาบอดสีอาจทำให้บุคคลไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้ หรือทำได้ยาก บุคคลที่มีภาวะตาบอดสีอาจถูกห้าม ทั้งตามกฎหมายหรือในทางปฏิบัติจากการทำงานที่การมองเห็นสีเป็นสิ่งสำคัญ (เช่น การผสมสีทาผนัง) หรืองานที่การมองเห็นสีเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (เช่น การขับขี่ยานยนต์ตามสัญญาณสี) ข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการทำงานนี้เกิดจากอุบัติเหตุรถไฟ Lagerlunda ในปี ค.ศ. 1875 ซึ่ง Alarik Frithiof Holmgren แพทย์ชาวสวีเดน กล่าวโทษว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดจากภาวะตาบอดสีของวิศวกร และ Alarik Frithiof Holmgren ผู้นี้เองเป็นคนคิดค้นการทดสอบคัดกรองอาชีพครั้งแรก เรียกว่า Holmgren's wool test สำหรับตรวจผู้ที่มีภาวะตาบอดสี

การมองเห็นสีเป็นสิ่งสำคัญในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเดินสายโทรศัพท์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เนื่องจากสายไฟแต่ละเส้นภายในสายเคเบิลใช้สีเพื่อแยกประเภท เช่น เขียว ส้ม น้ำตาล น้ำเงิน และขาว นอกจากนี้ ยังมีการใช้สีในการเดินสายอิเล็กทรอนิกส์ ตัวแปลงไฟฟ้า ตัวต้านทาน และตัวเก็บประจุ โดยใช้สีดำ น้ำตาล แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง เทา ขาว เงิน และทอง

ภาวะตาบอดสีอาจส่งผลกระทบการเข้าร่วม เป็นกรรมการ และการชมการแข่งขันกีฬาได้ นักฟุตบอลอาชีพ Thomas Delaney และ Fabio Carvalho เคยพบความยากลำบากเมื่อพวกเขาเห็นสีของชุดแข่งขันไม่ตรงกัน และการวิจัยที่จัดทำโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) พบว่าปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสนาม อุปกรณ์ฝึกซ้อม หรือเครื่องหมายภายในสนามอาจลดทอนความเพลิดเพลินและการพัฒนาตนเองของผู้เล่นในบางครั้ง นักสนุกเกอร์แชมป์โลก Mark Williams และ Peter Ebdon จำเป็นต้องขอให้กรรมการช่วยแยกแยะระหว่างลูกสนุกเกอร์สีแดงและสีน้ำตาลเนื่องจากภาวะตาบอดสี โดยทั้งสองคนเคยเล่นผิดกติกาเพราะแทงลูกผิดมาแล้ว

  • การขับขี่

ภาวะตาบอดสีแดง–เขียวสามารถทำให้การขับขี่ยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะการไม่สามารถแยกแยะสัญญาณไฟจราจรแดง–เหลือง–เขียว ตาบอดสีแดง-โปรแทน (Protans) จะได้รับผลกระทบมากเนื่องจากมองเห็นสีแดงเป็นสีมืด ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถระบุไฟเบรกได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้บางประเทศจึงไม่ออกใบขับขี่ให้กับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี:

ในเดือนเมษายน 2003 โรมาเนียยกเลิกภาวะตาบอดสีจากรายการเงื่อนไขของบุคคลที่ไม่สามารถขอใบขับขี่ได้ โดยปัจจุบันนี้ตาบอดสีนับเป็นเพียงเงื่อนไขที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผู้ขอใบขับขี่อาจต้องได้รับการประเมินจากจักษุแพทย์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อรับพิจารณาว่าสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย

เดือนมิถุนายน 2020 อินเดียได้ผ่อนปรนข้อห้ามในการออกใบขับขี่ให้กับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี คือข้อห้ามจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีภาวะตาบอดสีรุนแรง สำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสีปานกลางหรือน้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกจำกัดสิทธิ์ไว้ สามารถผ่านเกณฑ์ทางการแพทย์ได้แล้ว

ออสเตรเลียตั้งกฎห้ามมิให้ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีมีใบขับขี่เชิงพาณิชย์เป็นลำดับขั้นในปี ค.ศ. 1994 คือห้ามผู้ที่เป็นตาบอดสีแดง-โปรแทนทุกคน และกำหนดให้ผู้ที่เป็นตาบอดสีเขียว-เดอทานต้องผ่านการทดสอบ Farnsworth Lantern เสียก่อน อย่างไรก็แล้วแต่ข้อกำหนดสำหรับเดอทานถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1997 เนื่องจากขาดอุปกรณ์ทดสอบ และการห้ามโปรแทนถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 2003

