ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Partial secondarily generalized tonic-clonic seizure)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 17 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ
- ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวคืออะไร? อาการเป็นอย่างไร?
- ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีอันตรายไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว?
- ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวต้องแยกจากโรคอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- การพบแพทย์มีกี่แบบ? และควรเตรียมตัวอย่างไร?
- รักษาชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างไร?
- การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง?
- ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการชักอย่างไร?
- การรักษาต้องทานยานานเท่าใด?
- ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดในการใช้ชีวิตประจำวัน?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- การพบแพทย์แต่ละครั้งควรเตรียมตัวอย่างไร?
- ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ป้องกันชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างไร?
- ลมชัก (Epilepsy)
- ชักสะดุ้ง
- ชักเกร็งกระตุก (Generalised tonic-clonic seizures)
- ชักเฉพาะที่แบบมีสติ (Simple partial seizure)
- ลมชักชนิดเหม่อ
- ชักกระตุก (Clonic seizure)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การตรวจอีอีจี (Electroencephalography; EEG)
- ชักตัวอ่อน (Atonic seizure)
- ชักเกร็ง (Tonic seizure)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะหลัง (Lumbar puncture)
บทนำ
ใครๆก็รู้จักการชัก/ลมชักแบบลมบ้าหมู หรือชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic-clonic seizure) ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชักเกร็งทั้งตัว และตามด้วยอาการกระตุกของแขน ขา ลำตัว หมดสติตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ผู้ป่วยบางคนมีอาการเริ่มต้นเป็นชนิดชักเฉพาะที่แบบมีสติ และต่อมากลายเป็นการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ และรุนแรงต่อเนื่องเป็นการชักเกร็งกระตุกทั้ง ตัว การชักแบบนี้มีด้วยหรือ มีครับ เรียกว่า “ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Partial secondarily generalized tonic-clonic seizure หรือ Secondarily generalized seizure)” ต้องรู้จักการชักแบบนี้ครับ เพราะเป็นการชักที่พบบ่อยมาก พบได้ในทุกเพศและในทุกวัยครับ
ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวคืออะไร? อาการเป็นอย่างไร?
การชัก/ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวนั้นเป็นรูปแบบการชักชนิดเฉพาะที่ของร่างกาย แล้วจึงมีการกระจายของกระแสไฟฟ้าในสมองจากเฉพาะจุดไปทั่วทั้งสมอง จึงก่อ ให้เกิดอาการชักจากรูปแบบเฉพาะที่แบบมีสติ ตามด้วยการชักแบบขาดสติ/ไม่รู้ตัว และชักเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ หรือพูดง่ายๆว่าการชักมีการลามมากขึ้นเรื่อยๆ
ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีอันตรายไหม?
การชัก/ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีอันตรายคล้ายๆกับการชักเกร็งกระ ตุกทั้งตัว แต่จะดีกว่าตรงที่ผู้ป่วยจะรู้ก่อนว่า เริ่มมีอาการจากชักเฉพาะที่แบบมีสติก่อน ทำให้รู้ ตัวจึงสามารถระวังตัวป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายได้ โดยการหาท่าทางและสถานที่ที่ปลอดภัยเมื่อมีอาการชักแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมา โดยการหาที่นอนลงกับพื้นที่ปลอดภัยหรือเรียกคนช่วย บางรายอาจสามารถระงับการชักได้ด้วยตนเอง (เช่น การตั้งสติ การระงับอารมณ์) ก็จะทำให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุได้
อะไรเป็นสาเหตุชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว?
สาเหตุเกิดการชัก/ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีได้หลายสาเหตุขึ้นกับกลุ่มอายุดังนี้เช่น
- วัยเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): เกิดจากการติดเชื้อในสมอง(สมองอักเสบ), ภาวะขาดออกซิเจนช่วงแรกคลอด
- วัยรุ่น: เกิดจากอุบัติเหตุต่อสมอง
- วัยผู้ใหญ่: เกิดจากอุบัติเหตุต่อสมอง, โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต), โรคเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง
- วัยสูงอายุ: เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง, โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง, โรคสมองเสื่อม
ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวต้องแยกจากโรคอะไรบ้าง?
