ดาคาร์บาซีน (Dacarbazine/Imidazole carboxamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดาคาร์บาซีน (Dacarbazine) หรือในชื่ออื่น อิมิดาโซล คาร์บอกซาไมด์ (Imidazole carboxamide) หรือ Dimethyl triazeno imidazole carboxamide ย่อว่า DTIC เป็นยาเคมีบำบัดที่นำมารักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma) และโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/โรคมะเร็งมาลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant melanoma) ตัวยาชนิดนี้ถูกวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) และมีใช้จนกระทั่งปัจจุบัน

ยาดาคาร์บาซีนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงก่อนที่ยานี้จะถูกขับทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ การใช้ยาดาคาร์บาซีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้หลายประการ เช่น เจ็บในบริเวณที่ได้รับการฉีดยา เกิดภาวะเม็ดเลือดหลายชนิดรวมถึงเกล็ดเลือดมีระดับลดลงและทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย มีภาวะโลหิตจาง และเลือดออกง่ายตามมา อาการข้างเคียงต่างๆเหล่านี้อาจใช้เวลา 5–7 วันหลังได้รับยานี้จึงจะแสดงผลลัพธ์ออกมาทางร่างกายอย่างชัดเจน ผู้ป่วยบางกลุ่มมักได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานี้มากที่สุดในช่วงวันที่ 7–10 หลังจากได้รับยาชนิดนี้/ยานี้ไปแล้ว 21–28 วัน ร่างกายจะเริ่มฟื้นสภาพกลับมาเป็นปกติ

อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับยาดาคาร์บาซีนยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) ตามมา นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้เลย เช่น

  • ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้
  • ผู้ป่วยด้วยภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน/ภาวะกดไขกระดูก
  • ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตในระยะรุนแรง
  • สตรีมีครรภ์และสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยตัวยาสามารถก่อพิษต่อเด็กทารกได้

ในการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ แพทย์อาจใช้ยาดาคาร์บาซีนร่วมกับยา Doxorubicin, Bleomycin, และ/หรือ Vinblastine โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาดาคาร์บาซีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลรักษาโรคมะเร็งควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ตัวยาชนิดนี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีเงื่อนไขการใช้สำหรับโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin’s lymphoma และจัดให้อยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษที่ต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

ดาคาร์บาซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ดาคาร์บาซีน

ยาดาคาร์บาซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ดังนี้ เช่น

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma)
  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา/มาลิกแนนท์ เมลาโนมา (Malignant melanoma)

ดาคาร์บาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดาคาร์บาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์ทำให้องค์ประกอบของสารพันธุกรรมหรือดีเอนเอ (DNA)ในเซลล์มะเร็งเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรียกกระบวนการดังกล่าวว่า “เมทิลเลตติ้ง กัวนีน (Methylating guanine)” ส่งผลให้การถอดรหัสพันธุกรรมในดีเอนเอของเซลล์มะเร็งเสียไป จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัวและตายลง

ยาดาคาร์บาซีน สามารถออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติของร่างกาย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติจึงเกิดการขับเคลื่อนให้ตัวยาออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกตินั่นเอง อย่างไรก็ตามพบว่ามีเซลล์ปกติของร่างกายบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาชนิดนี้อยู่ดี

ดาคาร์บาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดาคาร์บาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดแบบผงแห้งปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Dacarbazine 200 มิลลิกรัม/ขวด

ดาคาร์บาซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในการบริหารยา/ใช้ยาดาคาร์บาซีน แพทย์จะเป็นผู้คำนวณขนาดและระยะเวลาการใช้ยาดาคาร์บาซีนโดยอาศัยปัจจัยต่างๆมาเป็นองค์ประกอบ เช่น พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วย อายุ น้ำหนักตัว สภาพการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ตับ ไต ไขกระดูก และการใช้ยาชนิดนี้ต้องให้ทางหลอดเลือดดำโดยต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยานี้ตรงตามที่แพทย์นัดหมาย และไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดาคาร์บาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดาคาร์บาซีนอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ม่ครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ควรดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาดาคาร์บาซีน?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาดาคาร์บาซีนดังนี้ เช่น

