ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน (Dehydroepiandrosterone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน(Dehydroepiandrosterone เขียนย่อว่า DHEA/ดีเอชอีเอ) หรือในชื่ออื่นว่า แอนโดรสตีโนโลน(Androstenolone) เป็นสเตียรอยด์ฮอร์โมนที่มีมากที่สุดในร่างกายของมนุษย์ ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต(Adrenal glands), จากอวัยวะเพศอย่าง อัณฑะ, รังไข่, ตลอดจนกระทั่งสมอง ถึงแม้DHEA สามารถแสดงฤทธิ์หรือมีอิทธิพลต่อร่างกายได้เพียงเล็กน้อยก็จริง แต่DHEAจะถูกใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศชาย(Androgen)และฮอร์โมนเพศหญิง(Estrogen) ฮอร์โมนเพศเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อกลไกการพัฒนาสรีระทางร่างกายของมนุษย์ ช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญพลังงาน(Metabolism)ต่างๆของร่างกาย ตลอดจนกระทั่งมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกได้อย่างมากมาย ทั้งนี้ ไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesteral)ที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง หรือที่ได้จากการรับประทานอาหารเข้าไป จะถูกใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อสังเคราะห์ฮอร์โมนDHEA อีกทีหนึ่ง เมื่อใดที่DHEA ถูกใช้ไปเป็นปริมาณมากและมีระดับลดต่ำลง จะเกิดกลไกไปกระตุ้นสมองส่วน ไฮโปธาลามัสให้หลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า Corticotropin-releasing hormone(CRH)ซึ่ง CRHนี้จะถูกลำเลียงไปกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้า(Anterior pituitary gland) ให้หลั่งฮอร์โมนอีกหนึ่งชนิดคือ Adrenocorticotropic hormone (ACTH)เข้าสู่กระแสเลือด ด้วยกลไกนี้จึงก่อให้เกิดการสั่งการหรือกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตDHEA ออกมาและถูกนำไปใช้ในกระบวนการชีวะเคมีของร่างกายอย่างต่อเนื่อง

หากมีฮอร์โมนดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรนมากเกินไปจะเป็นอย่างไร?

ดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรน

กรณีที่ร่างกายมีการผลิต DHEA มากเกินไป อาจส่งผลกระทบอย่างเด่นชัดโดยเฉพาะในเพศหญิง จะทำให้เกิดถุงน้ำหลายใบอยู่รอบรังไข่หรือที่เรียกว่า Polycystic ovary syndrome(PCOS) และทำให้มีภาวะขนดกตามร่างกาย

ส่วนในวัยเด็ก ถ้ามีDHEA เป็นปริมาณมาก อาจมีสาเหตุจากต่อมหมวกไตของเด็กทำงานมากเกินไป(Congenital adrenal hyperplasia) กรณีนี้ต้องให้แพทย์ ดำเนินการรักษาก่อนที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา

ปริมาณ DHEA ที่สูงเกินไป ยังทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งของต่อมหมวกไต ตลอดจนมีความสัมพันธ์ถึงภาวะซึมเศร้า, และการทำงานของหัวใจ และของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย

นักกีฬาบางกลุ่มหรือนักเพาะกายที่เคยใช้ DHEA มากระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแกร่งของร่างกาย อาจลืมเรื่องผลข้างเคียง(ผลกระทบ)ต่างๆที่จะเกิดตามมาภายหลัง ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การควบคุมน้ำหนักโดยจำกัดอาหารประเภทไขมัน และหวานจัดประกอบกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถทำให้ร่างกายสร้าง DHEA ได้ตลอดชีวิต

หากมีฮอร์โมนดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรนน้อยเกินไปจะเป็นอย่างไร?

การมีระดับ DHEA น้อยไป มีความเกี่ยวพันทำให้อายุขัยสั้นลง ซึ่งเรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับเพศชายเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับเพศหญิงมากเท่าใดนัก การลดลงของDHEA จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2 ที่เป็นเพศชาย

อย่างไรก็ตามยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกลุ่มหนึ่ง ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมก่อนจะสรุปว่า การขาดหรือพร่องฮอร์โมน DHEA จะทำให้บุรุษมีอายุสั้นกว่าปกติจริงหรือไม่

สำหรับสตรีที่มี DHEA ต่ำกว่าปกติ มักจะแสดงออกมาทางอาการของโรคกระดูกพรุน ความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำลง และมีอารมณ์ทางเพศถดถอย

ทั้งนี้แนวทางการรักษาที่แพทย์มักใช้เป็นทางเลือกต้นๆกรณีมี DHEA ในเลือดต่ำ ไม่ใช่การให้ DHEA ในรูปแบบของยาหรืออาหารเสริมกับผู้ป่วย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลจากอาการข้างเคียงของ DHEA ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างมากมาย การบำบัดจะโดย แนะนำเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับวัย การออกกำลังกาย การพักผ่อน อย่างเหมาะสม และการบริหารอารมณ์อย่างชาญฉลาด มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกต้นๆ เพื่อประคับประคองให้ร่างกายคงระดับ DHEA ได้อย่างเหมาะสม

ผลิตภัณฑ์ของดีไฮโดรอีพิแอนโดรสเตอโรนในรูปแบบของยาแผนปัจจุบันมีอะไรบ้าง?