การชัก/ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวต้องแยกจาก “ภาวะแกล้งชัก” เป็นการวินิจฉัยแยกโรคที่สำคัญ ผู้ที่มีภาวะแกล้งชักนั้นมักจะมีอาการนานมากกว่าการชักทั่วไปคือนานหลายนาที รู้ตัวตลอด แต่จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ตัว และมักมีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อน มีจุด มุ่งหมายในการแกล้งชักเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่างจากคนรอบข้าง
แพทย์วินิจฉัยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวได้โดย
- แพทย์จะใช้ข้อมูลรายละเอียดของอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เป็นหลัก ถ้ามีคลิปเหตุการณ์ให้แพทย์ดูร่วมด้วยก็จะทำให้ง่ายและแม่นยำในการวินิจฉัย
- ร่วมกับการตรวจร่างกาย
- แต่ถ้าไม่มั่นใจ แพทย์จะส่งตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
- ตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อ
- การเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลังดูการติดเชื้อ
- การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอเพิ่มเติมเมื่อสงสัยมีรอยโรคในสมอง เป็นต้น
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ พบแพทย์/ไป โรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อให้การประเมินโดยแพทย์ จะได้ทราบว่าเป็นโรคลมชักหรือไม่ เนื่องจากการรักษาที่เร็วย่อมดีกว่าการรักษาที่ล่าช้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเสียหายของสมองและอุบัติเหตุจากการชัก หมดสติ สูญเสียการควบคุม ที่อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ แต่ไม่ต้องรีบพามาขณะที่มีอาการชัก ยกเว้นการชักนั้นเป็นนานเกินกว่า 5 นาทีจึงควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
การพบแพทย์มีกี่แบบ? และควรเตรียมตัวอย่างไร?
การพบแพทย์เมื่อมีอาการชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมี 2 แบบ
ก. แบบแรก ที่นำส่งโรงพยาบาลทันทีหลังหยุดชัก: กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติข้างต้น ไม่ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลขณะกำลังมีอาการชัก เพราะการรีบอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ หรือรีบจนเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลได้ การชักส่วนใหญ่แล้วนานประมาณ 90 - 120 วินาทีก็จะหยุด แต่ถ้าไม่หยุดชักเป็นนานมากกว่า 5 นาทีหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการชักก็จำเป็นรีบนำส่งโรงพยาบาล
ข. แบบที่ 2 คือ มาพบแพทย์แบบไม่รีบด่วน: ถ้าผู้มาพบแพทย์เป็นผู้เห็นเหตุการณ์มาด้วยพร้อมกับผู้ป่วยก็จะเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้ข้อมูลตรงต่อแพทย์ และถ้าสามารถถ่ายคลิปเหตุการณ์มาให้แพทย์ดูร่วมด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะการเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆนั้นจะสามารถช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้แม่นยำยิ่งขึ้น
รักษาชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างไร?
การรักษาลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวประกอบด้วย การทานยากันชักยาต้านชัก และ การรักษาสาเหตุ
ก. ยากันชัก : ยากันชักฯที่ได้ผลในการควบคุมลมชักชนิดนี้มีหลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายที่รวมถึงระยะเวลาในการรักษาด้วย
ข. สาเหตุ: การรักษาสาเหตุจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายเช่น การรักษาสมองอักเสบ, การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง(อัมพาต), การรักษาเนื้องอก/มะเร็งสมอง, หรือการรักษาโรคสมองเสื่อม
นอกจากนี้ การรักษาที่สำคัญมากอีกวิธีคือ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสม (จะกล่าวในหัว ข้อถัดไป) เพื่อลดโอกาสการชักซ้ำ
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง?
