ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์อนควรทำอย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์อย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซีลีเนียม ซัลไฟด์อย่างไร?
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รังแค ขี้รังแค (Pityriasis sicca หรือ Dandruff หรือ Pityriasis capitis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
บทนำ
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์(Selenium sulfide) หรือจะเรียกอีกชื่อว่า ซีลีเนียม ไดซัลไฟด์(Selenium disulfide) สูตรทางเคมีคือ S2Se สารประกอบ/ยานี้มีคุณสมบัติเป็นยาต้านเชื้อรา จึงสามารถนำมาใช้ลดอาการคันทางผิวหนัง บำบัดรังแค และรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม /โรคเซบเดิร์ม(Seborrheic dermatitis)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่พบเห็นของยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ เป็นพวกโลชั่นทาผิวหนัง และแชมพูสระผม แนวทางการใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์ในการรักษาโรคหรืออาการทางผิวหนังจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักวิชาการ หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ เภสัชกร เพราะมีข้อระวังปลีกย่อยที่ต้องคำนึงและปฏิบัติตาม ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ตรงบริเวณผิวหนังที่เป็นบาดแผลเปิด หรือ บาดแผลที่มีเลือด/น้ำเหลืองไหลซึมอยู่ตลอดเวลา
- ห้ามให้ยาเข้าปากหรือเข้าตา
- ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- หลักเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์บริเวณ ใบหน้า และ อวัยวะเพศ
- หลังการใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ชโลม/ขยี้/ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรค จะต้องชะล้างออกให้หมดเกลี้ยง ไม่ให้หลงเหลือ หรือตกค้าง บนผิวหนัง
การใช้ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ ยังต้องพิจารณาเรื่องผลข้างเคียงบางอย่างว่า รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใดหรือไม่ อาทิ มีอาการผมร่วง, เกิดภาวะผิวหนังแห้ง/ ผิวแห้ง, หรือ เกิดภาวะผิวมันตามมา
องค์การอนามัยโลก ได้ระบุให้ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ เป็นหนึ่งในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย อย.ของไทยได้กำหนดให้สารประกอบซีลีเนียม ซัลไฟด์สามารถเตรียมเป็นยาใช้เฉพาะที่ภายนอกผิวหนังของร่างกายเท่านั้น และในประเทศเราจะพบเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ ตามสถานพยาบาลต่างๆและสามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้กำจัดเชื้อราบริเวณผิวหนังที่เป็นสาเหตุของ รังแค และ โรคเซบเดิร์ม
- ใช้รักษาเกลื้อน(Tinea versicolor)ที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ จะออกฤทธิ์ต่อเชื้อรา โดยสารประกอบชนิดนี้จะเข้าไปยับยั้งหรือ ลดอัตราการเชื่อมต่อของ DNA nucleotide อย่างเช่น Thymidine ทำให้การจำลอง หรือการสังเคราะห์ DNA ชุดใหม่ของเชื้อราชะลอตัวลง กลไกดังกล่าวนี้เองส่งผลให้เซลล์ ของเชื้อราที่ก่อโรคไม่สามารถแบ่งตัว หมดสภาพในการเพิ่มจำนวน จึงเป็นเหตุให้รังแค และโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์มมีอาการทุเลาเป็นลำดับ
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- แชมพูสระผม ที่มีส่วนประกอบของ Selenium sulfide 2.5%
- ในต่างประเทศ สามารถพบเห็นรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น โลชั่นที่มีความเข้มข้น ของ Selenium sulfide 1% และ 2.5%
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับรักษารังแคและโรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม:
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 5–14 ปี: ใช้แชมพูหรือโลชั่น(1%)ถูนวดบนหนังศีรษะที่เปียกน้ำ ทิ้งระยะเวลา 2–3 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนเกลี้ยง ควรใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์เพื่อรักษาผิวหนังที่เกิดโรคสัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
ข. สำหรับรักษาเกลื้อน:
- ผู้ใหญ่: ทาโลชั่น(2.5%)บริเวณผิวหนังที่เป็นเกลื้อน ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด วันละครั้งเป็นเวลาต่อเนื่อง 7 วัน
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ ซีลีเนียม ซัลไฟด์ เป็นปริมาณมาก หรือ นานเกินข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา หรือตามแพทย์สั่ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็ก ต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์ควรทำอย่างไร?
กรณีลืมใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์นี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ผลิตภัณฑ์ในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้เป็น 2 เท่า ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขนาดปกติเท่านั้น
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ มีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- สามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอวัยวะเพศและผิวหนังที่มีลักษณะปริแตก
- และการใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์สระผม อาจทำให้ สีผมเปลี่ยนไป หรือเกิดภาวะผมร่วงตามมา
มีข้อควรระวังการใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์
- ห้ามใช้กับบริเวณผิวหนังที่เป็นบาดแผลฉีกขาด/ แผลเปิด หรือบริเวณผิวหนังที่มีอาการอักเสบอย่างรุนแรง
- ระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก การใช้ซีลีเนียม ซัลไฟด์กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามรับประทานหรือให้ยาเข้าตา
- ใช้ผลิตภัณฑ์/ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ตรงตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา หรือ เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ทันที เมื่อพบอาการแพ้เกิดขึ้น เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หรือมีอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เป็นต้น
- ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์นี้ ควรถอดเครื่องประดับต่างๆ อาทิสร้อยคอที่เป็นโลหะต่างๆ อย่างเช่น ทอง เงินหรือโลหะอื่นๆ
- หลังการใช้ผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ แล้วอาการโรคไม่ดีขึ้น ผู้ป่วย/ผู้บริโภค ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์/ยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ ถูกออกแบบมาให้ใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาซีลีเนียม ซัลไฟด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาซีลีเนียม ซัลไฟด์ เช่น
- เก็บผลิตภัณฑ์ซีลีเนียม ซัลไฟด์ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์นี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ฯที่หมดอายุ
- เก็บผลิตภัณฑ์ฯในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์ลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
ซีลีเนียม ซัลไฟด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซีลีเนียม ซัลไฟด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Selfide (เซลไฟด์) | T. O. Chemicals |
Sellon (เซลลอน) | Unison |
Selsun (เซลซัน) | Famar Nederland BV |
บรรณานุกรม
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/selenium-sulfide-topical-route/proper-use/drg-20065908 [2019,March25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Selenium_disulfide [ [2019,March25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/selenium%20sulfide/?type=brief&mtype=generic [2019,March25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/selfide/?type=brief [2019,March25]
- https://www.drugs.com/uk/selsun-shampoo-2-5-leaflet.html [2019,March25]