ผลิตภัณฑ์ของ DHEA ที่ยังพบเห็นในท้องตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นลักษณะยาลดการเจ็บปวดช่องคลอดขณะร่วมเพศ โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Intrarosa” ตัวยาสำคัญ คือ DHEA ซึ่งบนฉลากอาจระบุอีกชื่อ คือ Prasterone ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ DHEA นั่นเอง รูปลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็นแท่งไขมันสีขาวรูปร่างคล้ายลูกกระสุน ซึ่งมี DHEA บรรจุอยู่ 6.5 มิลลิกรัม/แท่ง

อาจสรุปการใช้งานและข้อควรระวังปลีกย่อยของ Intrarosa ได้ดังนี้

1. ข้อบ่งใช้: ลดภาวะเจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ กลุ่มเป้าหมายของการใช้ยานี้ ได้แก่ สตรีวัยหมดประจำเดือน

2. วิธีการใช้ Intrarosa: เหน็บช่องคลอดวันละ 1 แท่ง ก่อนนอน

3. ข้อห้ามใช้:

  • ห้ามใช้กับสตรีที่มีเลือดประจำเดือนผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหรือมีเคยเป็นมะเร็งเต้านม
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กหญิง

4. กลไกการออกฤทธิ์: DHEA ในรูปแบบยาสอด/ยาเหน็บช่องคลอดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งร่างกายจะเปลี่ยน DHEA ไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ส่งผลทำให้ช่องคลอดมีความยืดหยุ่นและมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะร่วมเพศได้

5. ผลข้างเคียง: มักไม่ค่อยพบเห็นผลข้างเคียงจากการใช้ DHEA ชนิด สอดช่องคลอด แต่อาจพบเห็นตกขาวเป็นเมือกสีขาวหรือสีน้ำตาลไหลออกจากช่องคลอดได้บ้าง

กรณีที่พบเห็นผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น ผื่นคัน ลมพิษ เจ็บหน้าอก ต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทันที และรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเร็ว

มีวิธีการง่ายๆอย่างไรบ้างในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทฮอร์โมน?

มีขั้นตอนง่ายๆก่อนการเลือกใช้ฮอร์โมนต่างๆรวมถึง DHEA ดังนี้

  • ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ และอาจต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อนใช้ฮอร์โมนต่างๆทุกชนิด/ประเภท สารประเภทฮอร์โมนมักจะมีฤทธิ์แรง หากใช้ผิดวิธี ปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถกระตุ้นให้เกิดผลกระทบได้อย่างรุนแรง เช่นเกิด โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคผิวหนัง เช่น สิว เป็นต้น
  • ไม่หลงเชื่อคำบอกต่อหรือทดลองใช้โดยไม่มีการปรึกษา แพทย์ เภสัชกร อาจค้นคว้าข้อมูลที่ใช้อ้างอิงทางวิชาการเสียก่อน ปัจจุบันมีเว็บไซด์ทางสุขภาพหลาย เว็บไซด์ที่กล่าวถึง ประโยชน์ ข้อดี ข้อเสีย ของการใช้ฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์ ให้เลือกเข้าไปศึกษาได้มากมายหลายเว็บไซด์
  • การใช้ฮอร์โมนหลายประเภทไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะต้องใช้ไปตลอดชีวิต ฮอร์โมนหลายตัวอาจมีการใช้เป็นระยะๆ หรือต้องพักการใช้เป็นช่วงๆแล้วค่อยกลับมาใช้ใหม่ กรณีที่ต้องได้รับการใช้ยาประเภทฮอร์โมนบำบัดอย่างต่อเนื่อง ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ผู้บริโภคสามารถสอบถามแพทย์ที่ตรวจรักษาได้โดยตรงว่า สามารถหยุดใช้หรือต้องใช้ต่อเนื่อง และผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง อย่าเกรงใจแพทย์ในเรื่องคำถามสุขภาพซึ่งเป็นหน้าที่ สำคัญของตนเองที่มีส่วนต้องรับผิดชอบ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dehydroepiandrosterone [2018, Jan27]
  2. http://www.yourhormones.info/hormones/dehydroepiandrosterone/ [2018, Jan27]
  3. https://www.drugs.com/mtm/prasterone-dehydroepiandrosterone-dhea-vaginal.html [2018, Jan27]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01708 [2018, Jan27]