ดิฟเฟอริน (Differin) หรือ อะแดพาลีน(Adapalene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ดิฟเฟอรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดิฟเฟอรินอย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดิฟเฟอรินอย่างไร?
- ดิฟเฟอรินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- สิวอุดตัน (Comedone)
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)
บทนำ
ยาดิฟเฟอริน(Differin)เป็นยาชื่อการค้าของยาทารักษาสิวอุดตัน(Comedone) โดยมีตัวยาสำคัญหรือ ยาชื่อสามัญ คือ อะแดพาลีน/Adapalene ซึ่งจัดเป็นสารประกอบประเภทเรตินอยด์ รุ่นที่3 (Third generation retinoids/สารเคมีที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามิน เอ) โดยถูกพัฒนาและรับรองการใช้เป็นยานี้เมื่อปี ค.ศ.1996 (พ.ศ.2539)
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดิฟเฟอริน คือ ยับยั้งการพัฒนาและการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของเซลล์ผิวหนัง ยานี้มีผลทำให้ผิวหนังลอก และยังลดการอักเสบของผิวหนังอีกด้วย รูปแบบของผลิตภัณฑ์ของยานี้ จะเป็นยาทาผิวภายนอกชนิดครีม และชนิดเจล ที่มีความเข้มข้น 0.1% และ 0.3% ในประเทศไทยจะพบเห็นแต่ชนิดความเข้มข้น 0.1% เท่านั้น
ตัวยาดิฟเฟอริน จะถูกดูดซึมทางผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ต่ำ และในบางสูตรตำรับยานี้ได้เพิ่มตัวยา Benzoyl peroxide ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ขณะที่ใช้ยานี้ต้องระวังมิให้ยาเข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก กรณีอวัยวะดังกล่าวมีการสัมผัสยานี้ ต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดโดยเร็ว ทั้งนี้ ยังต้องหลีกเลี่ยงการทายานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีแผล เช่น แผลเปิด หรือบริเวณที่เป็นแผลไหม้
อีกประการสำคัญ ไม่ควรใช้ยาดิฟเฟอริน ร่วมกับยาทาผิวหนัง หรือเครื่องสำอางอื่นๆที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อย่างเช่น สบู่ชนิดที่เป็นกรด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหนัง ยาย้อมผม แชมพูบางกลุ่ม เช่น แชมพูที่กำจัดรังแค สารเคมีที่ใช้กำจัดขนของผิวหนัง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งการจะใช้ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องสำอางใดๆ ร่วมกับยาดิฟเฟอริน จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
นอกจากนี้ แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการออกแดด/ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ด้วยสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ยาดิฟเฟอริน จะกระตุ้นให้ผิวหนังมีความไวหรือแพ้ต่อแสงแดดได้ง่าย การออกแดดทุกครั้งควรมีร่มหรือผ้าคลุมที่ปกปิดผิวหนังได้มิดชิด หรือใช้ซันสกรีน/ครีมกันแดด(Sunscreen) ขนาด SPF 15 เป็นอย่างต่ำ ทากันผิวหนังก่อนออกแดดทุกครั้ง
ยาดิฟเฟอรินนี้ ไม่เหมาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา โดยทั่วไปความถี่ของการทายานี้เพียงวันละครั้งก่อนนอน โดยก่อนและหลังทายานี้ ควรต้องล้างมือทำความสะอาดทุกครั้ง และอาจต้องทายานี้ต่อเนื่องหลายสัปดาห์กว่าจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 8 – 12 สัปดาห์ หรือพบว่าผิวหนังเกิดอาการแพ้ยานี้ (เช่น บวม แดง คันมาก ขึ้นผื่น)ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาให้การรักษาและปรับแนวทางการใช้ยานี้
การทายาดิฟเฟอริน เป็นปริมาณมากเกินไป หรือทายานอกเหนือเกินคำสั่งแพทย์ ยังอาจส่งผลให้เกิดอาการแดง และระคายเคืองของผิวหนัง และการใช้ยานี้ในช่วง 4 สัปดาห์แรก อาจพบว่า ผิวหนังแห้ง-แดง มีสะเก็ด ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการแสบคันร่วมด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านี้เป็นมาก หรืออาการต่างๆเลวลง ควรรีบมาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้สูตรตำรับยาดิฟเฟอริน อยู่ในหมวดยาอันตราย และบางสูตรตำรับยานี้ถูกระบุให้เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีคำสั่งจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้เองจากร้านขายยาทั่วไป
ดิฟเฟอรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาดิฟเฟอรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาสิวอุดตัน
ดิฟเฟอรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดิฟเฟอรินคือ ตัวยาสำคัญอย่าง อะแดพาลีน จะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของผิวหนังที่มีชื่อว่า Retinoic acid nuclear receptors ส่งผลให้ลดการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นนอก ยานี้ยังมีผลทำให้ผิวหนังชั้นนอกลอกได้เร็วขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ดิฟเฟอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดิฟเฟอรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาครีมทาผิวภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.1%
- ยาเจลทาผิวภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.1%
- ยาเจลที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Adapalene 1 มิลลิกรัม + Benzoyl peroxide 25 มิลลิกรัม/กรัม
ดิฟเฟอรินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาดิฟเฟอรินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ทายาในบริเวณที่เป็นสิว วันละครั้งก่อนนอน โดยการใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในด้านความปลอดภัยของยานี้ในการใช้กับเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มี แผล หรือมีรอยไหม้จากสาเหตุต่างๆ เช่น จากแสงแดด
- ผู้ที่ใช้ยานี้ควรต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
- ห้ามนำยาชนิดอื่นมาทาร่วมกันกับยานี้ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ในช่วงสัปดาห์แรกที่ทายานี้ อาจยังคงพบเห็นสิวบนผิวหนัง เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 2 – 4 อาจพบว่า ผิวแห้ง แสบ คัน โดยร่างกายจะค่อยๆปรับตัว และทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นเอง แต่ถ้าอาการดังกล่าวรุนแรง หรืออาการเลวลง ต้องรีบไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดิฟเฟอริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาดิฟเฟอริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาดิฟเฟอริน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ดิฟเฟอรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาดิฟเฟอรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น เกิดผื่นคัน แสบในบริเวณผิวหนังที่ทายา หากออกแดดขณะใช้ยานี้อาจทำให้เกิดผิวเป็นรอยไหม้ได้ กรณีที่เกิดผิวหนังอักเสบมากหลังใช้ยานี้ หรือหลังออกแดด ควรให้ผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
มีข้อควรระวังการใช้ดิฟเฟอรินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดิฟเฟอริน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ทาผิวหนังที่มีส่วนประกอบของ Alpha hydroxyl acid (AHA) หรือ Glycolic acid
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้ ห้ามยานี้ เข้าตา เข้าจมูก เข้าปาก ด้วยเป็นยานี้เป็นยาที่ใช้ทาผิวหนังภายนอกเท่านั้น
- ยานี้ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ขึ้นไปจึงจะเห็นประสิทธิผล
- หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคัน ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หลีกเลี่ยงการออกแดดขณะใช้ยานี้
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดิฟเฟอรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดิฟเฟอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดิฟเฟอรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาดิฟเฟอรินร่วมกับยา Isotretinoin อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาดิฟเฟอรินอย่างไร?
ควรเก็บยาดิฟเฟอรินในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ดิฟเฟอรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดิฟเฟอริน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Differin (ดิฟเฟอริน) | Galderma |
Epiduo (อีพิดูโอ) | Galderma |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นในต่างประเทศของยานี้ เช่น Clindap-T, Adapalene and benzoyl peroxide, Difra gel, Faceclin A
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adapalene [2016,July23]
- https://www.drugs.com/mtm/adapalene-topical.html [2016,July23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/adapalene/?type=brief&mtype=generic [2016,July23]
- https://www.drugs.com/dosage/differin.html [2016,July23]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/claravis-with-differin-1403-829-103-33.html [2016,July23]