ซูลินแดค (Sulindac)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ซูลินแดคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ซูลินแดคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซูลินแดคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซูลินแดคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซูลินแดคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซูลินแดคอย่างไร?
- ซูลินแดคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซูลินแดคอย่างไร?
- ซูลินแดคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- เกาต์ (Gout)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคข้อ (Joint disease)
- ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม (Osteoarthritis)
- กระดูกสันหลังเสื่อม
บทนำ
ยาซูลินแดค (Sulindac) เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบประเภท NSAIDs (Nonsteroidal anti-inflammatory drug) ถูกนำมาใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม/อักเสบ ข้ออักเสบ/ข้อเสื่อมทั้งแบบเรื้อรังและแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ยาซูลินแดคที่รับประทานเข้าไปไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที ต้องถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด จากนั้นเอนไซม์ของตับจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีได้เป็นตัวยาที่สามารถออกฤทธิ์ได้ แต่จะถูกขับออกมากับน้ำดีโดยเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร แล้วลำไส้เล็กจะดูดซึมกลับเข้าร่างกายอีกครั้ง ตัวยาจึงจะออกฤทธิ์ได้ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ข้อดีของกลไกนี้จะช่วยให้ระดับยาอยู่ในกระแสเลือดได้ยาวนานขึ้นอีกทั้งลดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เช่น การระคายเคืองในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ไปพร้อมๆกัน
สารออกฤทธิ์ของยาซูลินแดคสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานถึงประมาณ 16.4 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดออกครึ่งหนึ่งโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ขนาดรับประทานเฉลี่ยของผู้ใหญ่อยู่ที่ 150 - 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งโดยต้องรับประทานพร้อมมื้ออาหาร
ก่อนการใช้ยาประเภท NSAIDs ที่รวมถึงยาซูลินแดค แพทย์มักจะสอบถามว่ามีประวัติการแพ้ยากลุ่มนี้หรือไม่ มีโรคหัวใจ หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งยาอาจทำให้มีอาการของโรคดัง กล่าวรุนแรงมากขึ้น ยากลุ่ม NSAIDs ทั่วๆไปมักจะเป็นต้นเหตุของการทำลายตับหรือไม่ก็ตับอ่อนรวมไปถึงไต ทางคลินิกพบว่ายาซูลินแดคกลับมีผลกระทบต่อการทำงานของไตน้อยกว่ายา NSAIDs ตัวอื่นๆ นอกจากนี้ยังต้องมีข้อมูลประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติมก่อนที่จะใช้ยาซูลินแดคอีกมาก มายอาทิเช่น
- ปัจจุบันมียาอื่นที่รับประทานอยู่ก่อนแล้วหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาหรือไม่
- มีประวัติการป่วยด้วยโรคไต โรคตับ ตับอ่อนอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ โรค เบาหวาน ร่างกายมีภาวะขาดน้ำหรือมีเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหืด หรือมีประวัติติดสุราหรือไม่
- มีประวัติเพิ่งรับการผ่าตัดมาหรือไม่โดยเฉพาะการผ่าตัดหัวใจ (Bypass heart surgery)
หลังจากแพทย์พิจารณาเงื่อนไขตรวจสอบคัดกรองและมีคำสั่งจ่ายยาชนิดนี้แล้ว แพทย์อาจจะสำทับเรื่องการรับประทานยาโดยต้องรับประทานยาพร้อมดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ (240 มิลลิลิตรโดยประมาณ) หากมีอาการแพ้ยานี้ให้หยุดการใช้ยาโดยทันทีแล้วกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ยาซูลินแดคอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนหรือง่วงนอนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการข้างเคียงนี้เลยก็ได้ ประการสำคัญอย่ารับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนดให้ ห้ามรับประทานยาแอสไพรินเพิ่มเข้าไปโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคเบาหวานอาจทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการบริหารยา/ใช้ยา หากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสูงวัยจะพบอาการข้างเคียงและอาการแพ้ยาได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นโดยเฉพาะการเกิดปัญหากับไตของผู้ป่วย เป็นต้น
ยาซูลินแดคจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานด้วยตนเองโดยเด็ดขาด
ซูลินแดคมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาซูลินแดคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาอาการปวดจากโรคเกาต์ โรคข้อรูมาตอยด์
- รักษาโรคข้อสันหลังอักเสบ
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ในเด็ก
ซูลินแดคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซูลินแดคคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารโพรสตาแกลนดิน (Prostagladin) ของร่างกายที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆรวมถึงเนื้อ เยื่อข้อ ยานี้ยังออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปธาลามัสมีผลให้ลดไข้และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีการอักเสบจึงช่วยลดการอักเสบ จากกลไกนี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ซูลินแดคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซูลินแดคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 150 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
ซูลินแดคมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซูลินแดคมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับข้ออักเสบจากโรคต่างๆในผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับ ประทาน 2 ครั้ง
ข. สำหรับข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: รับประทาน 4.5 มิลลิกรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่ควรเกิน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
*อนึ่ง:
- การใช้ยานี้ในเด็กที่อายุอายุต่ำกว่า 2 ปีต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น เพราะ ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขี้น
- ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซูลินแดค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาซูลินแดคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซูลินแดคสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ซูลินแดคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซูลินแดคสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก เบื่ออาหาร เป็นตะ คริวที่ท้อง พบอาการผื่นคัน วิงเวียน ปวดศีรษะ หงุดหงิด หูอื้อ และมีอาการบวม
มีข้อควรระวังการใช้ซูลินแดคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซูลินแดคเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือมีประวัติแพ้ยาในกลุ่ม NSAIDs
- ห้ามใช้กับผู้ที่เป็นโรคหืด ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซูลินแดคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซูลินแดคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซูลินแดคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาซูลินแดคร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น Abciximab Acenocoumarol, Heparin, Warfarin อาจทำให้ฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจมีอาการข้างเคียงต่างๆตามมาโดยเฉพาะภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาซูลินแดคร่วมกับยา Digoxin อาจทำให้ระดับยา Digoxin ในกระแสเลือดเพิ่มสูง ขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะ สมเป็นกรณีๆไป
- ห้ามรับประทานยาซูลินแดคร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่ายรวมถึงถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือแม้แต่อาเจียนเป็นเลือด
- การใช้ยาซูลินแดคกับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะมีผื่นคันตามผิวหนัง หรือผู้ที่มีอาการ Stevens-Johnson syndrome จะทำให้อาการผื่นคันหรือการแพ้ทางผิวหนังกำเริบและรุนแรงขึ้น จึงไม่ควรใช้ยานี้ที่รวมถึงยา NSAIDs ตัวอื่นกับผู้ป่วยที่มีภาวะผื่นคันอยู่ก่อนหน้านี้
ควรเก็บรักษาซูลินแดคอย่างไร?
ควรเก็บยาซูลินแดคในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซูลินแดคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซูลินแดคที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clinoril (คลินอริล) | M & H Manufacturing |
Cenlidac (เซนลิแดค) | Central poly trading |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sulindac#Synthesis [2015,Aug8]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=SULINDAC [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/cdi/sulindac.html [2015,Aug8]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Clinoril/?type=brief [2015,Aug8]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00605 [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/sulindac-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug8]