โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ซึมเศร้าหลังคลอดมีสาเหตุ/อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
- ซึมเศร้าหลังคลอดมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- แพทย์วินิจฉัยซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร?
- แพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดอย่างไร?
- ซึมเศร้าหลังคลอดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ซึมเศร้าหลังคลอดรุนแรงไหม? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันเกิดซึมเศร้าหลังคลอดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- มาม่าบลู (Mama blues) หรือ เบบี้บลู (Baby blues)
- เบบี้บลูในผู้ชาย (Baby blues in men) หรือ แดดดี้บลู (Daddy blues)
- ระยะหลังคลอด (Postpartum period)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression ย่อว่า PPD/พีพีดี) คือ โรค/ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดได้ทั้งกับ “มารดา และ/หรือ บิดา(พบน้อยกว่าในมารดา)” หลังทารกคลอด หรืออาจเกิดในช่วงตั้งครรภ์ก่อนคลอดก็ได้ โดยเป็นอารมณ์ที่รุนแรงที่มักเกิดต่อเนื่องจากอาการมาม่าบลู(ในมารดา)หรือเบบี้บลูในผู้ชาย แต่เป็นอาการที่เกิดยาวนานและรุนแรงกว่า เช่น ซึมเศร้ารุนแรง, ร้องไห้โดยไร้เหตุผลบ่อย, เหนื่อยล้า หมดแรง, สับสน กระวนกระวาย, นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, ซึ่งอาการต่างๆมักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
ซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด เป็นโรค/ภาวะพบเรื่อยๆทั่วโลก ไม่ถึงกับบ่อยมาก สถิติเกิดต่างกันในแต่ละประเทศเพราะขึ้นกับ วัฒนธรรมประเพณีในการดูแลสตรีตั้งครรภ์ และคลอดบุตร, รวมถึงในการอยูร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่หรือเป็นครอบครัวเดี่ยว, การศึกษาทั่วโลกพบประมาณ 17%ของสตรีหลังคลอด, และมีรายงานพบในบิดาที่มีอาการเหล่านี้หลังทารกคลอดประมาณ 1%-26%
อนึ่ง:
- ชื่ออื่นของ ซึมเศร้าหลังคลอด เช่น Postnatal depression, *Perinatal depression(ย่อว่า PND/พีเอ็นดี, มักใช้ศัพท์นี้ในปัจจุบัน เพราะแพทย์หลายท่านเชื่อว่า อาการเหล่านี้เริ่มเกิดได้ในระยะครรภ์ก่อนคลอดจนถึงระยะหลังคลอด)
- ทุกหัวข้อในบทความนี้ ถ้าไม่ระบุว่าเป็นบิดาหรือมารดา จะหมายรวมทั้งมารดาและบิดาเพราะปัจจัยต่างๆในทุกหัวข้อจะเช่นเดียวกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องเฉพาะจึงจะระบุว่า เป็นเฉพาะมารดา หรือ เฉพาะบิดา
ซึมเศร้าหลังคลอดมีสาเหตุจากอะไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดซึมเศร้าหลังคลอด?
