ดี-โคท (D-coate)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดี-โคท (D-coate) เป็นชื่อการค้าของสูตรตำรับที่มียาแก้ไอถึง 3 ตัวใน 1 เม็ดที่ประกอบด้วยยา

  • Dextromethorphan HBr 20 มิลลิกรัม
  • Guaifenesin 50 มิลลิกรัม
  • Terpin hydrate (ยาขับเสมหะ) 85 มิลลิกรัม

ตัวยาในสูตรตำรับนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เฉพาะเจาะจงตามสูตรโครงสร้างทางเคมีอาจกล่าวรายละเอียดโดยย่อๆดังนี้

ก. Dextromethorphan: ออกฤทธิ์ระงับอาการไอแบบแห้งๆซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากเสมหะ โดยตัวยาจะกดศูนย์ควบคุมการไอในสมองจึงทำให้อาการไอทุเลาลง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์สงบประ สาท/ยากล่อมประสาทอีกด้วยทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้มีอาการง่วงนอนและวิงเวียนติดตามมา

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีเฉพาะยารับประทานเท่านั้น การกระจายตัวของยาภายในร่างกายจะมีปริมาณที่ต่ำ หลังการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยานี้จะถูกลำเลียงไปที่ตับเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ก่อนที่ปริมาณยาครึ่งหนึ่งในกระแสเลือดจะถูกกำจัดออกไปโดยใช้เวลาประมาณ 2 - 4 ชั่วโมงและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

โดยทั่วไปยาชนิดนี้ไม่ควรรับประทานพร้อมกับน้ำผลไม้เช่น Grapefruit juices ด้วยจะเกิดการยับยั้งกระบวนการในการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 (เอนไซม์ทำลายยา) ของอวัยวะตับ ทำให้มีปริมาณยา Dextromethorphan อยู่ในกระแสเลือดได้ยาวนานขึ้นจนผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆติดตามมาเช่น มีผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย อาจเกิดภาวะประสาทหลอน รวมไปถึงกดศูนย์ควบคุมการหายใจของร่างกาย (หายใจช้าและเบาจนอาจหยุดหายใจได้) และผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะปั่นป่วนในกระเพาะอาหารหลังรับประทานยานี้

ยา Dextromethorphan ถูกจัดเป็นยาตัวหนึ่งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและมีจำหน่ายในรูปแบบของยาแผนปัจจุบันอย่างมากมาย

ข. Guaifenesin: เป็นยาขับเสมหะโดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นและขับสารคัดหลั่ง/เสมหะออกมาจากหลอดลมส่งผลทำให้เสมหะที่คั่งค้างในหลอดลมถูกขับออกมาได้ง่าย นอกจากนี้ยาGuaifenesin ยังกระตุ้นให้ขนที่ใช้กวัดกวาดของเซลล์ที่อยู่ในท่อทางเดินหายใจพัดโบกได้ดี จึงทำให้สิ่งแปลกปลอมรวมถึงเสมหะถูกขับออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น

เราจะพบเห็นยา Guaifenesin ในรูปแบบของยาชนิดรับประทาน การกำจัดยานี้ส่วนใหญ่ของร่างกาย ยาจะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมารณ 1 - 5 ชั่วโมงในการกำจัดยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด

อาการข้างเคียงที่พบได้มากจากยาชนิดนี้คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือไม่ก็มีอาการท้อง ผูก เกิดนิ่วในไต การรับประทานยาพร้อมมื้ออาหารจะทำให้อาการคลื่นไส้ลดน้อยลง ส่วนเรื่องนิ่วในไตป้องกันโดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอย่างเพียงพอในช่วงเวลาระหว่างวัน ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยานี้ยังอาจมีอาการวิงเวียนและง่วงนอนได้อีกด้วย

ปัจจุบันพบว่ากลุ่มยาแก้ไอหลายรายการได้ผสมยา Guaifenesin เข้าในสูตรตำรับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

ค. Terpin hydrate: จัดเป็นยาขับเสมหะอีก 1 รายการที่มีการใช้มากในสหรัฐอเมริกา ยานี้จะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ที่อยู่ภายในหลอดลมทำให้เกิดการขับเสมหะและสารคัดหลั่งต่างๆได้ง่ายขึ้น ยาTerpin hydrate มักถูกนำมาใช้รักษาอาการหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน

ผลข้างเคียงที่อาจพบเห็นได้จากยานี้เช่น กดการหายใจ สงบประสาท ปัสสาวะคั่ง/ปัสสาวะขัด เป็นต้น การผสมยานี้ลงในสูตรตำรับที่มีตัวยาโคเดอีน (Codeine) อาจทำให้ร่างกายติดยาโคเดอีนได้มากยิ่งขึ้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน และเป็นอีก 1 ตัวยาที่มักถูกนำไปผสมกับยาแก้ไอตัวอื่นๆ

ดี-โคทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ดีโคท-01

ยาดี-โคทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการไอที่มีสาเหตุจากโรคหวัด โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง รวมถึงอาการไอที่มีสาเหตุจากโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยเช่นกัน

ดี-โคทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดี-โคทมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาต่างๆจะออกฤทธิ์ตามแต่ละชนิดของตัวยาสำคัญดังนี้

  • ยา Dextromethorphan จะออกฤทธิ์กดศูนย์กระตุ้นการไอในสมองผู้ป่วยจึงมีการไอห่างขึ้น
  • ยา Guaifenesin และยา Terpin hydrate จะออกฤทธิ์ขับเสมหะที่คั่งค้างในช่องทางเดินหายใจ/หลอดลมทำให้หายใจได้คล่องขึ้น

จากกลไกดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้บรรเทาอาการไอได้ตามสรรพคุณ

ดี-โคทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดี-โคทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Dextromethorphan HBr 20 มิลลิกรัม + Guaifenesin 50 มิลลิกรัม + Terpin hydrate 85 มิลลิกรัม/เม็ด

ดี-โคทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดี-โคทมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 ครั้ง สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • เด็ก: เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้กับเด็กจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดี-โคท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาดี-โคทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดี-โคทสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และหากอาการไอทุเลาลงก็สามารถหยุดการใช้ยานี้ได้

ดี-โคทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดี-โคทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ รู้สึกสับสน และอาจเกิดภาวะกดการหายใจ

มีข้อควรระวังการใช้ดี-โคทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดี-โคทเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ตัวยาสำคัญต่างๆในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดี-โคทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ดี-โคทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดี-โคทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ร่วมกับยา Fenfluramine (ยาลดความอ้วนที่ได้ถูกยกเลิกการใช้แล้วรวมถึงในประเทศไทยจากผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดพังพืดกับกล้ามเนื้อหัวใจที่ส่งผลให้เกิดโรคลิ้นหัวใจ และยังทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดปอดสูงจนส่งผลให้เกิดหัวใจล้มเหลวได้) อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะ Serotonin syndrome ซึ่งจะทำให้มีอาการสับสน ประสาทหลอน มีภาวะชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว กรณีรุนแรงผู้ป่วยอาจเข้าสู่ภาวะโคม่าและเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาดี-โคทอย่างไร?

สามารถเก็บยาดี-โคทภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ดี-โคทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดี-โคทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
CliniCof (คลีนิคอฟ) Bangkok Lab & Cosmetic
D-coate (ดี-โคท) BL Hua

 

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/D-Coate/ [2015,Aug22]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dextromethorphan [2015,Aug22]
  3. http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2015,Aug22]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Terpin_hydrate [2015,Aug22]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/dextromethorphan-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug22]