ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน (Silver sulfadiazine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างไร?
- ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ซัลฟา (Sulfa drugs) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- การแพ้ยากลุ่มซัลฟา (Sulfa Drug Allergy)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ยารักษาแผลไหม้ (Drugs in burns)
บทนำ
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน(Silver sulfadiazine) เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้เฉพาะที่ ถูกค้นพบเมื่อปีค.ศ.1960(พ.ศ.2503) มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก(Gram+)และแกรมลบ(Gram-) รวมถึงยีสต์(Yeast) ทางคลินิกได้นำยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมาทำสูตรตำรับยาครีมที่มีความเข้มข้น 1% เพื่อ ใช้รักษาแผลไหม้หรือแผลไฟไหม้ในระดับความรุนแรง2และ3 ตัวยานี้จะช่วยป้องกันและบำบัดการ ติดเชื้อที่บาดแผล
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ไม่เหมาะที่ใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มยาซัลฟา(Sulfa drug) รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เด็กทารก ทั้งนี้มาจากเหตุผลที่ว่า ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์(Sulfonamides)/กลุ่มซัลฟา สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดอาการตัวเหลืองจนอาจเป็นอันตรายต่อสมอง(Kernicterus)ได้
การใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนที่ผิดวิธี เช่น ทายาบนผิวหนังเป็นบริเวณกว้างและใช้ปริมาณมาก จะเป็นเหตุให้เกิดการดูดซึมยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนเข้าสู่ร่างกายได้มากและเกิดความผิดปกติของไขกระดูก/ของเลือด เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวน้อย รวมถึงอาการผิดปกติของผิวหนังอย่างเช่น Stevens-Johnson syndrome มีภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เกิดภาวะไตเสื่อม/ไตอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะติดเชื้อราตามมา
ดังนั้นก่อนการใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรให้ข้อมูลกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ถึงประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการแพ้ยาโดยละเอียด นอกจากนั้น การเรียนรู้วิธีการใช้ครีมยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างถูกต้อง เป็น เรื่องที่ควรศึกษาเพื่อป้องกันการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป และยังช่วยป้องกันการปนเปื้อนต่างๆของบาดแผลรวมถึงการปนเปื้อนของตัวผลิตภัณฑ์ด้วย
ผู้ป่วยต้องใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนจนครบคอร์ส(Course) การรักษาโดยทายานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด จึงจะทำให้อาการของแผลไหม้กลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว
การใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ต้องระวังมิให้ยาเข้าตา เข้าปาก หรือเข้าจมูก กรณีพบเหตุการณ์ยานี้สัมผัสกับอวัยวะดังกล่าว ให้รีบใช้น้ำสะอาดล้างออกทันที หรือกรณีพบเหตุการณ์ผู้ป่วยกลืนยานี้ลงกระเพาะอาหาร ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้แพทย์ช่วยเหลือโดยเร็ว
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่ได้รับยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน อาการของแผลไหม้จะค่อยๆดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน หากพบว่าการใช้ยานี้กลับทำให้อาการบาดแผลแย่ลงกว่าเดิมหรือเกิดการติดเชื้อราซ้ำซ้อนเพิ่มมากขึ้น ให้หยุดการใช้ยานี้แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
การทายาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน อาจพบผลข้างเคียงทางผิวหนังได้บ้าง เช่น มีอาการปวดแสบ-คันเล็กน้อยที่ผิวที่สัมผัสยานี้ รวมถึงอาจทำให้สีผิวซีดจางลงไป *กรณีที่หลังใช้ยานี้แล้วพบอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงรุนแรง เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ปากบวม ใบหน้าบวม ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีไข้ ให้ตั้งสมมติฐานว่าผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นแล้ว การช่วยเหลือคือ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับประชาชน ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขก็กำหนดให้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนเป็นหนึ่งรายการในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนได้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน หรืออาจซื้อหาได้จากร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป และหาผู้บริโภคมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้เพิ่มเติม ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ เป็นยาครีมที่ใช้ทาเพื่อบำบัดและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในบริเวณแผลไหม้ หรือแผลไฟไหม้ ตามร่างกาย
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ผนังเซลล์และเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดรอยรั่วที่ผนังเซลล์และที่เยื่อหุ้มเซลล์แบคทีเรีย จนทำให้การทำงานของเอนไซม์และสารพันธุกรรมในแบคทีเรียเสียสมดุล ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาครีมที่ประกอบด้วยตัวยา Micronized(ทำให้มีสภาพละเอียด) silver sulfadiazine ขนาดความเข้มข้น 1%
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาเพียงบางๆ หรือมีความหนาของผิวยา 2 – 4 มิลลิเมตร วันละ 1ครั้ง กรณีที่บาดแผลรุนแรง แพทย์อาจเพิ่มความถี่การใช้ยาเป็นวันละ 2 ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ก่อนการใช้ยานี้ควรศึกษาขั้นตอนการใช้อย่างละเอียดจากเอกสารกำกับยานี้ เช่น ล้างมือก่อนและหลังใช้ยานี้
- ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณที่ทายา นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ทายานี้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ จะทำให้อาการบาดแผลดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน และหลีกเลี่ยงการลืมทายา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น มีโรคผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกแสบร้อนบริเวณผิวหนังที่ทายา
- ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง
- ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ ไตเสื่อม/ไตอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิด ผิวหนังตาย และ/หรือสีผิวซีดจาง ในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยานี้ ผื่นคัน ภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดผลึกยาซัลฟาในปัสสาวะจนอาจทำเกิดอาการปัสสาวะขัด
มีข้อควรระวังการใช้ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามรับประทาน ห้ามมิให้ยานี้สัมผัสกับตา หรือเข้าปาก เข้าจมูก
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากลักษณะเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
- ห้ามใช้ยานานเกินจากคำสั่งแพทย์
- หากหลังการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน หรืออาการเลวลง ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็ว เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการแพ้ยา โดยสังเกตจาก อาการอึดอัด/แน่นหน้าอก /หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-ลิ้นบวม เกิดผื่นคันตามร่างกาย หากพบอาการเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนร่วมกับยาทาเฉพาะที่ Prilocaine อาจทำให้ เกิดภาวะ Methemoglobinemia(ภาวะผิดปกติในการทำงานของเม็ดเลือดแดง)ที่ทำให้ประสิทธิภาพการนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณที่สัมผัสกับตัวยานี้ ทำได้น้อยลงจนเนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจตายได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนร่วมกับยาทาเฉพาะที่ Papain ด้วย จะทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยา Papain ด้อยลงไป
- ห้ามใช้ยาทาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนร่วมกับยา Methenamine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วย ได้รับผลขางเคียงจากยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมากขึ้น
ควรเก็บรักษาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนอย่างไร?
ควรเก็บยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และห้ามเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซิลเวอร์ซัลฟาไดอะซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dermazin (เดอร์มาซิน) | Sandoz |
Flamazine (ฟลามาซีน) | Smith & Nephew |
Silverderm (ซิลเวอร์เดอร์ม) | T. O. Chemicals |
Silverol (ซิลเวอรอล) | Teva |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Silvadene, Silverex, Silvazine, Flamazine, Thermazene, BurnHeal, and SSD
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/pro/silver-sulfadiazine-cream.html [2017,Feb11]
- https://www.drugs.com/cdi/silver-sulfadiazine.html [2017,Feb11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Silver_sulfadiazine [2017,Feb11]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/183#item-9002 [2017,Feb11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/silver%20sulfadiazine/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb11]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/dermazin/?type=brief [2017,Feb11]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/silver-sulfadiazine-topical-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb11]
- https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/4900.pdf [2017,Feb11]