สาเหตุที่แน่นอนแท้จริงของซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด แพทย์ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่าน่ามาจากหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
ก. ปัจจัยทางชีวภาพ: มีหลากหลาย ที่สำคัญ เช่น
- การเปลี่ยนแปลงทั้งชนิดและระดับฮอร์โมนต่างๆอย่างรวดเร็วทั้งในช่วงก่อนคลอดและช่วงหลังคลอด
- ด้านมารดา: จากการเปลี่ยนแปลงของชนิดและระดับฮอร์โมนต่างๆที่ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และความเครียด เช่น
- ฮอร์โมนรก, เอสโตรเจน, โพรเจสเทอโรน, ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
- การได้รับยาฮอร์โมนกระตุ้นการคลอด เช่น ออกซิโทซิน
- ด้านบิดา: หลายการศึกษาพบการเปลี่ยนแปลงต่ำลงของระดับฮอร์โมนต่างๆในช่วงนี้เช่นกัน เช่น เทสทอสเทอโรน, ฮอร์โมนต่อมหมวกไตโดยเฉพาะฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติโซน)
- ด้านมารดา: จากการเปลี่ยนแปลงของชนิดและระดับฮอร์โมนต่างๆที่ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และความเครียด เช่น
- พันธุกรรมที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า, โรค/ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ อาการมาม่าบลู หรือ เบบี้บลูในผู้ชาย โดยเฉพาะที่เคยเกิดในครรภ์ก่อนๆ
- สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์, และ/หรือ ใช้สาร/ยาเสพติด
- มีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยเฉพาะกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย
- มารดา บิดา อายุน้อย มักต่ำกว่า 20 ปี
- ทารกที่เกิดมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือ พิการแต่กำเนิดซึ่งมักก่อให้เกิดความเครียดในครอบครัวโดยเฉพาะมารดาบิดา
ข. ปัจจัยทางจิตเวช: มีหลากหลายเช่นกัน เช่น
- ความเครียด
- ความวิตกกังวล
- นอนไม่หลับ, นอนน้อย
- พักผ่อนไม่พอ
- ไม่มีเวลาส่วนตัว
- ไม่มีใครเข้าใจ
- ประวัติเคยมีอาการซึมเศร้า
- เคยมีอาการ มาม่าบลู หรือ เบบี้บลูในผู้ชาย ในครรภ์ก่อนๆ
- มีวิกฤติชีวิตช่วงตั้งครรภ์ เช่น หย่าร้าง, ตกงาน, สูญเสียคนที่รักผูกพัน
- มีประสบการณ์ไม่ดี ในชีวิต, ในวัยเด็ก, และ/หรือ ในเรื่องเกี่ยวกับการมีลูก
- ปัญหาเศรษฐกิจ
- เด็กคลอดยาก, ใช้เครื่องช่วยทำคลอด
- มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
- ไม่มีน้ำนมที่เพียงพอ
- มีประสบการณ์ไม่ดี หรือ กลัว การให้นม หรือกลัวการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- มีสัมพันธ์ไม่ดีในครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างสามี-ภรรยา
- เป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต มองโลกด้านลบ
- ไม่มีคนคอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนในครอบครัว และเพื่อน
- ไม่อยากมีลูกตั้งแต่แรก หรือ ไม่พร้อมที่จะมีลูก
- มีความรุนแรงในครอบครัว
- ไม่มีความมั่นใจ กลัวมาก ในการดูแลทารก
- ตั้งเป้าหมายสูงมากในการ เป็นแม่ เป็นพ่อ
ซึมเศร้าหลังคลอดมีอาการอย่างไร?
อาการซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอดมีหลากหลายอาการ ทั่วไปเป็นอาการเกิดหลังคลอด แต่หลายคนอาจเกิดในช่วงก่อนคลอด, ซึ่งลักษณะ/รูปแบบอาการที่สำคัญของโรค เช่น
- อาการผิดปกติต่างๆจะรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, ต่อคนในครอบครัวที่รวมถึงสามีหรือภรรยา, และยังกระทบกับทารก เช่น ทารกไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
