ซิมพาโธไลติก (Sympatholytic) หรือซิมพาโธพลีจิก (Sympathoplegic)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิมพาโธไลติก (Sympatholytic drug หรือ Sympatholytic agent) หรือ ซิมพาโธพลีจิก (Sympathoplegic drug หรือ Sympathoplegic agent) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) ซึ่งคอยควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของอำนาจจิตใจเช่น ต่อมน้ำตา เยื่อบุโพรงจมูก เพดานปาก ต่อมน้ำลาย (เช่น ต่อมพาโรติด/Parotid gland) หัวใจ กล่องเสียงและฝาปิดกล่องเสียง หลอดลม กระเพาะอาหาร รวมถึงหลอดเลือดที่มาเลี้ยงในบริเวณช่องท้อง ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไต กระเพาะปัสสาวะ และอื่นๆ

กลุ่มยาซิมพาโธไลติกมีข้อบ่งใช้ (สรรพคุณ) และประโยชน์ทางคลินิกเป็นอย่างมากอาทิ

  • ใช้เป็นยารักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Antihypertensive)
  • ใช้รักษาอาการโรควิตกกังวล (Anxiety)
  • บำบัดภาวะ/อาการตื่นตระหนก (Panic disorder)
  • บำบัดอาการผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดจากได้รับเรื่องที่สะเทือนใจ (Post traumatic stress disorder)

นักวิทยาศาสตร์พบว่าหมวดของกลุ่มยาซิมพาโธไลติกมีหลายชนิด/หลายหมวด/หลายประเภท โดยใช้กลไกการออกฤทธิ์หรือตำแหน่งของตัวรับ (Receptors) ที่อยู่ประจำในอวัยวะต่างๆของร่างกายเป็นตัวบ่งบอกหมวดของยา ซึ่งอาจแบ่งยาซิมพาโธไลติกออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้

ก. Alpha1 antagonist หรือ Alpha-adrenergic blocking agent: มีการออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับที่มีชื่อว่า Alpha1-adrenergic receptors ตัวรับเหล่านี้จะพบอยู่ตามหลอดเลือดแดง กล้ามเนื้อเรียบ สมอง หรือเนื้อเยื่อของประสาทส่วนกลาง ประโยชน์ทางคลินิกคือ

  • รักษาอาการต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia) เช่น ยา Silodosin
  • รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่เกิดกับผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต เช่น ยา Prazosin

ข. ACE inhibitor หรือ Angiotensin-converting enzyme inhibitor: กลุ่มยานี้ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย บำบัดโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน เช่น ยา Rescinnamine

ค. VMAT inhibitor หรือ Vesicular monoamine transporter inhibitor: เป็นยาที่รบกวนและยับยั้งการขนส่งสารสื่อประสาทต่างๆเช่น Norepinephrine, Serotonin และ Dopamine ในเซลล์ประสาท ประโยชน์ทางคลินิกที่พบเห็นคือ ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตเช่น ยาReserpine

ง. Imidazoline receptor agonist: เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมองใช้ลดความดันโลหิตโดยไม่ทำให้ง่วงนอน และตัวยาออกฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทน้อยมากเช่น ยา Rilmenidine

จ. Alpha3 beta4 nicotinic receptor antagonist: มีการออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงาน ที่บริเวณปมประสาท (Ganglion-blocking) นักวิทยาศาสตร์ได้เลือกใช้ยาบางตัวในกลุ่มนี้มารักษาอาการความดันโลหิตสูงได้เช่นกันเช่น ยา Mecamylamine

ฉ. Ganglion type receptor antagonist: ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัต โนมัติทั้งชนิดซิมพาเทติก (Sympathytic) และชนิดพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ลักษณะการออกฤทธิ์จะเป็นการแย่งเข้าจับกับตัวรับที่บริเวณปมประสาท ยาบางตัวของกลุ่มนี้ถูกนำมาใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (Hypertensive crisis) รวมถึงภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพอง เช่น ยา Trimetaphan

