ชา อาการชา (Numbness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ชา หรือ การชา หรือ อาการชา (Numbness) คือ การรู้สึกเป็นเหน็บ เจ็บแปลบปลาบ และการรับสัมผัสลดลงในเนื้อเยื่อผิวหนัง ซึ่งบริเวณที่เกิดอาการบ่อย คือ ปลายมือ ปลายเท้า แขน ขา ลำตัว ไหล่ และใบหน้า ซึ่งชา/อาการชา/การชานี้อาจเกิดเพียงชั่ว คราวแล้วหายไปภายใน 2-5 นาที เช่น จากนั่งนานๆ จึงมีอาการชาที่ก้น หรือ ขา แต่เมื่อลุกขึ้น เปลี่ยนอิริยาบถ อาการชาก็จะหายไป หรือ อาจมีอาการฯเรื้อรัง เช่น เกิดจาก โรคสมอง หรือ โรคไขสันหลัง หรือ โรคเส้นประสาท

เมื่อมีชา/อาการชา/การชาเกิดขึ้นอย่างมากและเฉียบพลันซึ่งมักร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด และ/หรือ แขนขาอ่อนแรง ซึ่งเกิดจากสมองขาดเลือด (อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง) เรียกว่า “อาการชาเฉียบพลัน”

แต่ถ้าชา/อาการชา/การชา มีไม่มาก ไม่รุนแรง แต่เกิดต่อเนื่องเรื้องรัง เช่น ชาปลายเท้า หรือ ตลอดทั้งขาจากโรคหมอนรองกระดูก (ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) เรียกว่า “อาการชาเรื้อรัง”

ชา/การชา/อาการชา เป็นอาการพบบ่อย พบทุกอายุตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) จนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในผู้ใหญ่และในผู้สูงอายุมากกว่าในเด็ก

ชา/การชา/อาการชา เป็นอาการของโรค ไม่ใช่ตัวโรค(โรค-อาการ-ภาวะ) ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน เพราะโดยทั่วไปสถิติทางการแพทย์มักศึกษาในเรื่องของสาเหตุ ไม่ค่อยศึกษาถึงสถิติเกิดแยกเป็นในเรื่องของอาการเพียงอย่างเดียว

อาการชาเกิดได้อย่างไร?

ชา

ชา/การชา/อาการชา เกิดจาก

  • มีการกดทับหลอดเลือด และ/หรือ จากโรคหลอดเลือด จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่ตามปลายมือ ปลายเท้า มือ เท้า โดยเฉพาะเนื้อเยื่อผิวหนังได้รับเลือดไม่เพียงพอ รวมทั้งปลายประสาทที่อยู่ในเนื้อเยื่อส่วนนี้ด้วย จึงก่อให้เกิดการไม่รับรู้ หรือลดความรู้สึก ซึ่งก็คือ ชา/อาการชา/การชา
  • และอีกสาเหตุ คือ เกิดจากโรคสมอง, โรคไขสันหลัง, และ/หรือ โรคเส้นประสาท เช่น อักเสบ บาดเจ็บ และ/หรือ การเสื่อม ของเซลล์ต่างๆของอวัยวะดังกล่าว ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ มีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกโดยตรง ดังนั้นเมื่อเกิดโรคขึ้น จึงส่งผลถึงการรับรู้ความรู้สึกที่ผิดปกติไป ซึ่งคือ ชา/การชา/อาการชานั่นเอง

อาการชามีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดชา/การชา/อาการชาเฉียบพลัน และ/หรืออาการชาเรื้อรัง ที่พบบ่อย ได้แก่

