ดีคอลเจน (Decolgen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 พฤศจิกายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาดีคอลเจนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาดีคอลเจนอย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาดีคอลเจนอย่างไร?
- ยาดีคอลเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหวัด (Common cold)
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
ทั่วไป
ดีคอลเจน (Decolgen) เป็นชื่อการค้าของยาเม็ดที่ใช้บำบัดรักษาอาการของไข้หวัด/โรคหวัด ในประเทศไทยมีขึ้นทะเบียนอยู่ 2 สูตรตำรับ คือ
- ‘Decolgen tab’ จัดอยู่ในหมวดยาทั่วไปที่ไม่ใช่ยาอันตราย ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- และ ‘Decolgen prin tab’ มีตัวยาลดน้ำมูกเพิ่มเข้ามาจากสูตรแรกและถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย มีส่วนประกอบของตัวยาสำคัญ คือ Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Phenylephrine HCl 10 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัมต่อเม็ด
สามารถหาซื้อยานี้ทั้ง 2 สูตรตำรับยาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ด้วยเป็นที่รู้จักของคนไทยมาหลายสิบปี หลายครอบครัวได้ซื้อหาและเก็บไว้เป็นยาประจำบ้าน เราสามารถพบเห็นสูตรตำรับที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับตำรับยาดีคอลเจนอีกมากมายหลายชื่อการค้า (ที่คุ้นเคยได้แก่ ยาทิฟฟี่/Tiffy) ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลและขอคำแนะนำการใช้ยาหมวดนี้จากเภสัชกรใกล้บ้านหรือใช้ยาตามคำสั่งแพทย์
ยาดีคอลเจนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดีคอลเจนมีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้หวัด/โรคหวัด ไซนัสอักเสบ ไข้ละอองฟาง ลดอาการคัดจมูกเนื่องจากน้ำมูกมาก
ยาดีคอลเจนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีโคลเจนคือ
- ตัวยา Paracetamol จะช่วยบรรเทาอาการไข้ (ยาลดไข้) และบรรเทาอาการปวด (ยาแก้ปวด)
- ส่วน Chlorpheniramine จะลดอาการแพ้ (ยาแก้แพ้) ต่างๆ เช่น ไอ จาม
- และ Phenylephrine จะช่วยลดปริมาณน้ำมูกที่เป็นเหตุให้คัดจมูกและหายใจไม่สะดวก
จากกลไกของยาดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาดีคอลเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ก. ยาดีคอลเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ดที่ผสมยาลดไข้ + ยาแก้แพ้: Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมยาลดไข้ + ยาลดน้ำมูก + ยาแก้แพ้: Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Pheny lephrine HCl 10 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. สำหรับยาที่มีชื่อการค้าอื่นและมีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกันมีดังนี้
- ยาเม็ดที่ผสมยาลดไข้ + ยาแก้แพ้: Paracetamol 300 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 1 มิลลิกรัม/เม็ด
-
ยาเม็ดที่ผสมยาลดไข้ + ยาลดน้ำมูก + ยาแก้แพ้:
- Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Pheny lephrine 12.5 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- Paracetamol 500 มิลลิกรัม + Phenylephrine 7.5 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- และ Paracetamol 325 มิลลิกรัม + Phenylephrine 10 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/เม็ด
-
ยาแคปซูลที่ผสมยาลดไข้+ ยาแก้แพ้:
- Paracetamol 300 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/แคปซูล
- และ Paracetamol 250 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำที่ผสมยาลดไข้+ ยาแก้แพ้: Paracetamol 120 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
-
ยาน้ำที่ผสมยาลดไข้+ ยาลดน้ำมูก + ยาแก้แพ้:
- Paracetamol 120 มิลลิกรัม + Phenylephrine HCl 5 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 2 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- และ Paracetamol 120 มิลลิกรัม + Phenylephrine HCl 5 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 1 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
-
ยาน้ำที่ผสมยาลดไข้+ ยาแก้ไอ + ยาแก้แพ้:
- Paracetamol 150 มิลลิกรัม + Dextromethorphan 1 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 1 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- และ Paracetamol 150 มิลลิกรัม + Dextromethorphan 10 มิลลิกรัม + Chlorpheniramine maleate 1 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาดีคอลเจนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดีคอลเจนมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. Decolgen tab:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 2 เม็ดวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุ 7 - 12 ปี: รับประทานครั้งละ 1 เม็ดวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี: ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
