ดาคิน (Dakin’s solution)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ:คือ ยาอะไร?
- สารละลายดาคินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- สารละลายดาคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สารละลายดาคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สารละลายดาคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมล้างแผลควรทำอย่างไร?
- สารละลายดาคินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารละลายดาคินอย่างไร?
- สารละลายดาคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารละลายดาคินอย่างไร?
- สารละลายดาคินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาใส่แผล ยาทำแผล (Antiseptic)
- ยาใส่แผล การเลือกชนิดยาใส่แผล (Open wound drug administration)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
บทนำ:คือ ยาอะไร?
ยาดาคิน หรือยาสารละลายดาคิน (Dakin’s solution) คือ ยาล้างแผล/ยาทำแผล เช่น แผลติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรัง ซึ่งยา/สารละลายนี้ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) เบื้องต้นประกอบด้วยสารเคมี 2 ตัวที่มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคคือ Sodium hypochloride ที่มีความเข้มข้น 0.4 - 0.5%, และ Boric acid 4%
สมัยแรกเริ่ม สารละลายดาคินยังไม่มีความคงตัวเท่าไรนัก กล่าวคือมีอายุหลังการเตรียมเป็นยาล้างแผลได้เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) จึงได้พัฒนาสูตรตำรับให้มีอายุการใช้งานได้นานขึ้น เราสามารถพบเห็นการใช้สารละลายดาคินตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนได้โดยทั่วไป
สารละลายดาคินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
สารละลายดาคินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- บำบัดและรักษาผิวหนังที่มีการติดเชื้อ เช่น แผลฉีกขาด, แผลกดทับ, แผลถลอก
- ใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อผิวหนังของคนไข้ก่อนและหลังรับการผ่าตัด
สารละลายดาคินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาสารละลายดาคิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยเกลือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่เป็นสารสำคัญของสูตรตำรับจะแตกตัวให้สารที่มีประจุลบคือ ไฮโปคลอไรท์ (Hypochlorite) และไฮโปคลอรัส (Hypochlorous) ในลำดับต่อมาจะเกิดสารคลอรีน (Chlorine) ซึ่งสามารถรบกวนและยับยั้งกลไกการดำรงชีวิตของเชื้อโรคและทำให้เชื้อโรคตายลงในที่สุด
สารละลายดาคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารละลายดาคินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นของ Sodium hypochlorite ดังนี้คือ
- 0.25 กรัม/100 มิลลิลิตร
- 0.50 กรัม/100 มิลลิลิตร
สารละลายดาคินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ผลิตภัณฑ์สารละลายดาคินให้ทำตามคำแนะนำการใช้ที่ระบุอยู่ในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยาที่มากับตัวผลิตภัณฑ์ โดยเทหรือทาสารละลายดาคินลงบริเวณที่เป็นบาดแผล อย่าใช้น้ำยานี้มากหรือน้อยจนเกินไป หรืออาจใช้ผ้าก๊อซชุบสารละลายดาคินจนเปียกแล้วปิดทับบริเวณที่เป็นแผล โดยขั้นตอนต่างๆต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลผู้รักษา
******หมายเหตุ:
- การใช้ยานี้ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ควรเป็นคำสั่งจากแพทย์โดยตรง
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสารละลายดาคิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาสารละลายดาคินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมล้างแผลควรทำอย่างไร?
หากลืมล้างแผล/ใช้สารละลายดาคินล้างแผล สามารถล้างแผลเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการล้างแผลในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
สารละลายดาคินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาสารละลายดาคินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- ผิวหนังบริเวณใช้ยามีอาการ บวมแดง ระคายเคือง หรือปวดในบริเวณที่ใช้ยานี้
- ในกรณีแพ้สารละลายชนิดนี้ อาจพบอาการ ผื่นคัน, ใบหน้าและลิ้นบวม, มีอาการวิงเวียน, และหายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย, เมื่อพบอาการดัง กล่าวควรหยุดใช้สารละลายชนิดนี้ทันที และรีบไปโรงพยาบาลทันที พร้อมนำยานี้พร้อมบรรจุภัณฑ์ไปให้แพทย์ดูด้วย
มีข้อควรระวังการใช้สารละลายดาคินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารละลายดาคิน ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาสารละลายนี้ หรือผู้ที่แพ้สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์
- ห้ามกลืน ห้ามให้สัมผัสตา หรือใช้ล้างหู ล้างจมูก
- กรณีที่สารละลายนี้เข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันทีเป็นเวลานานอย่างน้อย 15 นาที หลังจากนั้นให้รีบไปโรงพยาบาลพร้อมนำยานี้และบรรจุภัณฑ์ไปให้แพทย์ดูด้วย
- การใช้สารละลายดาคินกับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ก่อนเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายดาคินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สารละลายดาคินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาสารละลายนี้ใช้ทาผิว/ยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาสารละลายดาคินอย่างไร?
สามารถเก็บยาสารละลายดาคิน:
- เก็บสารละลาย/ยานี้ในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- ไม่เก็บยา ในห้องน้ำ หรือ ในรถยนต์
- ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
สารละลายดาคินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาสารละลายดาคิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dakin’s solution (ดาคินส โซลูชั่น) | CENTURY Pharmaceuticals |
Dakin's Solution Half Strength (0.25%) (ดาคินส โซลูชั่น ฮาล์ฟ สเตรนท์ (0.25%) | CENTURY Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://www.webmd.com/drugs/2/drug-62261/dakins-solution/details [2021,April24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Henry_Drysdale_Dakin [2021,April24]
- https://global.britannica.com/science/Dakins-solution [2021,April24]
- https://www.drugs.com/mtm/sodium-hypochlorite-topical.html [2021,April24]
- https://www.google.co.th/search?q=dakin+solution+image&rlz=1C1GIWA_enTH602TH602&espv=2&biw=1920&bih=912&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ei=WcThVM3pIpC9uATol4LIAg&ved=0CB0QsAQ [2021,April24]
- https://www.woundsource.com/product/dakins-solution-half-strength-025[2021,April24]
- https://www.woundsource.com/product/dakins-solution-full-strength-05 [2021,April24]