ซาร์กรามอสทิม (Sargramostim)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 เมษายน 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- ซาร์กรามอสทิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซาร์กรามอสทิมอย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซาร์กรามอสทิมอย่างไร?
- ซาร์กรามอสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- จีซีเอสเอฟ (G-CSF)
- โคโลนีสติมิวเลตทิงแฟกเตอร์ (Colony Stimulating Factor)
- มะเร็ง (Cancer)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- GM CSF
บทนำ
ยาซาร์กรามอสทิม(Sargramostim) เป็นยาในกลุ่ม แกรนูโลไซต์ แมโครฟาจ โคโลนี- สติมิวเลตทิงแฟกเตอร์(Granulocyte Macrophage colony-stimulating factor ย่อว่า GM CSF) ทางคลินิกนำมาใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวของไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งหลังจากเข้ารับการทำเคมีบำบัด/ได้รับยาเคมีบำบัด นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม(Recombinant DNA technology) กับเชื้อราจำพวกยีสต์ทำให้เกิดดีเอ็นเอ(DNA)สายผสม ส่งผลให้ยีสต์ที่นำมาเพาะเลี้ยงผลิตสารชีวโมเลกุลที่มีโครงสร้างเลียนแบบตัวกระตุ้นภูมิต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ ภูมิคุ้มกันโรค)ตามธรรมชาติ อย่างเช่น จีเอมซีเอสเอฟ(GM-CSF)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาซาร์กรามอสทิมเป็นยาฉีด สามารถให้ยาโดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำก็ได้ ผู้ป่วยส่วนมากได้รับยานี้ในครั้งแรกมักจะไม่เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด ด้วยตัวยาซาร์กรามอสทิมจะใช้เวลาประมาณ 7–14 วันในการออกฤทธิ์ แต่มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยานี้ครั้งแรก อาจพบอาการความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าแดง และรู้สึกเหมือนจะเป็นลม อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ก็มักจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้ในครั้งถัดไป
ทั้งนี้ มีคำแนะนำที่แพทย์จะกำชับให้ผู้ป่วยเฝ้าระวังสังเกตอาการของตนเองหลังจากได้รับยาซาร์กรามอสทิม เช่น พบอาการไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius) หนาวสั่น ซึ่งเป็นสัญญาณว่า มีการติดเชื้อเกิดขึ้น หรือเกิดอาการวิงเวียนเมื่อเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ ตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัสสาวะน้อยลง หรือปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด หายใจขัด/หายใจลำบาก รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก กรณีดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที /ฉุกเฉิน
คำเตือนที่แพทย์จะกำชับผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามขณะที่ได้รับยาซาร์กรามอสทิม มีดังต่อไปนี้
- ห้ามรับประทานหรือฉีดยาชนิดใดๆร่วมกับยาซาร์กรามอสทิมโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ โดยเพาะอย่างยิ่ง ยาแก้ปวด แอสไพริน และวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ
- การใช้ยาซาร์กรามอสทิมต้องให้ผู้ป่วยหลังทำเคมีบำบัดไปแล้ว 24 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมงขึ้นไปหลังการทำรังสีรักษา
- ในขณะเริ่มรักษาด้วยยาซาร์กรามอสทิมแล้วเกิดตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเพื่อประเมินผลดี-ผลเสียในการจะใช้ยานี้ต่อหรือไม่
- ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองขณะที่ได้รับยาชนิดนี้/ยานี้
- ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร/วัน รับประทานอาหารที่เหมาะสม พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพได้เร็วขึ้น
- กรณีมีไข้ ปวดศีรษะ อาจใช้ยา Acetaminophen หรือ Ibuprofen เพื่อบรรเทา อาการดังกล่าวได้ ซึ่งแพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาเหล่านี้มาให้บรรเทาอาการดังกล่าว ไว้ล่วงหน้า
- ต้องมารับการตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัดหมาย เพื่อทดสอบจำนวนและความ สมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาว (การตรวจเลือดCBC) และเป็นการเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ต่างๆจากยานี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย
อนึ่ง ตัวยาซาร์กรามอสทิมไม่ใช่ยารักษาโรคมะเร็ง แต่เป็นยาที่ใช้สนับสนุนช่วยผู้ป่วยมะเร็งเพื่อการกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย โดยเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลของยานี้ได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลนั้น
ซาร์กรามอสทิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวประเภท Neutrophils, Eosinophils, Macrophages, และ Monocytes หลังการทำเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีรักษา
- ใช้เป็นยากระตุ้นการทำงานของไขกระดูกหลังจากได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก
- ใช้เป็นยากระตุ้นการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด
ซาร์กรามอสทิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมเป็นยาที่มีคุณสมบัติ/กลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด Neutrophils, Eosinophils , Macrophages รวมถึงเม็ดเลือดขาวชนิด Monocytes ให้มีปริมาณเพียงพอและมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้ร่างกายสามารถนำมาปกป้องคุ้มครองจากการติดเชื้อจากกลุ่มเชื้อโรคชนิดต่างๆ
ซาร์กรามอสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาฉีดแบบผงแห้ง ที่ประกอบด้วย Sargramostim ขนาด 250 ไมโครกรัม/ขวด
- ยาฉีดแบบของเหลว ที่ประกอบด้วย Sargramostim ขนาด 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
ซาร์กรามอสทิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ใช้กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังการทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีรักษา:
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 250 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน การให้ยาจะต้องใช้เวลานาน 4 ชั่วโมงขึ้นไป การรักษาผู้ป่วยอาจต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 42 วัน
ข. ใช้เป็นยากระตุ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก:
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 250 ไมโครกรัม/พื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร/วัน การให้ยาจะต้องใช้เวลานาน 2 ชั่วโมงขึ้นไป การรักษาผู้ป่วยอาจต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องไปจนถึง 21 วัน กรณีที่การปลูกถ่ายไขกระดูกล้มเหลวหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ อาจต้องให้ยานี้ซ้ำที่ขนาดเดิมเป็นเวลา 14 วันหลังผ่านการให้ยาคอร์ส(Course)แรกไปแล้ว 7 วัน
อนึ่ง:
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาแน่ชัดถึงความปลอดภัยและขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซาร์กรามอสทิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซาร์กรามอสทิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ซาร์กรามอสทิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมสามารถกระตุ้นให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดปกติ(เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ) เกิดของเหลวในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจขัด คอหอยอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดต่ำ อาจทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อไต: เช่น ค่า Creatinine ในเลือดเพิ่มขึ้น ไตทำงานผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อตา: เช่น มีเลือดออกในลูกตา
- อื่นๆ: เช่น แอลบูมินในเลือดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ซาร์กรามอสทิมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซาร์กรามอสทิม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยาชนิดนี้ใน สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการควบคุมระดับเม็ดเลือด การทำงานของตับ ของไต ตามคำแนะนำของแพทย์ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือโดยมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิดปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงเกินปกติ โดยจะ เกิดอาการไข้ หายใจลำบาก คลื่นไส้ มีผื่นคัน การรักษาโดยแพทย์จะยุติการใช้ยา ซาร์กรามอสทิมทันที และให้การรักษาผู้ป่วยตามอาการ(การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ) เช่น การให้ออกซิเจนกับผู้ป่วย เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซาร์กรามอสทิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซาร์กรามอสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซาร์กรามอสทิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาซาร์กรามอสทิมร่วมกับยา Lithium และ Corticosteroids เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากซาร์กรามอสทิมมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาซาร์กรามอสทิมก่อนหรือหลังการใช้ยาเคมีบำบัดอย่าง Cisplatin เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากยาทั้ง 2 ตัวในเวลาเดียวกัน
ควรเก็บรักษาซาร์กรามอสทิมอย่างไร?
ควรจัดเก็บยาซาร์กรามอสทิม ภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ซาร์กรามอสทิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซาร์กรามอสทิม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Leukine (ลูคีน) | Sanofi Aventis |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/103362s5237lbl.pdf [2018,March31]
- https://davisplus.fadavis.com/3976/meddeck/pdf/sargramostim.pdf [2018,March31]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Sargramostim.aspx [2018,March31]
- http://www.mims.com/malaysia/drug/info/sargramostim/ [2018,March31]
- https://www.drugs.com/ppa/sargramostim.html [2018,March31]
- https://www.drugs.com/sfx/sargramostim-side-effects.html [2018,March31]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/sargramostim-index.html?filter=2&generic_only= [2018,March31]