ข. Decolgen prin tab:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ดทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทานครั้งละ 1 เม็ดทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลเรื่องขนาดยาที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยาดีคอลเจนก่อนหรือพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
- Decolgen tab เหมาะกับอาการไข้หวัด/โรคหวัด ที่มีอาการแพ้เช่น ไอ จาม ร่วมด้วย
- Decolgen prin tab เหมาะกับอาการไข้หวัด ที่มีอาการแพ้เช่น ไอจามและที่มีน้ำมูกมาก
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดีคอลเจน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาดีคอลเจนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดีคอลเจนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาดีคอลเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดีคอลเจนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปากแห้ง บางคนอาจพบอาการผื่นคันตามมา
มีข้อควรระวังการใช้ยาดีคอลเจนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดีคอลเจนดังนี้
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ที่มีโรคไต
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคต้อหิน ผู้ที่มี ตับ - ไต ทำงานผิดปกติ
- ขณะใช้ยานี้อาจมีอาการง่วงนอนและวิงเวียน ต้องเพิ่มความระวังหากต้องขับขี่ยวดยานพาหนะหรือต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องจักร
- ระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ไปซื้อหายามารับประทานเอง
- ระวังการใช้ยานี้ในเด็กโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดีคอลเจนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาดีคอลเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
การใช้ยาดีคอลเจนร่วมกับยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) อาจทำให้เกิดฤทธิ์ของการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้มีอาการวิงเวียน ง่วงนอนมากกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
การใช้ยาดีคอลเจนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs สามารถทำให้ยาดีคอลเจนออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้น และส่งผลต่อการรักษารวมถึงอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาดีคอลเจนที่อาจติดตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน
การใช้ยาดีคอลเจนร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin ส่วนประกอบที่เป็น Paracetamol ของยาดีคอลเจนอาจทำให้ฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษายาดีคอลเจนอย่างไร?
ควรเก็บยาดีคอลเจนภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาดีคอลเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดีคอลเจนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Acetacol (อะเซตาคอล) | PP Lab |
Acetapyrin-C (อะเซตาพีริน-ซี) | PP Lab |
Anhista (แอนฮีสตา) | Sriprasit Pharma |
C-Colotab (ซี-โคโลแท็บ) | Chinta |
Cetaphen (เซตาเฟน) | SSP Laboratories |
Colcap (คอลแค็ป) | Asian Union |
Coldetab (คอลเดแท็บ) | Chew Brothers |
Coldocap (คอลโดแค็ป) | Asian Pharm |
Cologen (โคโลเจน) | T. O. Chemicals |
Decolgen (ดีคอลเจน) | Great Eastern |
Decono (ดีโคโน) | Milano |
Deramol Kids (ดีรามอล คิดส์) | L.B.S. |
Fiddy Syrup (ฟิดดี ไซรัป) | SSP Laboratories |
Icolid Plus (ไอโคลิด พลัส) | Greater Pharma |
Locko (ล็อกโค) | General Drugs House |
McXY Cold (แม็กซี โคล) | Millimed |
Mofazt (โมแฟซ) | Mega Lifesciences |
Pacogen (พาโคเจน) | Chinta |
Tiffy (ทิฟฟี่) | Thai Nakorn Patana |
บรรณานุกรม
1 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=paracetamol%20%2B%20chlorpheniramine[2014,Nov8]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Decolgen/decolgen-decolgen%20prin?type=brief [2014,Nov8]
3 http://www.reviewstream.com/reviews/?p=73995 [2014,Nov8]
4 http://www.amazon.com/Decolgen-Prin-Tablets-Sachets-Each/dp/B00AP3HZ4G [2014,Nov8]
5 http://www.alagangpinoy.com.ph/products/id/Decolgen-379 [2014,Nov8]