- อาการฯต่อเนื่องเป็นอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- อาการฯมักเกิดได้ตั้งแต่ ช่วงก่อนคลอด, แต่ทั่วไปประมาณ 2-4สัปดาห์หลังคลอด(แต่เมื่อเกิดกับบิดา อาจเกิดช่วง 3-6 เดือนหลังคลอด) แต่ในบางคนอาจนานถึง 1ปีหลังคลอดก็มีรายงานซึ่งขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของคนๆนั้น
อาการฯต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ แต่ละวันความรุนแรงของแต่ละอาการฯไม่เท่ากัน และความรุนแรงอาจค่อยๆเกิด ไม่รุนแรงทันที, ซึ่งอาการฯต่างๆ เช่น
- มีอาการของมาม่าบลูหรือเบบี้บลูในผู้ชายต่อเนื่องนานมากกว่า 2 สัปดาห์
- รู้สึกเศร้าต่อเนื่อง ไม่สดชื่น ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว อ้างว้าง ตัวคนเดียว ไม่มีใครช่วยเหลือ ไม่มีใครสนใจ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ตลอดเวลา
- กลางวันง่วงนอนมาก กลางคืนนอนไม่หลับ
- ไม่สนใจ ไม่รักลูกเท่าที่ควร
- ขาดความสนใจ ไม่อยากเกี่ยวข้องกับใครๆ รวมถึงสามีหรือภรรยา
- อารมณ์แปรปรวน สะเทือนใจต่อคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นเกินปกติ
- ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจไม่ได้ ไม่เหมือนเดิม
- โกรธง่าย
- คิดหมกมุ่นถึงการจะเลี้ยงลูก หรืออยากทำร้ายลูก หรืออยากให้ลูกตาย
- รู้สึกผิด กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดีเท่าที่ควร กลัวเป็นแม่/เป็นพ่อที่ดีไม่ได้
- กลัวตกงาน
- ต้องการเวลาส่วนตัว หาเวลาส่วนตัวไม่ได้ อยากพัก
- ในบิดาที่พบต่างจากในมารดาได้ เช่น
- บ้าทำงานหามรุ่งห้ามค่ำ ร่วมถึงในกิจกรรมที่ชอบ จนไม่มีเวลาช่วยดูแลทารกและดูแลภรรยา
- ก้าวร้าวมากขึ้น
- ทำตัวเหินห่างจาก ภรรยา ทารก และครอบครัว
- ชวนทะเลาะ, ชอบเยาะเย้ย ถากถาง
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อตั้งครรภ์และอยู่ในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง และโดยเฉพาะเมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้ออาการฯ' ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์และปรึกษาจิตแพทย์เสมอ เพราะโรคนี้จำเป็นต้องรักษา เพราะส่งผลกระทบต่อทั้ง มารดา ทารก สามี และครอบครัว และในบางคนถึงแม้จะเป็นส่วนน้อยที่อาการอาจรุนแรงจนถึงทำร้ายทารกจนเกิดอันตรายต่อทารก มีรายงานถึงขั้นทารกเสียชีวิตได้
แพทย์วินิจฉัยซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัย ซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด ได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติตั้งครรภ์ ประวัติคลอด ประวัติคนมีอาการนี้ในครอบครัว ความเป็นอยู่/ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับทารก และระหว่างสามี-ภรรยา
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจต่างๆทางจิตเวชซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของจิตแพทย์
- อาจมีการตรวจภาพสมองด้วยซีทีสแกน (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) และ/หรือเอมอาร์ไอ ซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของจิตแพทย์เช่นกัน
แพทย์รักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดอย่างไร?
แนวทางการรักษาซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ การรักษาทางจิตเวช, ร่วมกับการ ดูแลตนเอง
ก. การรักษาทางจิตเวช:
- ใช้วิธีรักษาเฉพาะทางจิตเวชเพื่อ ปรับทัศนคติในการใช้ชีวิต การรู้จักคิด การปรับตัว การให้อภัย การยอมรับ การเผชิญความเศร้า การลดความเครียด วิตกกังวล การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เช่น วิธีดูแลรักษาที่เรียกว่า
