ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc oxide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ซิงค์ ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ ออกไซด์อย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซิงค์ ออกไซด์อย่างไร?
- ซิงค์ ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ผื่นผ้าอ้อม (Nappy rash)
- ลมพิษ (Urticaria)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc oxide หรือ ZO) เป็นสารอนินทรีย์ มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคือ ZnO มนุษย์นำไปใช้ประโยชน์หลายด้านเช่น
- เป็นส่วนผสมในกระบวนการผลิตยาง พลาสติก เซรามิก แก้ว ซีเมนต์ สารหล่อลื่น กาว ฯลฯ
- สำหรับทางด้านยา ซิงค์ ออกไซด์จะใช้เป็นส่วนผสมในสูตรตำรับยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก เช่น
- ยาคาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion)
- ผสมในแป้งเด็ก , ในครีมทาแก้ผื่นผ้าอ้อม, ในแชมพูสระผมกันรังแค,
- ขี้ผึ้งทายับยั้งเชื้อโรค
ปัจจุบันมีการผลิตนาโน ซิงค์ ออกไซด์ และใช้เป็นส่วนผสมของสูตรตำรับยา Ciprofloxacin โดยระบุสรรพคุณช่วยให้ Ciprofloxacin ออกฤทธิ์ได้ดีมากยิ่งขึ้น
ซิงค์ ออกไซด์ ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุการใช้เป็นส่วนประกอบของยาที่ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น และใช้เป็นยาเตรียมสำหรับงานทางทันตกรรม ด้วยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ ที่หลากหลายที่จำหน่ายตามร้านขายยา
ก่อนการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาซิงค์ ออกไซด์ ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อการเลือกใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสม
ซิงค์ ออกไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาซิงค์ ออกไซด์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- บรรเทาอาการระคายเคืองของผิวหนัง, ลมพิษ, ผื่นคัน, อันมีสาเหตุจาก แมลงกัดต่อย, ความร้อน, รอยขีดข่วน, รวมถึงอาการแพ้พืช
ซิงค์ ออกไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซิงค์ ออกไซด์คือ เป็นยาที่ส่งเสริมการสมานผิวหนัง ปกป้องผิวจากความร้อนและความเปียกชื้น รวมถึงช่วยต่อต้านเชื้อโรคได้ระดับหนึ่ง
ซิงค์ ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซิงค์ ออกไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย :
- ยาครีมทาผิวภายนอก
- ยาขี้ผึ้งสำหรับทาภายนอก
- เป็นส่วนผสมในยาเหน็บทวาร
- เป็นส่วนผสมของโลชั่นทาผิวหนัง
- เป็นส่วนผสมของแป้งเด็ก
- เป็นส่วนประกอบของยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ซิงค์ ออกไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซิงค์ ออกไซด์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก: สามารถทาผิวหนังที่มีอาการระคายเคืองได้วันละหลายครั้งตามความเหมาะ สมและจำเป็น หรือตามคำสั่งแพทย์ แต่ไม่ควรทายาเป็นบริเวณกว้างเกินความจำเป็น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซิงค์ ออกไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/อะไรอยู่ เพราะยาซิงค์ ออกไซด์อาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาซิงค์ ออกไซด์ สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในเวลาถัดไปให้ทายาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า
ซิงค์ ออกไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
มีรายงานผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาซิงค์ ออกไซด์น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม หากทายานี้แล้ว มีการแพ้ มีผื่นคันเพิ่มขึ้น หรือรู้สึกระคายเคืองผิวอย่างมาก ให้หยุดการใช้ยา แล้วรีบไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้ซิงค์ ออกไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซิงค์ ออกไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาซิงค์ ออกไซด์ หรือแพ้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
- สามารถใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรได้ โดยไม่ใช้ยาในบริเวณที่ มีแผลเปิดของผิวหนัง
- ระวังไม่ให้ยานี้เข้าตา
- ก่อนใช้ยานี้ให้ดูแลทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่จะทายาต้องปราศจาก คราบเหงื่อ คราบมัน หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิงค์ ออกไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ซิงค์ ออกไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากยาซิงค์ ออกไซด์เป็นยาใช้ภายนอกจึงไม่พบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาซิงค์ ออกไซด์อย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาซิงค์ ออกไซด์:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซิงค์ ออกไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซิงค์ ออกไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ancamin (แอนคามิน) | P P Lab |
Benzo Ointment (เบนโซ ออยเมนท์) | Greater Pharma |
Cabana (คาบานา) | L. B. S. |
Cadinyl (คาดินิล) | Medifive |
Cadramine V (คาดรามายน์ วี) | Atlantic Lab |
Calahyst Frx (คาลาฮีสท์ เอฟอาร์เอ็กซ์) | The United Drug (1996) |
Calamine Lotion Osoth Interlab (คาลามายน์ โลชั่น โอสถ อินเตอร์แลบ) | Osoth Interlab |
Calarin (คาลาริน) | Thai Nakorn Patana |
Centrum Silver 50+ (เซนทรัม ซิลเวอร์ 50+) | Pfizer Consumer Healthcare |
Doproct (โดพร็อกซ์) | Continental-Pharm |
lCaps Areds (แอลแคปส์ อเรดส์) | Alcon |
K.B. Calo (เค.บี. คาโล) | K.B. Pharma |
Lanol (ลานอล) | Nakornpatana |
Nappy-Hippo (แนปปี-ฮิปโป) | Sriprasit Pharma |
Patar Lotion (พาตาร์ โลชั่น) | Patar Lab |
Sam-Ko (แซม-โค) | 2M (Med-Maker) |
Umeda Calamine-D (ยูเมดา คาลามายน์-ดี) | Umeda |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Zinc_oxide [2020,Oct24]
2. http://www.drugs.com/cdi/zinc-oxide-cream.html [2020,Oct24]
3. http://www.medicinenet.com/zinc_oxide-topical/page2.htm [2020,Oct24]
4. http://www.drugs.com/sfx/zinc-oxide-topical-side-effects.html [2020,Oct24]
5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=zinc+oxide[2020,Oct24]
6. http://reference.medscape.com/drug/desitin-diaparene-diaper-rash-zinc-oxide-topical-999354#10 [2020,Oct24]
7. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=zinc%20oxide [2020,Oct24]