  • ประคบเย็นในบริเวณที่ได้รับการฉีดยาเพื่อบรรเทาอาการปวด/บวม หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบเข้ามาติดต่อแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรเมื่อไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ไม่อยู่ในที่มีผู้คนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก เช่น การใช้มีด หรือการเล่นกีฬาผาดโผน
  • เพื่อป้องกันเลือดออกบริเวณเหงือก และลดอาการช่องปากเป็นแผล ควรใช้ แปรงสีฟันที่มีขนนิ่ม
  • กรณีมีอาการคลื่นไส้ ให้รับประทานยาบรรเทาอาการ/ยาแก้คลื่นไส้ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น และห้ามไปซื้อหายาใดๆมารับประทานเอง
  • ขณะใช้ยานี้ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
  • ในสตรีต้องป้องกันการมีบุตรขณะได้รับยาชนิดนี้โดยใช้การป้องกันทางกายภาพ เช่น ถุงยาอนามัยชาย
  • พักผ่อนอย่างพอเพียงและรับประทานอาหารตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีไม่สามารถมารับการฉีดยาดาคาร์บาซีนได้ตามแพทย์นัด ให้ผู้ป่วยรีบติดต่อแพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ผู้ที่ทำการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

ดาคาร์บาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดาคาร์บาซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง เกิดผื่นคัน มีอาการพุพองที่ผิวหนัง เกิดลมพิษ ผื่นแพ้แสงแดด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะกดไขกระดูก ทำให้มีภาวะเม็ดเลือดต่างๆต่ำลง เกล็ดเลือดต่ำ อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับยานี้ไปแล้ว 2–4 สัปดาห์
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำของตับ เกิดการตายของเซลล์ตับ/ตับอักเสบรุนแรง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจเกิดอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่/กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากได้รับยานี้ไปแล้ว 7 วัน จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้นเองหลังอาการป่วย 1–3 สัปดาห์
  • ผลต่อบริเวณที่ได้รับการฉีดยา: เช่น อาจเกิดภาวะปวด/แสบในบริเวณที่ได้รับการฉีดยา หรือเกิดสภาพเนื้อเยื่อบริเวณที่ฉีดยาโดนทำลาย/เนื้อเยื่อตาย

มีข้อควรระวังการใช้ดาคาร์บาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดาคาร์บาซีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • เข้ารับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด เช่น เพื่อดูสภาพการทำงานของตับ ไต ตามคำแนะนำของแพทย์ทุกครั้ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง ไม่ควรหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาดาคาร์บาซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อาการข้างเคียงลักษณะใดที่ต้องนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว?

กรณีพบอาการดังต่อไปนี้ ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เช่น

  • คลื่นไส้มากทุกครั้งที่รับประทานอาหารและยาที่แพทย์สั่งจ่ายมาเพื่อบรรเทาอาการใช้ไม่ได้ผล
  • อาเจียนวันละ 4–5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดออกตามร่างกายโดยไม่รู้สาเหตุ
  • อุจจาระมีสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด และ/หรือปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • ปวด/บวมอย่างมากในบริเวณที่ได้รับการฉีดยา

ดาคาร์บาซีนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดาคาร์บาซีนอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาดาคาร์บาซีน ร่วมกับยาAdalimumab เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อได้อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาดาคาร์บาซีนร่วมกับ ยาClozapine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง และมีการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆได้ง่ายตามมา
  • ห้ามใช้ยาดาคาร์บาซีนร่วมกับ วัคซีนป้องกันโรคชนิดต่างๆ เช่น วัคซีนโรคฝีดาษ วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนโรคหัด ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากวัคซีนที่ได้รับเสียเอง ตลอดจนผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนดังกล่าวมักไม่เกิดประสิทธิผล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาดาคาร์บาซีนร่วมกับ ยาEfavirenz ด้วยเสี่ยงต่อภาวะตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ

ควรเก็บรักษาดาคาร์บาซีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาดาคาร์บาซีนดังนี้ เช่น

  • เก็บยาฉีดภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่เสื่อมสภาพหรือยาที่หมดอายุแล้ว

ดาคาร์บาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดาคาร์บาซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dacmed 200 (แด็กเมด 200)United Biotech

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Dabaz, Arzi, Dacarex, Dacarin, Dacarzine, Dacmed

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/dacarbazine.aspx [2018,June9]
  2. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/135#item-10440 [2018,June9]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Dacarbazine [2018,June9]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dacarbazine/?type=brief&mtype=generic [2018,June9]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dacmed%20200/?type=brief [2018,June9]
  6. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1002/1097-0142(197510)36:4%3C1269::AID-CNCR2820360412%3E3.0.CO;2-%23 [2018,June9]