- Cognitive behavioral therapy (CBT)
- Interpersonal psychotherapy (IPT)
- Psychodynamic therapy และ
- อาจร่วมกับหัตถการทางการแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าคลื่นสมองเพื่อให้เกิดสมดุลของสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า Electroconvulsive therapy (ECT)
- ใช้ยาต่างๆ: เช่น ยาต้านเศร้า เช่น ยาในกลุ่มปรับสมดุลของสารสื่อประสาทชนิด เซโรโทนิน ที่ชื่อ Selective serotonin reuptake inhibitors ย่อว่า เอสเอสอาร์ไอ/SSRIs
ข. การดูแลตนเอง:ทั่วไป เช่น
- เข้าใจถึงสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการฯต่างๆ
- พักผ่อนให้เต็มที่ นอนหลับให้ได้มากที่สุด ฝึกนอนไปพร้อมๆกับทารก
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในทุกมื้ออาหาร
- หาเวลาออกกกำลังกาย โดยเฉพาะที่ทำได้ในบ้าน
- ดูแลสุขภาพกายและใจด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- หาคนช่วยทำงานบ้านหรืองานที่ไม่จำเป็น ไม่จำต้องทำคนเดียวหรือทำอย่างที่เคยทำทุกอย่าง เช่น ทำความสะอาดบ้าน ช่วยทำครัว ช่วยดูแลทารกในบ้างช่วงเวลา ช่วยซื้อของใช้
- ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ความไม่คุ้นเคย ความยากลำบาก ที่เกิดขึ้น พูดคุย ระหว่างสามี-ภรรยา-คนในครอบครัว เพื่อนที่ไว้ใจได้ หัวหน้างาน ถึงสิ่งที่เราอยากให้ช่วย สิ่งที่เรากลัว กังวล
- พูดคุยกับคุณแม่ที่คลอดลูกใกล้ๆกันที่ไว้ใจได้ เช่น เพื่อนที่พบเมื่อไปหาหมอด้วยกัน
- พูดคุย ปรึกษา กับพยาบาลที่ดูแลลูกทั้งในช่วงฝากครรภ์ ช่วงคลอดบุตร หรือช่วงหลังคลอด
- หาเวลาส่วนตัว ปรึกษาสามี/ภรรยาและครอบครัวให้เข้าใจ ไม่ต้องเป็นมารดา/บิดา/ภรรยา/สามีที่สมบูรณ์แบบ เช่น เดินห้าง เสริมสวย กินข้าวนอกบ้านกับเพื่อน ออกกำลังกายกลางแจ้ง อาจไปกับลูก สามี/ภรรยา เพื่อน และ/หรือคนในครอบครัว
- เมื่อโรงพยาบาลจัดกลุ่มเพื่อดูแลกันในสตรีหลังคลอด ควรเข้าร่วมด้วย
- เข้าใจ และยอมรับว่า ชีวิตต้องมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่นี้ไป ปรึกษากับสามี/ภรรยาในการจะดำเนินชีวิตกันอย่างไรเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั้งในฐานะสามีภรรยา, คู่ชีวิต, พ่อ-แม่-ลูก, ค่าใช้จ่าย, การวางแผนในอนาคตโดยเฉพาะในระยะใกล้ๆ
- อย่าเก็บความกลัว ความกังวล ความเศร้าไว้กับตัว ต้องมีคนที่ไว้ใจได้ พูดคุย/ปรึกษาได้
- ไม่ตั้งความหวังสูงในทุกเรื่อง
- คิดในด้านบวก พยายามเข้าใจ สามี/ภรรยา, ครอบครัว, ปรึกษา, ปรับตัว, ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ
- ไม่แก้ไข/ระบายอารมณ์ด้วย การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สาร/ยาเสพติด ไปในที่อโคจร การเข้าหาอบายมุข
- พบจิตแพทย์เสมอ เมื่อเริ่มรู้สึก 'ตัวคนเดียว ไม่มีใครเข้าใจ'
ซึมเศร้าหลังคลอดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงของซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด เช่น
ก. ผลข้างเคียงต่อตนเองและสามี: มีปัญหาในการดูแลตนเอง และต่อความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต จนอาจนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้าง
ข. ผลข้างเคียงต่อครอบครัว คนรอบข้าง และที่ทำงาน: ผลกระทบต่อการงาน จนอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ
ค. ผลข้างเคียงต่อลูก/ทารก:
