ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาด็อกโซรูบิซิน(Doxorubicin หรือ Doxorubicin hydrochloride หรือ Doxorubicin HCl หรือ Hydroxydaunorubicin หรือ Hydroxydaunomycin) ซึ่ง ยาชื่อการค้าที่ใช้แพร่หลายทั่วโลก คือ “Adriamycin” เป็นยาเคมีบำบัด(Cytotoxic chemotherapy) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านโรคมะเร็ง และต้านเนื้องอก(Antitumor antibiotics) ยานี้สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยในดินชนิดที่มีชื่อเรียกว่า Streptomyces ทางการแพทย์นำยาด็อกโซรูบิซินมาใช้รักษาโรคมะเร็งหลายประเภทอย่างเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระดูก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น เภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้เป็นแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ตัวยาในกระแสเลือดสามารถกระจายเข้าสู่อวัยวะต่างๆของร่างกายได้เกือบทุกอวัยวะ เช่น ปอด ตับ หัวใจ ม้าม และไต ยาด็อกโซรูบิซินยังผ่านเข้ารกและน้ำนมของมารดาได้อีกด้วย และตัวยาด็อกโซรูบิซินจะถูกทำลายโครงสร้างทางเคมีที่ตับ สำหรับระยะเวลาที่ร่างกายใช้กำจัดยาชนิดนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง(Triphasic half life) คือ ในช่วงแรกร่างกายจะกำจัดยานี้ได้อย่างรวดเร็ว คือในช่วง 12 นาทีแรก ช่วงที่สองประมาณ 3.8 ชั่วโมงหลังได้รับยา และในช่วงที่สามจะใช้เวลานานถึง 30 ชั่วโมง ตัวยาจะถูกกำจัดผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

ยาด็อกโซรูบิซินเป็นยาที่สามารถทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่สัมผัสตัวยาได้ ดังนั้นการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อมิให้การแทงเข็มฉีดยาทะลุผ่านเส้นเลือด/หลอดเลือด จนทำให้ตัวยาด็อกโซรูบิซินรั่วและสัมผัสกับเนื้อเยื่อรอบๆหลอดเลือด

ยาด็อกโซรูบิซิน จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรม(DNA)ของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งชะลอการเจริญเติบโตและหยุดการแพร่กระจาย ซึ่งการบริหารยา/ใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยมะเร็ง แพทย์จะคำนวณขนาดการใช้ยาต่อพื้นที่ผิวของร่างกายมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ผู้ป่วยต้องรับการให้ยานี้ตามช่วงเวลาที่แพทย์นัดหมาย

ผู้ได้รับยาด็อกโซรูบิซินในครั้งแรกจะพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เช่น

