4. ตลาดเครื่องมือแพทย์ - ตอนที่ 19
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 6 พฤศจิกายน 2566
- Tweet
ยอดขายเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศ (Domestic) และยอดส่งออก (Export) เครื่องมือแพทย์รวมกัน คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 140 ล้านล้านบาท ใน ปี พ.ศ. 2559 เป็น 200 ล้านล้านบาท ใน ปี พ.ศ. 2563 โดยสัดส่วน (Proportion) ในปี พ.ศ. 2563 ของ ยอดขายภายในประเทศเป็น 25% ของรายได้ (Revenue) รวมทั้งหมด ต่อ ยอดส่งออก 75% ของรายได้รวมทั้งหมด
ส่วนหนึ่งของการเติบโตในตลาดเครื่องมือแพทย์ ก็เพื่อรองรับโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable disease: NCD) เรื้อรัง ซึ่งมีความชุก (Prevalence) ของโรคเบาหวาน (Diabetes) [อันเป็น 8% ของ NCD ในปี พ.ศ. 2558 แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 11.5% ของ NCD ใน ปี พ.ศ. 2573] ตามมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular) [อันเป็น 7.8% ของ NCD ในปี พ.ศ. 2558 แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 11.0% ของ NCD ใน ปี พ.ศ. 2573]
ตามมาด้วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD) [อันเป็น 2.0% ของ NCD ในปี พ.ศ. 2558 แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4% ของ NCD ใน ปี พ.ศ. 2573], โรคมะเร็ง (Cancer) [อันเป็น 1.4% ของ NCD ในปี พ.ศ. 2558 แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.6% ของ NCD ใน ปี พ.ศ. 2573], และโรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) [อันเป็น 0.3% ของ NCD ในปี พ.ศ. 2558 แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 0.4% ของ NCD ใน ปี พ.ศ. 2573]
อีกส่วนหนึ่งของการเติบโตในตลาดเครื่องมือแพทย์ ก็เพื่อรองรับอัตราการเติบโตของจำนวนผู้สูงอายุ (Elderly) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จาก 10.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2560 เป็น 13.5 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการเพิ่มจากประมาณ 11% ของประชากร (Population) ทั้งหมด เป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน
กระทรวงสาธารณสุข (Public Health Ministry) ระบุว่า ผู้สูงอายุประมาณ 9 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2559 เป็นโรคความดันโลหิต (Blood pressure) สูง จำนวนมากกว่า 4 ล้านคน รองลงมาคือโรคเบาหวาน จำนวนมากกว่า 2 ล้านคน
การเติบโตในตลาดเครื่องมือแพทย์ ยังเป็นการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ (Medical tourist) อีกด้วย ในจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2561 ปรากฏว่า มาจากเอเชียตะวันออก 58%, ยุโรป 16%, ตะวันออกกลาง 10%, เอเชียใต้ 6%, ทวีปอเมริกา 4%, ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ 4%, แอฟริกา 2%
นอกจากนี้ การเติบโตในตลาดเครื่องมือแพทย์ ยังเป็นการรองรับโรงพยาบาลเอกชนที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 320 แห่ง ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 400 แห่ง ในปี พ.ศ. 2566 แห่ง โดยที่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลดังกล่าว คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 330 เตียง ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 40,000 เตียง ในปี พ.ศ. 2566
ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านชีววิทยา (Thailand’s Center of Excellence for Life Science: TCELS) ได้ประเมินจากบริษัทวิจัยตลาดระดับสากลหลายแห่ง ว่าหุ่นยนต์การแพทย์ (Medical Robotics) ทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 46.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.6184 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2565 หรือขยายตัวปีละ 20% จากฐานเดิม 6.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 231.7 พันล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2555
แหล่งข้อมูล –
- https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices [2023, November 5].
- https://en.wikipedia.org/wiki/Medical_robot [2023, November 5].