- ทารกไม่ได้รับการดูแลทั้งร่างกาย (เช่น การให้นม) สุขอนามัย และด้านจิตใจ/ความอบอุ่นจากการสัมผัสจากมารดา/บิดาที่จะส่งผลถึงเด็กเมื่อโตขึ้น ที่มักจะเข้ากับผู้อื่นได้ยากและมักก้าวร้าว, สติปัญญาและการปรับตัวด้อยกว่าเกณฑ์, มีปัญหาในการเรียน, ไม่มีสมาธิ, มีปัญหาในการเข้าใจ, มีปัญหากับเพื่อน, กับครู, มีแนวโน้มเป็นเด็กเกเร, มีแนวโน้มมีอาการทางจิตเวช, เข้าหาอบายมุขได้ง่าย, วิตกกังวล, เครียด, และอาจถึงขั้นซึมเศร้า
ง. เมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์/จิตแพทย์ โรคอาจพัฒนารุนแรงขึ้นมากถึงขั้นเป็นโรคจิตหลังคลอด(Postpartum psychosis)ซึ่งสถิติพบได้ประมาณ 1-2รายต่อมารดา-บิดา 1,000 คน
ซึมเศร้าหลังคลอดรุนแรงไหม? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ซึมเศร้าหลังคลอดจัดเป็นโรครุนแรงที่ต้องรักษาด้วยจิตแพทย์ อย่างไรก็ตามการพยากรณ์โรคที่ได้รับการรักษาจากจิตแพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดี แต่ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยเอง คู่ชีวิต และครอบครัว, ผู้ป่วยจะกลับมาใช้ชีวิต และตั้งครรภ์ใหม่ได้ตามปกติ รวมถึง ทารกจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวางแผนตั้งครรภ์ใหม่ ควรรีบอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์ ต้องแจ้งแพทย์ พยาบาลว่า ตนเคยมีอาการโรคซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน เพราะการตั้งครรภ์ครั้งใหม่เป็นปัจจัยสำคัญของการกลับมาเกิดซ้ำของโรคซึมเศร้าหลังคลอด
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเกิดซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด เช่นเดียวกับได้กล่าวแล้วใน 'หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ข.'
ป้องกันเกิดซึมเศร้าหลังคลอดอย่างไร?
การป้องกันเกิดซึมเศร้าหลังคลอด/โรคซึมเศร้าหลังคลอด: เช่น
- ควรต้องปรึกษาแพทย์/จิตแพทย์ตั้งแต่วางแผนมีบุตรโดยเฉพาะในมารดา/บิดาที่เคยมีอาการนี้, อาการมาม่าบลู หรือ อาการเบบี้บลูในผู้ชาย หรือ มีคนในครอบครัวมีอาการนี้/อาการทางจิตเวช
- ควรรู้จักดูแลตนเอง โดยเฉพาะความเข้าใจกันกับคู่ชีวิต ช่วยเหลือกันในระหว่างคู่ชีวิต และควรมีความพร้อมที่จะมีบุตรรวมถึงในด้านเศรษฐกิจ
- เข้าใจ ปรับตัว แสวงหาความช่วยเหลือเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์ และในช่วงตั้งครรภ์
- เมื่อรู้สึกมีอาการทางอารมณ์มากผิดปกติในช่วงเตรียมตั้งครรภ์ หรือในช่วงตั้งครรภ์, ควรรีบพบแพทย์/จิตแพทย์ หรือ พบก่อนนัด
- บางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยาปรับสมดุลสารเคมี/สารสื่อประสาทในสมอง เช่น ยาต้านเศร้า ซึ่งต้องกินยาให้ถูกต้องครบถ้วนตามแพทย์แนะนำ, ไม่หยุดยาเองเมื่ออาการดีขึ้น
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Postpartum_depression [2022,Dec3]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5799244/ [2022,Dec3]
- https://www.nhs.uk/mental-health/conditions/post-natal-depression/overview/ [2022,Dec3]
- https://www.nimh.nih.gov/health/publications/perinatal-depression [2022,Dec3]
- https://www.womenshealth.gov/mental-health/mental-health-conditions/postpartum-depression [2022,Dec3]
- https://www.psychiatry.org/patients-families/postpartum-depression/what-is-postpartum-depression [2022,Dec3]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5941764/ [2022,Dec3]
- https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0231940 [2022,Dec3]
- https://health.clevelandclinic.org/yes-postpartum-depression-in-men-is-very-real/ [2022,Dec3]