ก. อาการชาเฉียบพลัน: สาเหตุที่พบบ่อย คือ

  • จากการกดทับหลอดเลือด และ/หรือเส้นประสาทจากการ นั่ง ยืน นอน นานๆ
  • การอยู่ในบางท่าทางซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนผิดที่ของข้อกระดูก ส่งผลให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อาการชาจะหายไป เช่น จากการใช้งานคอมพิวเตอร์ การนั่ง หรือ การนอนในบางท่าทางบางท่านานๆ เป็นต้น
  • โรคอัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อต่างๆ
  • จากอุบัติเหตุต่อ สมอง ไขสันหลัง และ/หรือต่อเส้นประสาท
  • เกิดตามหลังอาการชัก
  • ได้รับพิษบางชนิดจากสัตว์ แมลง กัด ต่อย เช่นพิษจาก งู แมงมุม หรือ ผึ้ง
  • จากการแพ้ยา (อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา)
  • ได้รับสารพิษบางชนิดจากอาหาร เช่น การกินเห็ดพิษ อาหารทะเลที่มีสารพิษ หรือ การแพ้อาหารบางชนิด
  • บางครั้งอาจจากปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด ความกลัว

ข. อาการชาเรื้อรัง: มักเกิดจากโรคเรื้อรังของ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท และ ปลอกประสาท ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่

  • การกดทับเส้นประสาท เช่น อาการชาที่ฝ่ามือด้านหัวแม่มือจากเส้นประสาทข้อมือถูกกดทับ (โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ/Carpal tunnel syndrome) หรือจากโรคหมอนรองกระดูก (ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)
  • จากอาการชักเรื้อรัง
  • โรคสมองอักเสบที่ไม่ใช่จากติดเชื้อ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • โรคสมองอักเสบจากติดเชื้อ ซึ่งรักษาหายแล้วแต่ยังมีเซลล์ประสาทเสียหายถาวร
  • จากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เนื้อเยื่อผิวหนังที่ปลายแขน/ขา จึงขาดเลือด
  • จากอัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุได้ทั้งอาการชาเฉียบพลันและอาการชาเรื้อรัง
  • โรคอื่นๆที่ก่อการอักเสบของทั้งเนื้อเยื่อและเส้นประสาท เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • โรคอื่นๆที่ส่งผลถึงการทำงานของเนื้อเยื่อประสาทและสมอง เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • โรคปวดศีรษะไมเกรน
  • โรคที่ก่ออาการบวมเรื้อรังของ มือ เท้า แขน ขา เพราะเนื้อเยื่อที่บวมจะกดทับเส้นประสาท จึงก่ออาการชา เช่น โรคตับแข็ง และภาวะขาดอาหารโปรตีน
  • ภาวะขาดวิตามินบี1 และ/หรือ ภาวะขาดวิตามิน6, และ/หรือ ภาวะขาดวิตามินบี12 ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยในการทำงานของเซลล์ประสาท
  • จากร่างกายได้รับสารพิษเรื่อรัง เช่น จาก บุหรี่ สุรา หรือ โลหะหนัก (เช่น สารตะกั่ว สารปรอท)
  • จากอุบัติเหตุที่ก่อการบาดเจ็บเสียหายถาวรของ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท และ/หรือปลอกประสาท
  • โรคเนื้องอก หรือ โรคมะเร็งของ สมอง ไขสันหลัง หรือ ของเส้นประสาท
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดบางชนิด

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการชาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยชา/การชา/อาการชา ได้จาก

  • การซักถามประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน รวมถึงประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.comบทความเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอนที่1(การตรวจร่างกายทางระบบประสาท), และเรื่อง วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาทตอนที่2 (การตรวจสืบค้นโรคระบบประสาท)
  • การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมที่ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
    • การตรวจภาพ สมอง หรือ ไขสันหลัง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (MRI)

รักษาอาการชาได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาชา/อาการชา/การชา คือ การรักษาสาเหตุดังนั้นจึงต่างกันในแต่ละผู้ป่วยเป็นกรณีๆไปตามแต่ละสาเหตุ เช่น

  • เมื่อเกิดจากการกดทับจากอิริยาบถต่างๆ การรักษาก็คือ การปรับเปลี่ยนอิริยาบถนั้นๆ เช่น ไม่นั่งพบเพียบท่าเดียวนานๆ เป็นต้น
  • กินอาหารมีวิตามินบีสูง หรือ กินวิตามินบีเสริมอาหารตามแพทย์แนะนำเมื่ออาการเกิดจากขาดวิตามินบี เช่น ภาวะขาดวิตามินบี1, ภาวะขาดวิตามินบ6, ภาวะขาดวิตามินบี12
  • ปรับพฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่ออาการเกิดจากการใช้งานคอมพิวเตอร์
  • รักษาอัมพาต:โรคหลอดเลือดสมองด้วยยาต่างๆร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเมื่ออาการเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง
  • การผ่าตัดเมื่อโรคเกิดจากมีการกดเบียดทับเส้นประสาท เช่น จากเนื้องอกของเส้นประสาทเอง, เนื้องอกสมอง, มะเร็งสมอง, โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ, ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง

อาการชารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของชา/อาการชา/การชาขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • เมื่อเกิดจากอิริยาบถ มักเป็นอาการไม่รุนแรง
  • แต่ถ้าเกิดจากโรคหมอนรองกระดูก (ปวดหลัง: ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) อาการชาจะรุนแรงปานกลาง
  • แต่ถ้าเกิดจากอัมพาต:โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคมะเร็ง อาการชาจะเป็นอาการที่รุนแรง

ดังนั้นชา/อาการชา/การชา ของแต่ละคนจึงมีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคต่างกันตามแต่ละสาเหตุ แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคในแต่ละผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากชา/อาการชา/การชา มักเกิดจากอาการชาเรื้อรัง ที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อขาดความรู้สึก จึงเกิดแผลเรื้อรังได้ง่าย และมักเป็นแผลรักษายาก และติดเชื้อได้ง่าย จากขาดการดูแลเพราะ ไม่รู้สึกเจ็บ หรือ ไม่รู้สึกว่ามีแผลเกิดขึ้นนั่นเอง เช่น แผลที่เท้าในโรคเบาหวาน เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์ เมื่อมีชา/การชา/อาการชา คือ

  • เคลื่อนไหวร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถ บ่อยๆ
  • รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี และต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่เกิดอาการชา เพราะจะเกิดผลข้างเคียงดังได้กล่าวแล้ว เช่น การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน เป็นต้น
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน (ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆที่จะส่งผลถึงโรคหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง) และเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่/แร่ธาตุ
  • จำกัดอาหารไขมันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือเพื่อไม่ให้โรคหลอดเลือดแดงแข็งรุนแรงขึ้น
  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำกรณีพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแล้ว
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมกับอาการชา เช่น
    • อาการชาเกิดขึ้นบ่อยหรือเรื้อรังโดยผู้ป่วยเองไม่รู้สาเหตุ
    • มีอาการชาร่วมกับ ปวดต้นคอ และ/หรือ มีอาการผิดปกติในการขับถ่าย เพราะเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกส่วนคอ
    • มีอาการ ปวดหลัง ปวดขา และอาการผิดปกติในการขับถ่าย เพราะเป็นอาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังระดับเอว(ปวดหลัง:ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)
    • มีไข้ อาจร่วมกับมีผื่นขึ้น เพราะอาจเป็นอาการของโรคสมองอักเสบ
    • เมื่อมีความกังวลในอาการชา
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน/ทันทีเมื่อมีอาการชาร่วมกับ
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • อุจจาระ ปัสสาวะไม่ออก
    • สับสน
    • หมดสติ
    • มีอาการพูดไม่ชัด
    • ปากเบี้ยว
    • ตาพร่า/ตาเห็นภาพไม่ชัด
    • หลังการได้รับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุต่อ สมอง ศีรษะ ลำคอ และ/หรือ ไขสันหลัง

ป้องกันอาการชาได้อย่างไร?

การป้องกันอาการชา คือ การป้องกันสาเหตุ(ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’)ที่ป้องกันได้ ที่สำคัญ คือ

  • เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • จำกัดอาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่างๆโดยเฉพาะต่อ ศีรษะ สมอง และไขสันหลัง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องการติดเชื้อกับอวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น โรคสมองอักเสบ

บรรณานุกรม

  1. Azhary, H. et al. (2010). Peripheral neuropathy: differential diagnosis and management. Am Fam Physician. 81, 887-892.
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/003206.htm [2021,March6]
  4. https://www.msdmanuals.com/professional/neurologic-disorders/symptoms-of-neurologic-disorders/numbness [2021,March6]