ซิซาไพรด์ (Cisapride)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ยาซิซาไพรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาซิซาไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาซิซาไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาซิซาไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาซิซาไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาซิซาไพรด์อย่างไร?
- ยาซิซาไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาซิซาไพรด์อย่างไร?
- ยาซิซาไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ยาควบคุมพิเศษ (Controlled substance drug)
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimentary system)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาซิซาไพรด์ (Cisapride) คือ ยาเพิ่มการเคลื่อนตัว/บีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ วงการแพทย์นำมารักษาอาการโรคกรดไหลย้อน (GERD) ยานี้ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ปัจจุบันมีหลายประเทศได้เพิกถอนยานี้ออกจากบัญชียาของระบบสาธารณสุขด้วยผลข้างเคียงของยาซิซาไพรด์เอง
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า หลังรับประทาน ยานี้จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ 30 - 40% และเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดถึง 97.5% ตับจะเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาซิซาไพรด์ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงเพื่อที่จะกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้จัดให้ซิซาไพรด์อยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ มีจำหน่ายเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป
ยาซิซาไพรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาซิซาไพรด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการโรคกรดไหลย้อน (GERD)
- บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย ซึ่งมักมีอาการปวดท้องและแน่นท้องร่วมด้วย
ยาซิซาไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิซาไพรด์ คือ ตัวยาจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารอะเซทิลโคลีน(Acetylcholine, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ของผนังกล้ามเนื้อในช่องทางเดินอาหาร ส่งผลให้หลอดอาหารเกิดการบีบตัวและมีแรงดันเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร นอกจากนี้ยังทำให้การเคลื่อนตัวของอาหารที่รับประทานผ่านไปตามกระเพาะอาหาร-ลำไส้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ยาซิซาไพรด์มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
ยาซิซาไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิซาไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาเม็ดขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาซิซาไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาซิซาไพรด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 5 - 10 มิลลิกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน ควรรับประทานยาก่อนอาหารประมาณ 15 นาทีเป็นอย่างต่ำ หรือรับประทานช่วงท้องว่าง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : ขนาดยาขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก และยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงขนาดของยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กต้องอยู่ในคำสั่งและการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซิซาไพรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิซาไพรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซิซาไพรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาซิซาไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซิซาไพรด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- มีภาวะถ่ายเหลว/ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- ปวดหัว
- ปัสสาวะบ่อย
- อาจมีอาการชัก
- คลื่นไส้
- หัวใจเต้นเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิซาไพรด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิซาไพรด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาซิซาไพรด์
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
- การใช้ยาใน สตรีตั้งครรภ์และเด็ก ควรต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาซิซาไพรด์สามารถผ่านเข้าทางน้ำนมของมารดาได้ถึงแม้จะเป็นปริมาณเล็กน้อยก็ตาม
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิซาไพรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน เว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาซิซาไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซิซาไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาซิซาไพรด์ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์สงบประสาท/ยาคลายเครียด เช่น ยาในกลุ่ม เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ จะส่งให้เพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาทมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาซิซาไพรด์ร่วมกับยาปฏฺชีวนะ เช่นยา Clarithomycin, Erythromycin, สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับประทานยาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาซิซาไพรด์ร่วมกับยาต้านเชื้อรา เช่นยา Itraconazole, Ketoconazole สามารถทำให้ระดับของยาซิซาไพรด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยาซิซาไพรด์ร่วมกับยาขับปัสสาวะ เช่นยา Furosemide อาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมักมีอาการวิงเวียน เป็นลม ติดตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาซิซาไพรด์อย่างไร?
ควรเก็บยาซิซาไพรด์ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาซิซาไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซิซาไพรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cipasid (ซิพาซิด) | Siam Bheasach |
Cisapac (ซิซาแพค) | Inpac Pharma |
Cisapid (ซิซาพิด) | Inpac Pharma |
Cisaride (ซิซาไรด์) | Pharmasant Lab |
Palcid (แพลซิด) | Pharmadica |
Pri-De-Sid (ไพร-เด-ซิด) | Polipharm |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/cisapride?mtype=generic [2021,July24]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=cisapride [2021,July24]
- https://www.ryt9.com/s/prg/243315 [2021,July24]
- https://www.medicinenet.com/gastroesophageal_reflux_disease_gerd/article.htm [2021,July24]
- https://www.drugs.com/sfx/cisapride-side-effects.html [2021,July24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cisapride [2021,July24]