ช. Beta blockers: ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังนำมาบำบัดอาการวิตกกังวลอีกด้วย ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับที่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันเล็กน้อยเช่น Beta1 receptor, Beta2 receptor และ Beta3 receptor ซึ่งยากลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มยาที่ยังมีใช้ทางการแพทย์อยู่หลายรายการเช่น ยา Alprenolol, Bucindolol, Nadolol, Propranolol, Sotalol, Acebutolol, Atenolol, Betaxolol, Bisoprolol, Celiprolol, Esmolol, Metoprolol

จากที่กล่าวข้างต้นเป็นภาพรวมอย่างคร่าวๆที่ทำให้เห็นหมวดของยากลุ่มซิมพาโธไลติก ซึ่งยาแต่ละประเภทมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ผู้อ่านบทความสามารถหารายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน วิกิยาของเว็ปไซด์ หาหมอ.com

ซิมพาโธไลติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซิมพาโธไลติก

อาจแบ่งสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาซิมพาโธไลติกตามสรรพคุณที่ใช้กันเป็นส่วนมากดังนี้

  • บำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • บรรเทาและบำบัดอาการโรควิตกกังวล

ซิมพาโธไลติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สามารถกล่าวถึงกลไกการออกฤทธิ์ในภาพรวมของยาซิมพาโธไลติกได้ดังนี้

ก. ด้านความดันโลหิตสูง: ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้หลายตำแหน่งในร่างกายเช่น

1. มีการออกฤทธิ์ที่สมองอาทิ

1.1 กลุ่ม Alpha1 antagonist เช่น ยา Prazosin

1.2 กลุ่ม ACE inhibitor เช่น ยา Rescinnamine

1.3 กลุ่ม VMAT inhibitor เช่น ยา Reserpine

1.4 กลุ่ม Imidazoline receptor เช่น ยา Rilmenidine

2. ปิดกั้นการทำงานในบริเวณปมประสาท (Ganglion blocking) อาทิ

2.1 กลุ่ม Alpha3 beta4 nicotinic receptor antagonist เช่น ยา Mecamylamine

2.2 กลุ่ม Ganglion type receptor antagonist เช่น ยา Trimethaphan

3. ออกฤทธิ์บริเวณประสาทส่วนปลาย (Peripherally acting) อาทิ

3.1 กลุ่ม Alpha1 antagonist เช่น ยา Indoramin

3.2 กลุ่ม Alpha blocker เช่น ยา Doxazosin

4. ออกฤทธิ์ที่ตัวรับชนิดเบต้า

4.1 Beta blocker เช่น ยา Alprenolol, Bucindolol, Carteolol, Carvedilol, Labetalol, Nadolol, Penbutolol, Pindolol, Propranolol, Sotalol, Timolol, Acebutolol, Atenolol, Betaxolol, Bisoprolol, Celiprolol, Esmolol, Metoprolol, Nebivolol

ข. ด้านภาวะ/โรควิตกกังวล: จะใช้ยาซิมพาโธไลติกอยู่ 2 กลุ่มคือ

  • Beta blocker: กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Beta blockers ในด้านคลายความวิตกกังวลยัง ไม่ทราบแน่ชัด มักใช้บำบัดอาการในกลุ่มนักแสดง นักดนตรี นักพูด เช่น ยา Propanolol
  • Alpha blocker: มักจะเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับในสมองส่งผลให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆ ตัวอย่างยาในกลุ่มเช่น ยา Clonidine และ Guanfacine

ซิมพาโธไลติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิมพาโธไลติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาชนิดรับประทานทั้งชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล และ
  • ยาฉีด

ซิมพาโธไลติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยา/บริหารยาซิมพาโธไลติกสำหรับอาการป่วยขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ความรุนแรงของโรค อายุ เพศ ประวัติการแพ้ยา รวมถึงมีโรคประจำตัวอะไร จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องใช้ยากลุ่มนี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัดเป็นกรณีแต่ละบุคคลไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซิมพาโธไลติก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิมพาโธไลติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิมพาโธไลติกสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาซิมพาโธไลติกตรงเวลา

ซิมพาโธไลติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาในกลุ่มซิมพาโธไลติกสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) ต่อสมองเช่น ง่วงนอน ซึม และความดันโลหิตต่ำ สมรรถภาพทางเพศถดถอยโดยเฉพาะกับบุรุษเพศ ปัสสาวะขัด ท้องผูก ปากแห้ง อาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน และเป็นลม

มีข้อควรระวังการใช้ซิมพาโธไลติกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิมพาโธไลติกเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มซิมพาโธไลติก
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น อึดอัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนัง แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่น การพักผ่อน การรับประทานอาหาร มีประโยชน์ 5 หมู่ การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มซิมพาโธไลติกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซิมพาโธไลติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิมพาโธไลติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การรับประทานยาซิมพาโธไลติกร่วมกับยาหรืออาหารเสริมที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบหลักเช่น ยา Potassium citrate อาจส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การรับประทานยาซิมพาโธไลติกร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Aspirin หรือยากลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen อาจจะส่งผลทำให้ฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตของยาซิมพาโธไลติกด้อยประสิทธิภาพลงไปจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาซิมพาโธไลติกร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยจะรู้สึกวิงเวียนจนถึงขั้นเป็นลม จึงห้ามรับประทานร่วมกัน

ควรเก็บรักษาซิมพาโธไลติกอย่างไร?

ควรเก็บยาซิมพาโธไลติกตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซิมพาโธไลติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิมพาโธไลติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Capril (คาพริล) Boryung Pharma
Epsitron (แอพซิทรอน) Remedica
Gemzil (เจมซิล) Pharmasant Lab
Tensiomin (เทนซิโอมิน) Egis
Anapril (อะนาพริล) Berlin Pharm
Brevibloc (เบรวิบล็อก) Baxter Healthcare
Caraten (คาราเทน)Berlin Pharm
Dilatrend (ไดลาเทรน) Roche
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) T. O. Chemicals
Cardoxone R (คาร์ดอซอน อาร์) Remedica
Meloc (เมล็อก) T. Man Pharma
Melol (เมลอล) Pharmasant Lab
Metoblock (เมโทบล็อก) Silom Medical
Betapace (เบตาเพส) Bayer
Sorine (โซรีน) UPSHER-SMITH LABORATORIES, INC
Sotacor (โซตาคอร์) FARMEA
Bedin (เบดิน) Central Poly Trading
Hydrares (ไฮดราเรส) Central Poly Trading
Mano-Ap-Es (มาโน-แอพ-เอส) Lam Thong
Reser (รีเซอร์) T. O. Chemicals
Reserpine Chew Brothers (รีเซอร์พีน จิว บราเดอร์ส) Chew Brothers
Reserpine-P (รีเซอร์พีน-พี) P P Lab
ACB (เอซีบี) Pacific Pharm
Apo-Acebutolol (อาโป-อะซีบูโทลอล) Apotex
Acebutolol Hydrochloride Capsule (อะซีบูโทลอล ไฮโดรคลอไรด์ แคปซูล)Mylan Pharmaceuticals Inc
Sectral (เซกทรัล)Sanofi-Aventis

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sympatholytic [2016,March26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:VMAT_inhibitors [2016,March26]
  3. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8852385 [2016,March26]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-3_beta-4_nicotinic_receptor#Antagonists [2016,March26]
  5. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/3280488 [2016,March26]
  6. http://www.amjmed.com/article/0002-9343(78)90457-6/abstract?cc=y= [2016,March26]
  7. http://ethanwiner.com/betablox.html [2016,March26]
  8. http://www.drugs.com/comments/propranolol/for-performance-anxiety.html [2016,March26]