ซิฟิลิส (Syphilis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งซึ่งสามารถรักษาให้หายขาด ได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวอาจแสดงอาการในหลายระบบของร่างกายเช่น ทาง ระบบประสาท ผิวหนัง ตา กระดูก ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าสตรีเป็นโรคนี้ในขณะตั้ง ครรภ์มีโอกาสถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยส่งผลให้ทารกมีภาวะซิฟิลิสแต่กำเนิดได้

โรคซิฟิลิสมีสาเหตุจากอะไร?

ซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema pallidum) มีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน (Spirochete bacteria) เชื้อชอบอยู่ในที่มีความชื้นและตายได้ง่ายในที่มีความแห้ง ถูกทำลายได้ง่ายด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2 - 4 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 3 เดือน

โรคซิฟิลิสมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1: เมื่อได้รับเชื้อ บริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศภายนอกสตรี) ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมทอนซิล หัวนม

  • จะเริ่มมีตุ่มเล็กๆขนาดประมาณ 2 - 4 มิลลิเมตร
  • จากนั้น ตุ่มจะเริ่มขยายออกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะแตกออกกลายเป็นแผลที่กว้างขึ้น เป็นรูปไข่หรือวงรี ขอบมีลักษณะเรียบและแข็ง แผลมีลักษณะสะอาด บริเวณก้นแผลแข็งมีลักษณะคล้ายกระดุม ไม่มีอาการเจ็บ ปวด
  • ต่อจากนั้น เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ส่งผลให้มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต
  • เมื่อทิ้งไว้แผลที่เกิดขึ้น สามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการ

ระยะที่ 2: จะพบหลังการเป็นโรคระยะแรก 2 - 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เช่น บริเวณหลังหู หลังขาหนีบ และขาพับ และเข้าไปสู่กระแสเลือด รวมทั้งกระจายไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย จะทำให้

  • เกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือเรียกว่า “ระยะออกดอก” ผื่นที่พบมีความแตกต่างจากผื่นลมพิษทั่วไป เพราะผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือด้วย และจะไม่มีอาการคัน ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูน และอาจพบมีเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อมๆ และพบเนื้อเน่าหลุดออกมา มีน้ำเหลือง และในน้ำเหลืองจะมีเชื้อซิฟิลิส
  • ระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้โดยง่าย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีผื่นขึ้นเลย แต่อาจจะมีอาการ มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อมๆ
  • เมื่อทำการตรวจเลือดในระยะนี้ จะพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก ถ้าผู้ป่วยยังไม่ได้รับการรักษา โรคจะอยู่ใน “ระยะสงบ” โดยเชื้อจะไปหลบซ่อนตามอวัยวะต่างๆในร่างกายและจะไม่แสดงอาการได้นานหลายปี เพียงแต่ตรวจเลือดให้ผลบวกเท่านั้น

ระยะที่ 3: เป็นระยะสุดท้ายของโรค หรือ ‘ระยะแฝง’ เมื่อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ประมาณ 3 - 10 ปีหลังจากระยะที่ 1 โดยมีอาการตามระบบต่างๆของร่างกายเช่น ตาบอด เนื้อจมูกถูกทำลายจนเป็นรอยโหว่ หูหนวก ใบหน้าผิดรูป กระดูกผุบาง อาจมีสติปัญญาเสื่อม บางรายอาจมีการแสดงออกที่ผิดปกติคล้ายคนเสียสติ ถ้าเชื้อไปอยู่ที่หัวใจก็จะทำให้หัวใจมีความผิดปกติ ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจมีลักษณะโป่งพองทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ ถ้าเชื้อเข้าไปอยู่ที่ไขสันหลังก็จะทำให้เป็นอัมพาตและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

โรคซิฟิลิสติดต่ออย่างไร?

โรคซิฟิลิส สามารถติดต่อได้จาก

  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 1 และ
  • ถ้าสัมผัสกับน้ำเหลืองที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะที่ 2 (ระยะออกดอก) ก็มีโอกาสที่จะรับเชื้อได้เช่นกัน
  • นอกจากนี้ ในทารกที่ได้รับเชื้อผ่านมาจากมารดาโดยตรงโดยผ่านจากทางรก ก็จะมีอาการแสดงแต่กำเนิด ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป
  • ส่วนโรคในระยะที่ 3 มักเป็นระยะที่ไม่มีการติดต่อ

โรคซิฟิลิสในสตรีตั้งครรภ์รุนแรงไหม?

เชื้อซิฟิลิส สามารถผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกแรกคลอด โดยทารกจะมีภาวะซิฟิลิสแต่กำเนิด ซึ่งพบความพิการผิดปกติ เช่น

  • ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่
  • ตาบอด
  • สมองเล็ก
  • ตัวบวมน้ำ
  • กระดูก ฟัน และจมูกยุบ
  • นอกจากนี้ทารกจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงแรกคลอดจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

รักษาโรคซิฟิลิสอย่างไร?

เมื่อเกิดแผลบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของแผลที่เกิดขึ้น และเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคซิฟิลิส แม้ว่าจะไม่มีอาการหรืออยู่ในระยะโรคสงบ ก็ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา เพราะเชื้อซิฟิลิสยังอยู่ในกระแสเลือดและพร้อมที่จะลุกลามจนเกิดอาการที่รุนแรงได้ต่อไป

ทั้งนี้แพทย์จะรักษาซิฟิลิสด้วย ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน ในขนาดยาสูง และจะต้องไปฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญให้โรคไม่หาย และเกิดเป็นโรคในระยะที่ 3 ได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคซิฟิลิสอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การป้องกัน และการพบแพทย์ในโรคซิฟิลิส คือ

1. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับหญิง/ชายที่เป็นโรคนี้

2. ไม่สำส่อนทางเพศ

3. หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิง/ชายบริการ

4. ป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

5. ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและร่างกายอยู่เสมอ

6. หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพราะจะทำให้ขาดสติ

7. รัฐควรมีการควบคุมโรคในกลุ่มหญิง/ชายที่ขายบริการทางเพศ

8. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอเพื่อร่างกายแข็งแรงและเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ

9. พบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการดังกล่าว อย่ารักษาตัวเอง

10. พบแพทย์เสมอเมื่อกังวลในอาการหรือสงสัยตนเองอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ซึ่งรวมถึงซิฟิลิส

บรรณานุกรม

  1. Sparling PF. Natural history of syphilis. In: Holmes KK. Sparling Pf, Mardh PA, Lemon SM, Stamm WE, Pilot P. Wassercheit JN, Eds. Sexually transmitted diseases. 3rd. McGraw-Hill, 1999, p 475.
  2. Centers for Disease Control and Prevention, Workowski KA, Berman SM. Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2006. MMWR Recomm Rep 2006; 55:1
  3. Kaplan JE, Benson C, Holmes KH, et al. Guidelines for prevention and treatment of opportunistic infections in HIV-infected adults and adolescents: recommendations from CDC, the National Institutes of Health, and the HIV Medicine Association of the Infectious Diseases Society of America. MMWR Recomm Rep 2009; 58:1.
  4. Mitka M. US effort to eliminate syphilis moving forward. JAMA 2000; 283:1555.