14. ตลาดธุรกิจฟิตเน็ส-เว็ลเน็ส - ตอนที่ 23
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 11 มกราคม 2567
- Tweet
Wellness Tech 13 คือ กลุ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตได้ดี [โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา] จนประสบความสำเร็จ ได้แก่
- กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food and beverage)
การมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น ต้องเริ่มมาจากการกินและดื่มเพื่อสุขภาพ ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จึงทำธุรกิจที่มาจากความต้องการของผู้บริโภค (Consumer demand) ที่คำนึงเรื่องสุขภาพเป็นหลัก คนกลุ่มนี้ต้องการกินและดื่มในสิ่งที่ไม่ทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกระแส (Fever) ที่ทำให้คนหันมาเลือกวัตถุดิบจำพวกธรรมชาติ (Organic) หรือ non-GMO (Genetically modified organism = สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม) กันมากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ การล้างพิษ (Detoxification) และ ชาหมัก (Kombucha) เป็นต้น ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ในกลุ่มนี้เช่น Daily Harvest ที่ให้บริการทั้งซื้อ และทำอาหารธรรมชาติพร้อมจัดส่งถึงบ้าน
- กลุ่มวิตามินและอาหารเสริม (Vitamin and supplement)
ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จะนำเสนอวิตามินและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพเฉพาะตัวบุคคล (Individualized) ตัวอย่างเช่น บริษัท care/of ที่ขายวิตามินโดยให้ลูกค้าตอบคำถามเบื้องต้น (Preliminary) นำผลมาวิเคราะห์ (Analyzed) แล้วนำเสนอวิตามินที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยจะจัดส่งถึงบ้านเป็นรายเดือน (Monthly delivery) เป็นต้น
- กลุ่มโภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย (Active Nutrition)
นอกจากกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่หันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว กลุ่มที่มีศักยภาพและเติบโตมากขึ้นทุกปีคือ กลุ่มผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย (Physical exercise) ที่ต้องการอาหารเสริมทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายนี้ เช่น Foodspring ที่พัฒนาอาหารเสริม, เครื่องดื่ม, ขนมแบบธรรมชาติ เพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายของผู้ออกกำลังกาย เช่นต้องการสร้างกล้ามเนื้อ (Muscle building), ควบคุมและลดน้ำหนัก (Weight control and loss) เป็นต้น
- กลุ่มเทคโนโลยีทางโภชนาการ (Nutrition Tech)
ภาคธุรกิจในส่วนนี้จะนำเสนอเวทีพื้นฐาน (Platform) โภชนาการส่วนบุคคล เช่น บริษัท Viome ที่จะวิเคราะห์รูปแบบ (Profile) ทางชีวเคมี (Bio-chemistry) ของผู้ใช้งาน เพื่อจะได้ให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมอาหาร สำหรับลดน้ำหนัก ตามวิถีใช้ชีวิต (Life-style) ของแต่ละบุคคล
- กลุ่มฟิตเน็ส (Fitness)
จากการทำธุรกิจฟิตเน็สแบบเดิมที่มีสถานที่ตั้ง (Location) แล้วให้คนมาออกกำลังกาย ในยุคนี้ภาคธุรกิจด้านฟิตเนส เห็นปัญหาว่าคนมักจะไม่ค่อยมีเวลาหรือทำงานกันยุ่งมาก ทำให้คนที่ชอบออกกำลังกายแต่ไม่สามารถไปโรงยิม (Gymnasium) ได้ ก็คิดบริการใหม่สำหรับการนำโรงยิมไปส่ง (Deliver) ถึงที่ทำงานหรือที่บ้านกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่การให้บริการจองคิว (Queuing) การออกกำลังกายกับฟิตเน็ส หรือผู้ฝึกสอน (Trainer) ชื่อดัง เป็นต้น ผู้ประกอบการที่น่าสนใจที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น บริษัท MIRROR ที่ทำธุรกิจตามชื่อ นั่นก็คือผู้ใช้งานสามารถออกกำลังกายหน้ากระจก (อุปกรณ์เฉพาะของ MIRROR) ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere anytime)
แหล่งข้อมูล –
- https://www.bangkokbanksme.com/en/7sme1-health-and-wellness-mega-trend-grows-strong [2024, January 10].
- https://globalwellnessinstitute.org/press-room/statistics-and-facts/ [2024, January 10].