ดวงตาต้องดูแล (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 27 สิงหาคม 2562
- Tweet
ตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ โรคเกี่ยวกับตาสามารถทำให้ตาบอดได้ ทั้งนี้โรคเกี่ยวกับตาเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปแต่อาจไม่ทันสังเกต เนื่องจากในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการแต่อย่างใด
การตรวจตาอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญในการวัดสายตา (Optometrist) หรือ จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากการพบโรคในระยะแรกและทำการรักษาจะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
- ต้อกระจก (Cataracts)
- เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic retinopathy) ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบมาก เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงจะทำลายหลอดเลือดในจอตา ซึ่งสามารถทำให้ตาบอดได้
โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 90 จะมีอาการเบาหวานขึ้นจอตาซึ่งเป็นอาการที่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ดีร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานมักไม่ได้ทำการตรวจตา จึงทำให้รักษาช้า
- ต้อหิน (Glaucoma)
- โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration)
แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องตาเมื่ออายุมากขึ้น แต่เด็กก็จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจสายตาด้วย เพราะภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) ก็เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดที่ทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็น (ร้อยละ 2-3 ของเด็กทั้งหมด) ซึ่งจำเป็นต้องรักษาทันทีเพื่อไม่ให้ตาบอด
ทั้งนี้ การตรวจสายตาสามารถทำได้ด้วยวิธี
- การตรวจลานสายตา (Visual field test) เพื่อตรวจสายตาที่มองออกไปทางด้านข้าง (Peripheral Vision) หากมีความผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของต้อหิน
- การวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity test) โดยยื่นห่างประมาณ 20 ฟุต เพื่อดูว่ามองเห็นได้ชัดขนาดไหน
- การวัดความดันภายในลูกตา (Tonometry) เพื่อป้องกันต้อหิน
- การขยายม่านตา (Dilation) เพื่อจักษุแพทย์จะสามารถตรวจเนื้อเยื่อในตาได้ชัดเจน เช่น จอประสาทตา (Retina) จุดภาพชัดหรือมาคูลา (Macula) และ ประสาทตา (Optic nerve)
- การตรวจวัดระดับความชัดเจนของสายตา (Refraction test) เช่น สายตาสั้น (Nearsightedness) สายตายาว (Farsightedness) สายตาเอียง (Astigmatism)
แหล่งข้อมูล:
- Keep an Eye on Your Vision Health. https://www.cdc.gov/features/healthyvision/index.html[2019, August 26].
- Eye Care. https://medlineplus.gov/eyecare.html [2019, August 26].