  • เจ็บ/ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดด้วยการประคบเย็น
  • ภายใน 2 สัปดาห์หลังการฉีดยาด็อกโซรูบิซิน ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพทย์สามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้ต่างๆเข้ามาช่วยเหลือเพื่อป้องกันและลดอาการเหล่านี้
  • จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด จะลดลงชั่วคราว ผู้ป่วยจะเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคประเภทต่างๆ มีภาวะโลหิตจาง และ/หรือไม่ก็มีภาวะเลือดออกง่าย ระยะเวลาที่ร่างกายเริ่มมีสภาพโลหิตจางอยู่ในช่วง 10–14 วันนับจากวันที่ได้รับยานี้ และภายในวันที่ 21–28 สภาพเลือดจางของร่างกายจึงจะ กลับมาเป็นปกติ
  • ผู้ป่วยหลายรายจะประสบอาการผมร่วง อาจร่วงเป็นหย่อมๆหรือร่วงทั้งศีรษะก็ได้ อย่างไรก็ตามเส้นผมของผู้ป่วยสามารถงอกขึ้นมาใหม่และยาวได้เหมือนปกติเมื่อหมดฤทธิ์ของยาด็อกโซรูบิซินและยาเคมีบำบัดอื่นๆ
  • ผู้ป่วยบางกลุ่มมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจพบเห็นไม่บ่อยทีเดียวนัก เช่น ตาแฉะ มีแผลในช่องปาก และในกรณีที่เพิ่งได้รับยาด็อกโซรูบิซิน 1–2 วัน อาจพบเห็นปัสสาวะมีสีแดง-น้ำตาล สีส้มหรือมีสีออกชมพู นอกจากนี้ยังอาจพบเห็นโคนเล็บมีสีคล้ำ ผิวหนังย่นร่วมด้วย
  • ด้วยตัวยาด็อกโซรูบิซินจะไปลดความสามารถของหัวใจในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งอาการข้างเคียงด้านพยาธิสภาพของหัวใจนี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อผู้ป่วยอย่างมาก ดังนั้นแพทย์จะคอยตรวจสอบสภาพการทำงานของหัวใจผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการใช้ยาด็อกโซรูบิซิน
  • ยาด็อกโซรูบิซินเป็นยารักษามะเร็งก็จริง แต่ยานี้ก็สร้างความเสี่ยงให้เกิดการพัฒนาของมะเร็งเม็ดเลือดขาวตลอดจนถึงเกิดภาวะ Tumor lysis syndrome(ภาวะเกิดการตายปริมาณมาก อย่างรวดเร็ว ทันทีของเซลล์มะเร็ง)ซึ่งจะเป็นผลให้ระดับเกลือแร่และการเผาผลาญพลังงานของร่างกายมีความผิดปกติ รวมถึงอาจเกิดไตวายเฉียบพลัน จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ แพทย์ผู้ที่ทำการรักษาจะเป็นผู้วิเคราะห์และช่วยบำบัดสภาวะดังกล่าวได้ดีที่สุด

ทั้งนี้ อาจสรุป ข้อควรระวัง ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้าม เกี่ยวกับยาด็อกโซรูบิซินเพิ่มเติมได้อีกดังนี้ เช่น

  • ก่อนการใช้ยาด็อกโซรูบิซิน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจประเมินสภาพการทำงานของหัวใจ และแพทย์จะซักถามประวัติว่าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจหลังได้รับยาด็อกโซรูบิซิน
  • ผู้ที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ จะไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ ด้วยยาด็อกโซรูบิซินสามารถกดไขกระดูกจนส่งผลลดการผลิตเม็ดเลือดของร่างกายได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาด็อกโซรูบิซินสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นสตรี จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์(การคุมกำเนิด)ระหว่างที่ได้รับยาชนิดนี้ หรือสตรีในภาวะให้นมบุตรที่ต้องรับการรักษาด้วยยาด็อกโซรูบิซินต้องหยุดให้นมบุตรแล้วใช้นมดัดแปลงเลี้ยงบุตรแทน
  • ขณะได้รับยาด็อกโซรูบิซินอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยง กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลตามร่างกาย หรือการแปรงฟันแพทย์จะแนะนำให้ใช้ แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่มเพื่อป้องกันการขัดถูที่อาจก่อให้เกิดการกระแทกเหงือก/เนื้อเยื่อช่องปากจนเลือดออก
  • ขณะที่ใช้ยานี้ห้ามฉีดวัคซีนป้องกันโรคใดๆ เพราะนอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้ร่างกายได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจากวัคซีนดังกล่าว
  • ตัวยาด็อกโซรูบิซินมีผลข้างเคียงทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงจนเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีประชาชนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า
  • หลังได้รับยานี้ แล้วอาการป่วยมะเร็งไม่ดีขึ้นตามความคาดหมาย ให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด ห้ามหยุดการรักษาไปเฉยๆ
  • การจะรับประทานยาอื่นใดร่วมด้วยขณะที่ได้รับยาด็อกโซรูบิซินจะต้องได้รับการยินยอมจากแพทย์ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย การรับการให้ยานี้ การตรวจสอบการทำงานของหัวใจ การตรวจเลือด และการตรวจทำงานของตับ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

ยาด็อกโซรูบิซินที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 4-7 ชื่อการค้า และจัดเป็นหนึ่งในรายการยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและมีเงื่อนไขในการใช้ยานี้ดังนี้

“ไม่ใช้กับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่มี cardiomyopathy(โรคหัวใจ)ที่มีการทำงานของหัวใจ(Left ventricular ejection fraction น้อยกว่า 50%”

