ดรอกซีโดปา (Droxidopa)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- ดรอกซีโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ดรอกซีโดปาอย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาดรอกซีโดปาอย่างไร?
- ดรอกซีโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ
ยาดรอกซีโดปา (Droxidopa) เป็นกรดอะมิโนสังเคราะห์ที่ร่างกายสามารถใช้เป็นสารตั้งต้น เพื่อผลิตสารสื่อประสาทเช่น Norepinephrine และ Epinephrine ทางคลินิกนำมาเป็นยารักษาอาการความดันโลหิตต่ำจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ (Neurogenic orthostatic hypo tension) ที่พบได้ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ยาดรอกซีโดปาถูกพัฒนาโดยบริษัทยา Sumitomo pharmaceuticals และเริ่มใช้ในประเทศญี่ปุ่น รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน โดยตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 90% จากนั้นยาบางส่วนจะเข้าสู่สมองและทำหน้าที่ออกฤทธิ์ในการรักษา ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงและทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมงในการกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อพึงระวังบางประการที่แพทย์มักจะนำมาประกอบการพิจารณาก่อนจ่ายยาดรอกซีโดปาเช่น
- ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือไม่
- ยานี้เหมาะกับอาการความดันโลหิตต่ำ ห้ามนำมาใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีการรับประทานยาอื่นใดอยู่ก่อนหรือไม่
- มีโรคประจำตัวอะไรอยู่บ้างเช่น โรคหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ทั้งนี้หลังการสั่งจ่ายยาดรอกซีโดปา ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาของแพทย์อย่างเคร่งครัดอาทิเช่น
- รับประทานยานี้ให้ตรงเวลา และไม่ปรับเปลี่ยนการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามบดเคี้ยวยานี้ก่อนรับประทาน ให้กลืนยาพร้อมน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสม
- ควรรับประทานยานี้ในมื้ออาหารสุดท้ายช่วงเย็นเป็นเวลามากกว่า 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอนทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงเกินไปเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย (Supine hypertension) ขณะนอน
- หากอาการไม่ดีขึ้นหลังการรับประทานยาอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มีบางกรณีที่ผู้ป่วยแพ้สีในส่วนประกอบของเปลือกแคปซูลที่บรรจุยานี้ ให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนยา
อย่างไรก็ตามระหว่างการใช้ยาดรอกซีโดปา ผู้ป่วยควรหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการความดันโลหิตสูงที่อาจเกิดขึ้นโดยกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้
ดรอกซีโดปามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาดรอกซีโดปามีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตต่ำ
ดรอกซีโดปามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาดรอกซีโดปาคือ เมื่อตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการกระจายตัวไปตามส่วนต่างๆของร่างกายและสมอง จากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้โดยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Aromatic L-amino acid decarboxylase ทำให้ยาดรอกซีโดปาเปลี่ยนเป็นสารสื่อประสาท Norepinephrine และ Epinephrine ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดเป็นผลให้ความดันโลหิตที่ต่ำกลับสูงขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ
ดรอกซีโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาดรอกซีโดปามีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 100, 200 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล
ดรอกซีโดปามีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาดรอกซีโดปามีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาเริ่มต้นครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง หลัง จากการใช้ยาไปแล้ว 1 - 2 วันแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มอีก 100 มิลลิกรัมในแต่ละมื้อของการรับประทานตามการตอบสนองต่อการใช้ยาของผู้ป่วย โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกินวันละ 1,800 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนถึงประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดรอกซีโดปา ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาดรอกซีโดปาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาดรอกซีโดปาสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาดรอกซีโดปาให้ตรงเวลา
ดรอกซีโดปามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) จากการใช้ยาดรอกซีโดปาอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายในผู้ป่วยแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป
สำหรับอาการข้างเคียงของยาดรอกซีโดปาที่พบได้บ่อยเช่น ปวดกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่นหรือคล้ายกับมีเลือดปน ขณะปัสสาวะมีอาการแสบ-ขัด ตาพร่า วิงเวียน เป็นลม ปวดหลัง กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า
มีข้อควรระวังการใช้ดรอกซีโดปาอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาดรอกซีโดปาเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยไม่ได้รับคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจเช่น หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้ที่มีภาวะเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์พยาบาลแนะนำ หากพบความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตต่ำผิดปกติ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดรอกซีโดปาด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและ ให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ดรอกซีโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาดรอกซีโดปามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาดรอกซีโดปาร่วมกับยา Ephedrine, Phenylephrine, Pseudoepheprine, Phenyl propanolamine อาจเกิดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาดรอกซีโดปาร่วมกับยา Carbidopa อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาดรอกซีโดปาด้อยลงไป กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาดรอกซีโดปาอย่างไร?
ควรเก็บยาดรอกซีโดปาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ดรอกซีโดปามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาดรอกซีโดปาที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Northera (นอร์ทีรา) | Lundbeck |
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/monograph/droxidopa.html [2015,Nov7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Droxidopa [2015,Nov7]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/203202lbl.pdf [2015,Nov7]
- http://medlibrary.org/lib/rx/meds/northera/ [2015,Nov7]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/droxidopa-index.html?filter=2&generic_only= [2015,Nov7]