ตัดเต้า (ตอนที่ 2)

ตัดเต้า-2

      

      สำหรับอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยนั้น รศ.พญ.พรพิมพ์ กล่าวว่า มีมากขึ้นและยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นจะมีเฉลี่ยร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด

      มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อต่อม (Glandular tissue) ที่เต้านม โดยเฉพาะที่ท่อน้ำนม (Milk ducts) และ พูนม (Milk lobules) ซึ่งอยู่ในเนื้อเยื่อเต้านมใต้ผิวหนัง (Breast tissue) ซึ่งเนื้อเยื่อเต้านมนี้จะอยู่บริเวณกระดูกไหปลาร้าไปจนซี่โครงส่วนล่าง (Lower rib margin) และจากกึ่งกลางหน้าอกไปยังด้านข้างและใต้แขน

      การผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม (Prophylactic mastectomy) เป็นการผ่าตัดเต้านมออกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม โดยการเอาเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวออก

      ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงด้วยการผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม มักทำในกรณีดังต่อไปนี้

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมกันมากกว่า 1 คน เช่น มี แม่ พี่สาว น้องสาว หรือ ลูกสาว ที่เป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะก่อนอายุ 50 ปี ซึ่งการผ่าตัดนี้อาจจะสามารถลดความเสี่ยงได้ร้อยละ 90
  • มีการตรวจยีนแล้วพบว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA1, BRCA2, PALB2, CDH1, PTEN หรือ TP53 ซึ่งการผ่าตัดนี้อาจจะลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 95
  • มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่งได้
  • ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 (Lobular carcinoma in situ = LCIS) และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปยังระยะอื่นอีก
  • มีการตรวจพบกลุ่มหินปูนเล็กๆ (Microcalcifications) เกาะที่เนื้อเยื่อเต้านม
  • เคยได้รับการรักษาด้วยรังสีที่หน้าอกระหว่างที่อายุ 10-30 ปี มาก่อน เช่น การใช้รังสีรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

      โดยผู้ที่ทำการการผ่าตัดเต้านมเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านมจะผ่านกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

  • การตัดเต้านมออกหมดทั้งเต้า (Simple or total mastectomy) เป็นการผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด รวมถึงผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งและหัวนมด้วย ในอดีตการผ่าตัดวิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย แต่ปัจจุบันแพทย์เลือกใช้กับผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ มีก้อนมะเร็งหลายก้อน เต้านมขนาดเล็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่สะดวกหรือมีข้อห้ามในการฉายรังสีที่เต้านมหลังผ่าตัด
  • การตัดเต้านมออกเพียงบางส่วน (Partial mastectomy or Breast-conserving surgery) เป็นการตัดก้อนมะเร็งและเนื้อของเต้านมปกติที่อยู่รอบ โดยตัดห่างจากขอบของก้อนมะเร็งประมาณ 1-2 ซม.โดยมากจะยังคงเหลือหัวนม ฐานหัวนม และส่วนใหญ่ของเนื้อเต้านม ส่วนมากมักเลือกใช้ในรายที่มะเร็งมีขนาดเล็ก มีมะเร็งเพียงตำแหน่งเดียว และ/หรือเต้านมมีขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งภายหลังการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยยังสามารถรักษารูปร่างของเต้านมได้ดี ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายจะต้องได้รับการการฉายรังสีที่เต้านมร่วมด้วยเสมอ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Prophylactic Mastectomy. https://www.breastcancer.org/treatment/surgery/prophylactic_mast [2018, February 3].
  2. .
  3. Preventive (prophylactic) mastectomy: Surgery to reduce breast cancer risk. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/mastectomy/in-depth/prophylactic-mastectomy/art-20047221 [2018, February 3].
  4. Surgery to Reduce the Risk of Breast Cancer. https://www.cancer.gov/types/breast/risk-reducing-surgery-fact-sheet [2018, February 3].
  5. Breast Cancer and Preventive Mastectomy. https://www.webmd.com/breast-cancer/guide/preventive-mastectomy [2018, February 3].