อนึ่ง ตามกฎหมายยาของไทย ได้กำหนดให้ยาด็อกโซรูบิซินเป็นยาควบคุมพิเศษ และ ยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เสมอ และเราสามารถพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชนโดยทั่วไป

ด็อกโซรูบิซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ด็อกโซรูบิซิน

ยาด็อกโซรูบิซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น

  • มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
  • มะเร็งนิวโรบลาสโตมา(Neuroblastoma)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน(Hodgkin's lymphoma)
  • มะเร็งรังไข่(Ovarian cancer)
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร(Gastric cancer)
  • มะเร็งกระดูก(Osteosarcoma)
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์(Thyroid Cancer)
  • มะเร็งปอด(Bronchogenic carcinoma)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล(Acute Myeloblastic Leukemia)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล(Acute Lymphoblastic Leukemia)
  • มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน(Soft tissue sarcoma)
  • เนื้องอกวิมส์(Wilms’ tumor)
  • มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple myeloma)

ด็อกโซรูบิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาด็อกโซรูบิซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า Type II topoisomerase เอนไซม์นี้เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรม(DNA)ทั้งในเซลล์ปกติของร่างกายรวมถึงเซลล์มะเร็งด้วย จากกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าว ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่กระจาย จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งได้ตามสรรพคุณ

ด็อกโซรูบิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาด็อกโซรูบิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Doxorubicin HCl ขนาด10 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร , 20 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร, และ 50 มิลลิกรัม/25 มิลลิลิตร

ด็อกโซรูบิซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาด็อกโซรูบิซิน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา (ซึ่งในการรรักษาโรคมะเร็งต่างๆนั้น แพทย์อาจต้องใช้ยาเคมีบำบัดตัวอื่นๆร่วมกับยาด็อกโซรูบิซินด้วย) เช่น

ก. สำหรับ มะเร็งเต้านม มะเร็งนิวโรบลาสโตมา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร เนื้องอกวิมส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล มะเร็งกระดูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด และ มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 40-60 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/ครั้ง ทุกๆ 21-28 วัน โดยแพทย์สามารถปรับขนาดการให้ยาด็อกโซรูบิซินเป็น 60-75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/ครั้ง ทุก 21 วัน

ข. สำหรับมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple myeloma)

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาทางหลอดเลือดดำ 9 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน เป็นเวลาต่อเนื่อง 4 วัน

ค. สำหรับโรคมะเร็งเด็ก (Pediatric Dose for Malignant Disease):

  • เด็ก: ให้ยาทางหลอดเลือดดำ 35-75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร/ครั้งทุก 21 วัน หรือให้ยาทางหลอดเลือดดำ ขนาด 20-30 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร สัปดาห์ละ1 ครั้ง หรือให้ยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 60-90 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยใช้เวลาในการให้ยาแต่ละครั้งนาน 96 ชั่วโมงขึ้นไปทุกๆ 3-4 สัปดาห์

อนึ่ง:

  • การให้ยานี้ ควรใช้ลักษณะหยดเข้าหลอดเลือดดำ ห้ามฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง โดยเด็ดขาด
  • สำหรับผู้ป่วยโรคตับที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดอยู่ที่ 1.2–3 มิลลิกรัม/เดซิลิตรแพทย์จะลดขนาดการใช้ยาลงมา 50% จากขนาดปกติ
  • กรณีได้รับยาด็อกโซรูบิซินสะสมต่อเนื่องจนคิดรวมเป็นปริมาณตัวยานี้ทั้งหมดขนาด 450 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย 1 ตารางเมตร ให้ระวังภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้นได้ พยาธิสภาพของหัวใจดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นทั้งในช่วงระหว่างการรักษา หรือใช้เวลาหลายเดือน จนกระทั่งเป็นปี หลังจากการรักษาก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาด็อกโซรูบิซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาด็อกโซรูบิซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาด็อกโซรูบิซิน/ยาเคมีบำบัด ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์ พยาบาล ผู้ที่ทำการรักษา เพื่อทำการนัดหมายให้มารับการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

