ซัลแบคแตม (Sulbactam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ซัลแบคแตมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ซัลแบคแตมอย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาซัลแบคแตมอย่างไร?
- ซัลแบคแตมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แอมปิซิลลิน (Ampicillin)
- เซโฟเพอราโซน (Cefoperazone)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาซัลแบคแตม(Sulbactam หรือ Sulbactam sodium หรือ Pivsulbactam)เป็นยาปฏิชีวนะ ประเภทเบต้า-แลคแทม แอนไทไบโอติก(Beta-Lactam antibiotic) โดยอยู่ในหมวดย่อยที่มีชื่อเรียกว่า เบต้า-แลคแทมเมส อินฮิบิเตอร์ (Beta-Lactamase inhibitors) ตัวยาซัลแบคแตมจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า เบต้า-แลค แทมเมส(Beta- lactamase)ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้มีทั้งยารับประทานและยาฉีด ที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น อย่างเช่นกับยา Ampicillin, Amoxicillin, Cefoperazone, และ Cefotaxime เหตุที่ต้องใช้ผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ เป็นเพราะยาซัลแบคแตมมีฤทธิ์ทางการรักษาต่ำ จึงไม่เหมาะที่จะใช้เป็นยาเดี่ยวๆในการต้านเชื้อแบคทีเรีย
ยาซัลแบคแตมถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดีเท่าใดนัก เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 38% ตัวยานี้สามารถกระจายเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 1.3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดยาซัลแบคแตมออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ทางคลินิก จะนำสูตรตำรับยาซัลแบคแตมที่มีส่วนประกอบของยาซัลแบคแตมมารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น อุ้งเชิงกราน(โรคติดเชื้ออุ้งเชิงกราน), ช่องท้อง(เยื่อบุช่องท้องอักเสบ), ผิวหนัง, กระดูก(กระดูกอักเสบ), ข้อ(ข้ออักเสบติดเชื้อ), เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ), ระบบทางเดินหายใจ(โรคติดเชื้อระบบหายใจ), ระบบทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ), รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุสูตรตำรับที่มียาซัลแบคแตม เป็นส่วนประกอบลงในบัญชียาหลักแห่งชาติดังต่อไปนี้
- Cefoperazone sodium + Sulbactam sodium: ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อที่ติดเชื้อจากเชื้อในโรงพยาบาล(Nosocomial infection), และจากเชื้อแบคทีเรียชนิดกรัมลบ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Acinetobacter
- Ampicillin sodium + Sulbactam sodium: ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียจำเพาะที่ดื้อต่อยา Ampicillin โดยเฉพาะแบคทีเรียชนิดที่ผลิตเอนไซม์ Beta-lactamase เช่น แบคทีเรียชนิด Pseudomonas aeruginosa, และใช้รักษาโรคติดเชื้อผสมระหว่างแบคทีเรียชนิด Aerobes และชนิด Anaerobes
ทั้งนี้ เราจะพบเห็นการใช้สูตรตำรับยาที่มีซัลแบคแทมเป็นส่วนประกอบได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐบาล-เอกชน และมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป และเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย การเลือกใช้ยานี้ควรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษา
ซัลแบคแตมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาซัลแบคแทมเป็นยาที่ต้องใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่น เช่นกับยา Ampicillin, Amoxicillin, Cefoperazone, และ Cefotaxime, เพื่อเสริมให้เกิดสรรพคุณในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียตามอวัยวะระบบต่างๆของร่างกายดังต่อไปนี้ เช่น
- การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
- การติดเชื้อของอวัยวะในช่อง(เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
- การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง
- การติดเชื้อของอุ้งเชิงกราน หรือการติดเชื้ออวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในสตรี
ซัลแบคแตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาซัลแบคแทมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เบต้า-แลคแทมเมส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ ส่งผล ไม่ให้แบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆที่อยู่ในสูตรตำรับเดียวกันกับยาซัลแบคแทม จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
ซัลแบคแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาซัลแบคแตมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Amoxicillin trihydrate 250 มิลลิกรัม + Sulbactam (Pivsulbactam) 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Amoxicillin trihydrate 2.5 กรัม + Sulbactam ( Pivsulbactam) 2.5 กรัม/ผงยารวม 50 กรัม
