ดอกซาโซซิน (Doxasoxin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดอกซาโซซิน (Doxasoxin หรือ Doxasoxin mesylate) เป็นยาในกลุ่มแอลฟาวัน แอดรีเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Alpha-1 adrenergic receptor blocker, กลุ่มยาที่ขัดขวาง/ปิดกั้นการทำงานของตัวรับของสารที่ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว) วงการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง และบรรเทาอาการปัสสาวะขัดด้วยเหตุจากภาวะต่อมลูกหมากโต ในต่างประเทศแถบอเมริกาจะคุ้นเคยในชื่อการค้าว่า ‘Cardura XL’

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย)ของยาดอกซาโซซิน พบว่า ตัวยาจะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ประมาณ 65% และจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 98% โดยตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง และร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 22 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50%

คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ได้บรรจุยาดอกซาโซซินขนาด 2 และ 4 มิลลิกรัมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเข้าหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยาเอง

ยาดอกซาโซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ดอกซาโซซิน

ยาดอกซาโซซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาภาวะต่อมลูกหมากโต

ยาดอกซาโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดอกซาโซซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาปิดกั้นส่วนที่เรียกว่าตัวรับ(Receptor) แอลฟาวัน แอดรีโนเซ็ปเตอร์ (Alpha-1 adrenoceptors หรือ Alpha-1 adrenergic receptor) ซึ่งอยู่ในผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และทำให้แรงต้านทานภายในหลอดเลือด รวมถึงความดันโลหิตลดลง ด้วยกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ยาดอกซาโซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดอกซาโซซิน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • เป็นยาเม็ดขนาด 1, 2 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด

ยาดอกซาโซซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาดอกซาโซซินมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้รับประทาน 1 มิลลิกรัม ก่อนนอน หลังจากนั้น 1 - 2 สัปดาห์ แพทย์อาจให้ปรับขนาดรับประทานตามการตอบสนองของอาการคนไข้ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 4 มิลลิ กรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/วัน

ข. สำหรับรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia): เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้รับประทาน 1 มิลลิกรัม ก่อนนอน หลังจากนั้น 1 - 2 สัปดาห์ แพทย์อาจ ปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้ แต่ต้องคอยวัดความดันโลหิตหลังรับประทานยาไปแล้ว 2 - 6 ชั่วโมงเพื่อดูการตอบสนองของความดันโลหิตว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมหรือไม่ ขนาดรับประทานที่คงระดับการรักษาอยู่ที่ 2 - 4 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยานี้ไม่มีรายงานขนาดยาในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาดอกซาโซซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาดอกซาโซซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาดอกซาโซซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาดอกซาโซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาดอกซาโซซิน สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เจ็บหน้าอก
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • เกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • วิงเวียน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ใจสั่น
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้
  • ใบหน้า/ลำตัว บวม
  • ปากแห้ง
  • การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • การมองภาพผิดปกติ
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • เหงื่อออกมาก
  • วิตกกังวล
  • นอนไม่หลับ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เป็นตะคริว
  • ใบหน้าแดง
  • ความต้องการทางเพศถดถอย
  • เยื่อจมูกอักเสบ
  • ปัสสาวะมาก

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาโซซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอกซาโซซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ในผู้ป่วย โรคไต โรคตับ
  • อาจพบอาการความดันโลหิตต่ำ จนอาจเป็นลมหมดสติได้เมื่อมีการเพิ่มขนาดการรับประทานยานี้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการควบคุมอุปกรณ์เครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรง โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวหลังปรับขนาดรับประทานเป็นเวลา24 ชั่วโมงขึ้นไป
  • ก่อนการใช้ยาดอกซาโซซินรักษาต่อมลูกหมากโต ต้องวินิจฉัยก่อนให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมิได้ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ระวังการใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดอกซาโซซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุก ชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาดอกซาโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดอกซาโซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาดอกซาโซซิน ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาความดันโลหิตสูงของยาดอกซาโซซินด้อยลง หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยาดอกซาโซซิน ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น เช่นยา Beta blockers, ACE inhibitors, Calcium channel blockers และยาขับปัสสาวะ (Diuretics) สามารถเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษายาดอกซาโซซินอย่างไร?

สามารถเก็บยาดอกซาโซซิน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาดอกซาโซซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดอกซาโซซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cardoxa (คาร์ดอกซา) Sriprasit Pharma
Cardura/Cardura XL (คาร์ดูรา/คาร์ดูรา เอ็กซ์แอล) Pfizer
Carxasin (คาร์ซาซิน) M & H Manufacturing
Cazosin (คาโซซิน) Millimed
Dezcard (เดชการ์ด) Siam Bheasach
Dovizin (โดวิซิน) Ranbaxy
Dozozin (โดโซซิน) Umeda
Duracard (ดูราการ์ด) Sun Pharma
Genzosin (เจนโซซิน) Genovate Biotechnology
Pencor (เพนคอร์) Unison
Xadosin (ซาโดซิน) MacroPhar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Doxazosin [2020,Dec19]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fdoxazosin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Dec19]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=doxasoxin&page=1 [2020,Dec19]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fcardura-cardura%2520xl%2f%3ftype%3dfull#Storage [2020,Dec19]