ด็อกโซรูบิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาด็อกโซรูบิซินสามารถก่อให้เกิด ผลไม้พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ บวมรอบตา น้ำตาไหล หนังตาตก กระจกตาอักเสบ ตาพร่า
  • ผลต่อการเกิดมะเร็ง: เช่น เสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง เมื่อใช้ยานี้ปริมาณสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่พบโอกาสเกิดมะเร็งจากยานี้ได้น้อยมาก
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อ: เช่น ข้อสันหลังอักเสบยึดติด ปวดข้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ : เช่น รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผมร่วง แต่เส้นผมสามารถคืนสภาพและงอกใหม่ได้ เล็บมีสีคล้ำหรือเกิดการถอดเล็บ/เล็บหลุด ผิวหนังย่น ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยา
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น กรณีที่ได้รับยาด็อกโซรูบิซินสะสมสูงรวม 450-550 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น กระเพาะปัสสาวะมีการหดค้าง/บีบตัวหดเกร็งจนส่งผลให้ปวดปัสสาวะตลอดเวลา
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ โลหิตจาง
  • ผลต่อไต: เช่น อาจเกิดภาวะกรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจมีอาการไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ภูมิต้านทานโรคต่ำลงจนติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้ด็อกโซรูบิซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาด็อกโซรูบิซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • กรณีใช้ยาด็อกโซรูบิซินร่วมกับการใช้ รังสีรักษา ในบริเวณทรวงอก ให้ระวังเกิดภาวะโรคปอดอักเสบ และโรคหลอดอาหารอักเสบ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการทำรังสีรักษาในช่วงทรวงอก/หัวใจ เมื่อได้รับยาด็อกโซรูบิซินจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจตามมาได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ขณะฉีดยานี้ ต้องระวังการแทงเข็มทะลุออกนอกหลอดเลือด ด้วยตัวยานี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับตัวยานี้ได้
  • ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายจากแพทย์เป็นระยะๆหลังได้รับยาด็อกโซรูบิซิน เช่น การทำงานของหัวใจ ของตับ และของระบบเลือด
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังจากรับการฉีดยาด็อกโซรูบิซิน ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะทุกชนิด รวมถึงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการให้ยานี้/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาด็อกโซรูบิซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ด็อกโซรูบิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาด็อกโซรูบิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาด็อกโซรูบิซินร่วมกับการฉีด วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ(Smallpox vaccine), วัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG) เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อฝีดาษ หรือเชื้อวัณโรค จากวัคซีนดังกล่าว ด้วยระบบภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยที่ได้รับยาด็อกโซรูบิซินจะอยู่ในภาวะอ่อนแอ
  • ห้ามใช้ยาด็อกโซรูบิซินร่วมกับยา Adalimumab , Certolizumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาด็อกโซรูบิซินร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาด็อกโซรูบิซินร่วมกับ ยาDolasetron เพราะจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา

ควรเก็บรักษาด็อกโซรูบิซินอย่างไร?

ควรเก็บ ยาด็อกโซรูบิซิน ดังนี้

  • ยาฉีดที่มีลักษณะเป็นผง สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ยาฉีดที่มีลักษณะเป็นสารละลาย ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
  • ยาทั้งสองลักษณะ: ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ด็อกโซรูบิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาด็อกโซรูบิซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
A.D. Mycin (เอ.ดี.มัยซิน)Boryung Pharm
Adriblastina R.D. (อะดริบลาสตินา)Pfizer
Adrim (เอดริม)Fresenius Kabi
Lipo-Dox (ไลโป-ดอกซ์) American Taiwan Biopharm

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Rubex, Oncodria, Doxomed

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/doxorubicin.aspx [2017,Nov11]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/doxorubicin/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov11]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=doxorubicin [2017,Nov11]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3550609 [2017,Nov11]
  5. https://www.drugs.com/cdi/doxorubicin-conventional.html [2017,Nov11]
  6. https://www.drugs.com/sfx/doxorubicin-side-effects.html [2017,Nov11]
  7. https://www.drugs.com/dosage/doxorubicin.html [2017,Nov11]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/doxorubicin-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov11]
  9. http://chemocare.com/chemotherapy/what-is-chemotherapy/types-of-chemotherapy.aspx [2017,Nov11]
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/086/11.PDF [2017,Nov11]