ตรุษจีนระวังภัย ไข้หวัดนก (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวเมื่อว่านนี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2549 – 2554 แต่จากข้อมูลของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวังโรคในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้

ตามที่จารึกในประวัติศาสตร์ ไข้หวัดนก เริ่มระบาดครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ. 2460 - 2461 เรียกกันว่า "ไข้หวัดใหญ่สเปน" (Spanish Flu) จากนั้นก็เริ่มแพร่กระจายจากมหาสมุทรอาร์กติก (Artic) และข้ามฝั่งมาสู่มหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific) ภายในระยะเวลา 2 เดือน มีการประเมินกันว่า มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 50 - 100 ล้านคน หรือเท่ากับคนจำนวน 1 ใน 3 ของประชากรของทวีปยุโรป ในสมัยนั้น

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2500 - 2501 ซึ่งมีชื่อเรียกกันว่า "ไข้หวัดใหญ่เอเซีย" (Asian Flu) อันนำมซึ่งการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกราว 1 - 4 ล้านคน และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยมีชื่อเรียกกันว่า "ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง" (Hong Kong Flu) และมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1- 4 ล้านคน เช่นกัน

หลังจากว่างเว้นไปประมาณ 30 ปี โรคนี้ก็กลับมาระบาดขึ้นอีกโดยเริ่มต้นที่ฮ่องกงในปี พ.ศ. 2540 ในครั้งนั้นมีผู้ติดเชื้อเพียง 18 คน เสียชีวิตไป 6 คน จากนั้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 ก็แพร่กระจายไปยังเมืองเฉาหูในประเทศจีน นอกจากนี้ ยังมีการพบว่า นกกระยางป่วยอยู่ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเขตเมืองใหม่ (New Territory) ของฮ่องกงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 และในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2551 มีรายงานการระบาดที่ในตลาดใหม่จินฮวา เมืองกว่างโจว ทำให้มีสัตว์ปีกเสียชีวิต 114 ตัว และมีการฆ่าทำลายสัตว์ปีกอีก 518 ตัว

ในปี พ.ศ. 2547 ไข้หวัดนกระบาดมาสู่ประเทศไทย บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี [จากนั้นก็ลามไปจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคกลาง] ในที่สุดต้องฆ่าไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มจำนวนหลายล้านตัว เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค [และฉีดฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ที่พบการระบาดจนกระทั่งสัมฤทธ์ผล ไข้หวัดนกนี้หวนกลับมายังประเทศไทย อีกครั้งใน ปี พ.ศ. 2551 แต่ไม่รุนแรงเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้]

ในประเทศเวียดนาม พบการติดเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรกที่จังหวัดเงียอาน ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 มีการพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในเป็ดอายุ 45 วัน ในจังหวัดวินห์ลอง บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยเป็ดเหล่านั้นไม่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านเชื้อไวรัส H5N1 ดังนั้นรัฐบาลเวียดนามจึงต้องสั่งฆ่าเป็ดไป 800 ตัว และฉีดฆ่าเชื้อโรคในบริเวณที่พบการระบาด ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงนครโฮจิมินห์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 140 กิโลเมตร

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ได้มีการพบการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มเป็ดอีกแห่งหนึ่ง นอกเมืองท่าไฮฟองของเวียดนาม ทำให้ลูกเป็ดอายุ 14 วัน ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนล้มตาย 2,120 ตัว และผลการตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 นับเป็นการระบาดของไข้หวัดนกครั้งที่ 2 ในพื้นที่ดังกล่าว

ในขณะที่ไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 แพร่กระจายทั่วทั้งเอเชียตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ไข้หวัดนกก็ระบาดไปถึงยุโรปในปี พ.ศ. 2548 และตะวันออกกลาง ตลอดจนทวีปอัฟริกา ในปีต่อมา วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555 มีรายงานข่าวจากจีนว่า ไข้หวัดนกได้หวนกลับมาคร่าชีวิตคนอีกครั้งหนึ่ง เพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่มีคนตายจากไข้หวัดนกในประเทศเวียดนาม และกัมพูชา

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.แนะนำผู้บริโภคสัตว์ปีกตรุษจีนเน้นสุกสะอาดปลอดหวัดนก http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000009486 [2012, January 24].
  2. ไข้หวัดนก http://th.wikipedia.org/wiki/ไข้หวัดนก [2012, January 24].