ประเทศจีนและรัสเซียได้ออกกฎห้ามไม่ให้ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีได้รับใบขับขี่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016

  • การขับอากาศยาน

แม้ว่าหลายแง่มุมของการบินจำเป็นต้องอาศัยการใช้รหัสสี แต่มีเพียงบางสถานการณ์เท่านั้นที่การมองเห็นสีมีความสำคัญถึงขั้นได้รับผลกระทบจากภาวะตาบอดสีชนิดไม่รุนแรง ตัวอย่างเช่น สัญญาณไฟสีสำหรับเครื่องบินที่สูญเสียการติดต่อทางวิทยุ หรือสัญญาณสีที่ใช้บอกแนวลงจอดบนรันเวย์ ด้วยเหตุนี้ บางประเทศจึงกำหนดข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตนักบินสำหรับผู้ที่มีภาวะตาบอดสี ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดบางส่วน เช่น อนุญาตให้ได้รับใบอนุญาตแต่มีเงื่อนไขบางประการ หรือเป็นข้อจำกัดทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีภาวะตาบอดสีไม่สามารถมีใบอนุญาตนักบินได้เลย

ในสหรัฐอเมริกา สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration: FAA) กำหนดให้นักบินต้องผ่านการทดสอบการมองเห็นสีปกติเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพเพื่อขอรับใบรับรองแพทย์ ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการขอใบอนุญาตนักบิน หากผลการทดสอบพบว่าผู้สมัครมีภาวะตาบอดสี ผู้สมัครอาจได้รับใบอนุญาตที่มีข้อจำกัด เช่น ห้ามบินในเวลากลางคืนหรือห้ามบินโดยใช้สัญญาณสี ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพนักบินในบางสาขา เช่น นักบินสายการบิน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้สมัครยังสามารถขอใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ได้ และยังมีอาชีพเกี่ยวกับการบินบางอาชีพที่ไม่ต้องบินตอนกลางคืน (เช่น การบินเกษตรกรรม) อาชีพด้านนี้จึงยังเปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการมองเห็นสีได้อยู่

รัฐบาลสหรัฐ ฯ อนุญาตให้ใช้การทดสอบหลายประเภท ซึ่งรวมถึงการทดสอบตามมาตรฐานทางการแพทย์ (เช่น Ishihara, Dvorine และอื่นๆ) และการทดสอบพิเศษ เพื่อตอบสนองคำร้องเรื่องการบินโดยเฉพาะ หากผู้สมัครไม่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน พวกเขาจะถูกจำกัดในใบรับรองทางการแพทย์โดยระบุว่า "ห้ามบินในเวลากลางคืนหรือห้ามบินโดยใช้สัญญาณสี " ผู้สมัครสามารถยื่นคำร้องต่อ FAA เพื่อเข้ารับการทดสอบพิเศษที่ดำเนินการโดย FAA โดยปกติแล้วจะเป็นการทดสอบที่เรียกว่า "color vision light gun test " คือเจ้าหน้าที่ FAA จะมาพบนักบินที่สนามบินแห่งที่มีหอควบคุมการบิน และปืนแสงสีจะถูกฉายจากหอควบคุมมาที่นักบิน จากนั้นนักบินต้องระบุสี หากพวกเขาผ่านการทดสอบอาจได้รับเอกสารยกเว้น ระบุให้ไม่ต้องรับการทดสอบการมองเห็นสีในการตรวจสุขภาพ และจะได้รับใบรับรองทางการแพทย์ฉบับใหม่ที่ไม่มีข้อจำกัดข้างต้นอีกต่อไป

งานวิจัยที่เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2009 โดยศูนย์วิจัยการมองเห็นประยุกต์ของมหาวิทยาลัย City University of London ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการบินพลเรือนของสหราชอาณาจักรและการบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ทำการปรับปรุงการประเมินภาวะตาบอดสีในนักบินผู้สมัครในช่วงสีแดง–เขียวและสีเหลือง–น้ำเงินใหม่ การปรับครั้งนี้อาจช่วยลดจำนวนผู้สมัครนักบินที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทางการแพทย์ขั้นต่ำได้ถึง 35%

อ่านตรวจทานโดย ผศ. นพ. ชวกิจ ภุมิบุญชู

 

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Color_blindness [2025, March 11] โดย ภวรัญชน์ วีระวุฒิพล