- ยาฉีดที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่น Ampicillin sodium 250 มิลลิกรัม + Sulbactam sodium 125 มิลลิกรัม/ขวด, Ampicillin sodium 500 มิลลิกรัม + Sulbactam sodium 250 มิลลิกรัม/ขวด, Ampicillin sodium 1,000 มิลลิกรัม + Sulbactam sodium 500 มิลลิกรัม/ขวด, Ampicillin sodium 2,000 มิลลิกรัม + Sulbactam sodium 1,000 มิลลิกรัม/ขวด, Cefoperazone 500 มิลลิกรัม + Sulbactam 500 มิลลิกรัม/ขวด, Cefoperazone 1000 มิลลิกรัม + Sulbactam 500 มิลลิกรัม/ขวด
ซัลแบคแตมมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ตัวยาซัลแบคแตมจะประกอบกับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆในหลายสูตรตำรับยา ทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด การเลือกใช้สูตรตำรับยาใดนั้น แพทย์ผู้รักษาจะต้องใช้ข้อมูลหลายประการมาประกอบกัน เช่น
- สาเหตุของการติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรียชนิดใด
- การติดเชื้อเกิดที่อวัยวะหรือระบบอวัยวะใดของร่างกาย
- ผู้ป่วยแพ้ยาในสูตรตำรับของยาซัลแบคแตมหรือไม่
- ความรุนแรงของโรค
- อายุ เพศ โรคประจำตัว ของผู้ป่วย
- ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยบริโภคกำลังบริโภคอยู่ เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ระหว่างยาอื่นๆเหล่านั้นกับยาซัลแบคแตม
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้การบริหาร/การใช้ยาซัลแบคแตม จึงต้องเป็นกรณีๆไป ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ดังนั้นในบทความนี้ จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา ซัลแบคแตม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลแบคแตม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาตัวอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาซัลแบคแตม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซัลแบคแตมตรงเวลา
ซัลแบคแตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ตัวยาซัลแบคแตม อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น กระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับยานี้ รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร และอาจก่อให้เกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
มีข้อควรระวังการใช้ซัลแบคแตมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาซัลแบคแตม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาซัลแบคแตม และ/หรือแพ้ตัวยาอื่นที่เป็นส่วนผสมในตำรับยาซัลแบคแตม
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ระหว่างการใช้ยานี้ แล้วอาการป่วยดีขึ้น ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันที ต้องใช้ยานี้จนครบคอร์ส(Course)ของการรักษาตามคำสั่งแพทย์
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบเห็นอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ปาก-คอเกิดอาการบวม กรณีพบเห็นอาการแพ้ยาให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยาซัลแบคแตมในผู้ป่วย โรคตับ ผู้ป่วยที่มีภาวะระบบทางเดินน้ำดีอุดตันรวมถึงผู้ที่ติดสุรา
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลแบคแตมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ซัลแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาซัลแบคแตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาซัลแบคแทมร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาซัลแบคแทมในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการได้รับอาการข้างเคียงจากยาซัลแบคแทมตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาซัลแบคแตมอย่างไร?
ควรเก็บยาซัลแบคแทมภายใต้อุณหภูมิที่ระบุมากับเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ซัลแบคแตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาซัลแบคแทมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amsubac (แอมซูแบค) | KAPL |
Bacticep (แบคทิเซฟ) | M & H Manufacturing |
Cebactam (ซีแบกแทม) | L.B.S. |
Cefpar SB (เซฟปาร์ เอสบี) | KAPL |
Cefper (เซฟเปอร์) | Biolab |
Prazone-S (พราโซน-เอส) | Venus Remedies |
Rexatam (เรกซาแทม) | NCPC |
Sulam (ซูแลม) | Siam Bheasach |
Sulbacilline (ซัลแบคซิลลิน) | Daewoong Pharma |
Sulbaccin (ซัลแบคซิน) | MacroPhar |
Sulcef (ซัลเซฟ) | Siam Bheasach |
Sulperazon (ซัลเพอราโซน) | Pfizer |
Sulpermed (ซัลเพอรเมด) | Millimed |
Trifamox (ไตรฟามอก) | IBL Laboratories Bago S.A. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sulbactam [2016,Oct15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/sulbactam/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/amsubac%201000-500-amsubac%202000-1000/ [2016,Oct15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefoperazone%20%2b%20sulbactam/?type=brief&mtype=generic [2016,Oct15]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=sulbactam [2016,Oct15]