ซานามิเวียร์ (Zanamivir)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- ซานามิเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซานามิเวียร์อย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซานามิเวียร์อย่างไร?
- ซานามิเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
บทนำ
ยาซานามิเวียร์(Zanamivir) เป็นยาที่มีสรรพคุณรักษาและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งสายพันธุ์เอ และ บี (Influenza A and B viruses) ในปี ค.ศ.1999(พ.ศ.2542) ประเทศอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้ยาซานามิเวียร์เป็นครั้งแรก จากนั้นจึงเริ่มแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาสูดพ่นเข้าทางปาก โดยใช้อุปกรณ์สูดพ่นยาที่เรียกกันว่า Diskhaler
ยาซานามิเวียร์มีการดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้ต่ำมาก ปริมาณตัวยาที่สูดเข้าทางปาก 10–20%เท่านั้นที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
ยาซานามิเวียร์สามารถใช้ได้ผลดีเมื่อมีการสัมผัสเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่เกิน 2 วัน ทางคลินิกกำหนดให้ใช้ยานี้ได้ใน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป
ข้อจำกัดบางประการในการใช้ยาซานามิเวียร์ ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคหืด (Asthma) และ โรคปอดอุดกั้นเรื้องรัง(COPD) ด้วยการใช้ยาซานามิเวียร์อาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมหดเกร็งตัวจนเป็นเหตุให้อาการของระบบทางเดินหายใจแย่ลง
การใช้ยาซานามิเวียร์เพื่อการป้องกันและเพื่อการรักษามีความแตกต่างกันทั้ง ขนาดและระยะเวลา แพทย์จะเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์และแนะนำการใช้ยานี้ได้เป็นอย่างดี
ยาซานามิเวียร์มีการจัดจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Relenza’ ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ เราจึงพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ซานามิเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซานามิเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ เอ และ บี
ซานามิเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาซานามิเวียร์ เป็นอนุพันธ์ของ Sialic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีชื่อว่า Neuraminidase เอนไซม์นี้มีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างไวรัสรุ่นใหม่ๆ และถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาการป่วยของไข้หวัดใหญ่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ซานามิเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ซานามิเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น
- ยาผงบรรจุแผงบลิสเตอร์(Blister) แต่ละบลิสเตอร์จะมีตัวยา Zanamivir 5 มิลลิกรัม
ซานามิเวียร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาซานามิเวียร์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการรักษาอาการโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ และ บี ที่ควรให้ยากับผู้ป่วยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือภายใน 48 ชั่วโมง หลังมีอาการโรค เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป: พ่นยาขนาด 10 มิลลิกรัม (2 บลิสเตอร์) เข้าทางปาก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน 5 วัน
- ในวันแรกให้พ่นยาในช่วงเวลาห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ในวันถัดไปให้พ่นยาห่างกัน 12 ชั่วโมง
ข. สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และ บี:
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: สูดพ่นยาขนาด 10 มิลลิกรัม (2 บลิสเตอร์) เข้าทางปาก วันละครั้งต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน ควรเริ่มใช้ยาภายใน 5 วันหลังจากเกิดการระบาดของโรค
- ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป: สูดพ่นยาขนาด 10 มิลลิกรัม (2 บลิสเตอร์) เข้าทางปาก วันละครั้งต่อเนื่อง เป็นเวลา 10 วัน ควรเริ่มใช้ยาภายใน 36 ชั่วโมงหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วย
*อนึ่ง: การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องและเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซานามิเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซานามิเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมพ่นยาซานามิเวียร์ สามารถพ่นยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดพ่นยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ไว้ล่วงหน้าว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อลืมพ่นยา
ซานามิเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาซานามิเวียร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน เกิดลมชัก
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น อาจมีอาการวิตกกังวล หรือรู้สึกสับสน ฝันร้าย
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหายใจลำบาก ด้วยมีภาวะ หลอดลมเกร็งตัว
- ผลต่อระบบเลือด:เช่น ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เพิ่มขึ้น
- ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อผิวหนัง:เช่น มีอาการ ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อไต: เช่น ไตวายเฉียบพลัน
มีข้อควรระวังการใช้ซานามิเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซานามิเวียร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซานามิเวียร์กับผู้ป่วย โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ระวังการใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ตลอดจนผู้ที่มีความเสี่ยง ในการเกิดภาวะหอบหืด
- หยุดใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการหายใจติดขัดหลังการสูดพ่นยา
- การหยุดใช้ยาซานามิเวียร์ก่อนกำหนด ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอและ ไม่หยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
- เรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ช่วยพ่นยาด้วยความเข้าใจเพื่อสามารถใช้งานได้ถูกต้อง
- ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาซานามิเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซานามิเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซานามิเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซานามิเวียร์ร่วมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฯนี้ด้อยลงไป แต่สามารถฉีดวัคซีนดังกล่าวหลังจากหยุดใช้ยาซานามิเวียร์ไปแล้ว 24–48 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาซานามิเวียร์ร่วมกับยาอินซูลินชนิดสูดพ่น ด้วยยาซานามิเวียร์ จะรบกวนการดูดซึมของยาอินซูลินแบบสูดพ่น จนอาจส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยผิดปกติไป
ควรเก็บรักษาซานามิเวียร์อย่างไร?
การเก็บรักษายาซานามิเวียร์ เช่น
- สามารถเก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาและอุปกรณ์สูดพ่นยาลงในแม่น้ำคูคลองธรรมชาติ
ซานามิเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซานามิเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Relenza (รีเลนซา) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- http://www.just.edu.jo/DIC/AZLibrary/Zanamivir.pdf [2019,March9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zanamivir [2019,March9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/relenza/?type=brief [2019,March9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/zanamivir?mtype=generic [2019,March9]
- https://www.drugs.com/sfx/zanamivir-side-effects.html [2019,March9]
- https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/zanamivir-inhalation-route/proper-use/drg-20066752?p=1[2019,March9]
- http://www.med.cmu.ac.th/hospital/dis/documents/books/3-52.pdf [2019,March9]