ดริ๊งค์รวดตายเร็ว (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 17 ตุลาคม 2562
- Tweet
หลังจากผลชันสูตรพริตตี้สาววัย 25 ปี ที่เสียชีวิตจากการดื่มสุรา (Alcohol intoxication) ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่พบสารเสพติดและดีเอ็นเอของผู้อื่นในร่างกายนั้น
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดถึง 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าสูงมาก ซึ่งการมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยปริมาณแอลกอฮอล์จะผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดสุรา ลักษณะของคน และพฤติกรรมการดื่ม
ยกตัวอย่าง ดื่มแบบเพียวๆ ดื่มแบบผสม ดื่มตอนท้องว่างจะดูดซึมได้เร็ว หากกินอาหารด้วยก็จะขัดขวางการดูดซึม หากค่อยๆ จิบก็มีจะมีเวลาให้ร่างกายกำจัดแอลกอฮอล์ออกไป ซึ่งเฉลี่ยจะกำจัดได้ประมาณ 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง แต่ถ้าดื่มรวดเดียวเร็วๆ แบบแข่งกันดื่มก็ทำให้มีแอลกอฮอล์สูงได้ และก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนอีก เช่น คนอ้วนคนผอม คนดื่มบ่อย คนนานๆ ดื่มที ก็แตกต่างกัน ร่างกายแต่ละคนก็กำจัดแอลกอฮอล์ได้เร็วช้าไม่เท่ากัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากเทียบปริมาณแอลกอฮอล์กับการดื่มที่พอเป็นเกณฑ์ คือ 1 ดื่มมาตรฐานหรือ 1 หน่วยจะเท่ากับเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้ว ปริมาณ 100 ซีซี หรือเหล้า 1 แก้ว 30 ซีซี ดังนั้น ถ้าดื่มประมาณ 2 หน่วยจะมีค่าประมาณเกือบ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากขับยานพาหนะถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากไม่ได้ขับรถก็ไม่เป็นอะไร
ทั้งนี้ หากพบประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เรียกว่าอยู่ในอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง แต่หากดื่มถึง 4 หน่วย ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะขึ้นมาถึง 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเริ่มมีผลเสีย จะเพิ่มเรื่องของพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การเกิดอุบัติเหตุง่าย มีพฤติกรรมรุนแรง เพราะขาดการยับยั้งชั่งใจ
หากดื่มไปถึง 12 หน่วย ระดับแอลกอฮอล์อาจทะลุ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเริ่มสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว การพูดจา อ้อแอ้ เซไปเซมา เมื่อดื่มถึง 16 หน่วย ระดับแอลกอฮอล์อาจเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดปัญหาง่วงซึม และเมื่อดื่มถึง 24 - 32 หน่วย จะเทียบเท่าเหล้าที่มีความเข้มข้นมากกว่า 1 แบน ทำให้มีปัญหาเรื่องของหมดสติได้ และอาจทำให้เกิดการเสียชีวิต
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงสาเหตุของการดื่มเหล้าแล้วทำให้เสียชีวิต หลักๆ คือเมื่อแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงมาก มักจะเกิดการสำลักหรืออาเจียน หากปฐมพยาบาลไม่เหมาะสม โดยปล่อยนอนราบ หมดสติ ไม่ได้ปลุก หรือไม่ได้จับนอนตะแคง มีโอกาสสำลักเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
อีกส่วนคือ แอลกอฮอล์ไปกดระบบประสาท ทำให้หมดสติ บางครั้งทำให้ตัวการหายใจกับระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวไปด้วยก็เสียชีวิตได้ เวลาพบคนเมาจึงต้องพยายามปลุกให้ตื่น อย่าให้นอนหลับ ส่วนความเชื่อผิดๆ พาไปอาบน้ำ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอุณหภูมิจะยิ่งต่ำลง และห้ามดื่มกาแฟที่ส่งผลต่อระบบประสาทด้วย
แหล่งข้อมูล:
- หมอชี้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากอันตรายสูง! ยิ่งดื่มเพียว ดื่มผสม ดื่มท้องว่างยิ่งดูดซึมเร็ว. https://www.hfocus.org/content/2019/09/17786 [2019, October 16].