ตัดเต้า (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 3 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
สืบเนื่องจากข่าวดาราชื่อดังระดับฮอลลี่วู้ดอย่าง “แองเจลินา โจลี่” ได้ตัดสินใจตัดเต้านมทิ้งทั้ง 2 ข้าง หลังได้ทราบจากแพทย์ว่า มียีนที่ก่อมะเร็งและมีความเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 87 ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยเหตุนี้ ทำให้ดาราชื่อดังป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม ด้วยการตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้ง 2 ข้างทิ้ง
รศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ยีนที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมนั้น คือ ยีน บีอาร์ซีเอ (BRCA) ซึ่งจำแนกได้เป็น บีอาร์ซีเอ1 และบีอาร์ซีเอ2 (BRCA1/2) โดยยีนทั้งสองประเภทนี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดมะเร็งประเภทพันธุกรรม
ซึ่ง แองเจลินา โจลี่ เมื่อได้ตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมก็พบว่า ได้มีการกลายพันธ์ของยีน บีอาร์ซีเอ1 (BRCA1) ผนวกกับที่มารดาและยายของเธอได้เสียชีวิตจากสาเหตุมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ด้วยอายุเพียงไม่ถึง 50 ปี ทำให้เธอตัดสินใจผ่าตัดตามที่เป็นข่าว
รศ.นพ.มานพ กล่าวว่า การตรวจมะเร็งเต้านมในปัจจุบันต้องใช้กระบวนหลายขั้นตอน ค่าใช้จ่ายสูง และใช้เวลามาก และเครื่องตรวจในประเทศไทยมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นการตรวจผู้ป่วยต้องอยู่เป็นผู้ที่เข้าข่ายว่าเป็นมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจริงๆ ซึ่งมีข้อสังเกตคือ
มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันหรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกัน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เป็นต้น เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย เป็นมะเร็งหลายตำแหน่งในอวัยวะเดียวกัน หรืออวัยวะที่เป็นคู่ ซึ่งผลเหล่านี้จะยืนยันความเป็นได้ว่า ผู้รับการตรวจมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูง
รศ.นพ.มานพ กล่าวถึงการตัดสินใจผ่าตัดของแองเจลินา โจลี่ นั้นช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม ประมาณร้อยละ 90 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้อยู่ดี เพราะมะเร็งเต้านมสามารถเกิดบริเวณเนื้อเยื่อเต้านมที่หลบซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อได้เช่นกัน เพียงแต่โอกาสเกิดนั้นจะลดเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
ด้าน รศ.พญ.พรพิมพ์ กอแพร่พงศ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงหญิงไทยโดยทั่วไป ควรตรวจเป็นประจำและอย่าละเลย เพราะมะเร็งเต้านมนั้นสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็สามารถตรวจคลำด้วยตนเองได้ แต่ก้อนมะเร็งจะต้องใหญ่ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ซึ่งอาจมีโอกาสกระจายหรือผ่านเข้าไปยังเส้นเลือดหรือหลอดเลือดได้
ดังนั้นการตรวจคัดกรองที่ดีที่สุดคือการตรวจการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง ซึ่งมีโอกาสหาก้อนมะเร็งเจอตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้
รศ.พญ.พรพิมพ์ กล่าวอีกว่า หากต้องการตรวจหาอาการมะเร็งเต้านม ควรตรวจด้วยแมมโมแกรมทุก 2 ปี อัลตราซาวด์ ทุก 6 เดือน และตรวจเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ทุก 2 ปี สลับกันไป ซึ่งการตรวจด้วยแมมโมแกรมและตรวจเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้านั้น ควรตรวจภายหลังมีประจำเดือน 10-20 วัน เพราะการตรวจระหว่างมีประจำเดือนอาจเกิดอาการเจ็บได้ และมีสิ่งรบกวนการอ่านภาพ
แหล่งข้อมูล:
- หมอศิริราช ชี้ “แองเจลินา โจลี่” ผ่าตัดหนีมะเร็งเต้านม โอกาสเสี่ยงมีอยู่.https://www.isranews.org/isranews-news/21408-หมอศิริราช-ชี้-“แองเจลินา-โจลี่”-ผ่าตัดหนีมะเร็งเต้านม-โอกาสเสี่ยงมีอยู่.html [2018, February 2].