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว คือ
- ต้องทานยากันชักทุกวันอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดยาไม่หยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ไม่นอนดึก
- ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหม
- ถ้าไม่สบายมีไข้ควรรีบทานยาลดไข้
- ถ้าไม่สบายให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล และต้องนำยาที่ทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย (หรือจดชื่อยา) เพื่อหลีกเลี่ยงการทานยาที่อาจตีกันระหว่างยากันชักและยาที่ต้องใช้สำ หรับการเจ็บป่วยใหม่ที่เรียกว่า ปฏิกิริยาระหว่างยา
- กรณีที่เริ่มมีอาการชักเฉพาะที่แบบมีสติก็ควรรีบหาที่ที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการชักและเรียกคนมาช่วยได้ถ้ามีคนอยู่บริเวณนั้น นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยเคยหยุดอาการชักไม่ให้ลามมากขึ้นได้ด้วยวิธีใด (รู้ได้จากเคยสังเกตการชักก่อนหน้านี้) ก็ควรลองทำแบบนั้นอีก (เช่น การตั้งสติ การควบคุมอารมณ์) เพื่อหยุดอาการชักได้ก็เป็นสิ่งที่ดี
ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการชักอย่างไร?
การช่วยเหลือที่ถูกต้องต่อผู้ป่วยขณะมีอาการชักคือ การป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการชัก
- การเกิดอันตรายนั้นเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะมีอาการชัก เพราะผู้ป่วยหมดสติ ล้มลงกับพื้นได้ จึงต้องจับผู้ป่วยนอนลงกับพื้น จัดให้ผู้ป่วยอยู่ห่างจากอุปกรณ์ต่างๆที่แขน ขา อาจไปกระแทกได้ นำสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเช่น เตาไฟ กาน้ำร้อน เก้าอี้ ออกห่างจากผู้ป่วย
- ระวังการสำลักอาหารหรือน้ำลาย จึงต้องจับศีรษะตะแคง ไม่ต้องกดยึด ผูกรัดแขนขา หรือกดปั้มหน้าอก แขนขาใดๆ
- ไม่ต้องงัดปากผู้ป่วยหรือนำวัสดุใส่เข้าไปในปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้นเพราะโอกาสเกิดการกัดลิ้นน้อยมาก และการงัดปากอย่างแรงส่งผลเสียต่อผู้ป่วยมากกว่า(ฟันอาจหักและหลุดอุดกั้นทางเดินหายใจ)
- ไม่ควรนำพริก มะนาว หรืออาหาร ให้ผู้ป่วยทานขณะมีอาการหรือหลังหยุดชักใหม่ๆที่ยังไม่รู้สติดี เพราะอาจเกิดการสำลักสิ่งเหล่านั้น/อาหารเข้าปอดได้
การรักษาต้องทานยานานเท่าใด?
การรักษาลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวจะทานยากันชักยาต้านชักประมาณ 3 ปีกรณีที่ตอบสนองต่อการรักษาดี
แต่ในกรณีที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษา แพทย์ก็ต้องค่อยๆปรับเพิ่มยาฯและ/หรือปรับเปลี่ยนยาฯเป็นระยะๆ ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจต้องทานยากันชักไปตลอดชีวิตก็มี
ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดในการใช้ชีวิตประจำวัน?
เนื่องด้วยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีการหมดสติและล้มลงได้ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- แนะนำให้ผู้ป่วยควรอยู่ห่างจากแหล่งน้ำ ไม่ควรอยู่ในที่สูง ไม่ควรขับรถ ไม่ควรเล่นกีฬาผาดโผน กีฬาที่มีการปะทะ
- และถ้าเริ่มมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ให้หาที่ที่ปลอดภัย เพื่อนอนลงหรือนั่งพักให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นขณะชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว อย่าพยายามทำกิจกรรมต่อโดยคิดว่าเดี๋ยวก็หายไม่เป็นอะไร
ดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเป็นโรคลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ควรดูแลตนเอง ดังนี้ เช่น
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
- ทานยากันชักที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ปรับขนาดยาเอง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ไม่นอนดึก
- ไม่ออกกำลังกายหักโหม
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการทำงานของสมอง
- ไม่ทำงาน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น ทำงานกับกับเครื่องจักร ขับขี่ยวดยานต์ อยู่ในที่สูง หรือใกล้แหล่งน้ำ เตาแก๊ส เล่นน้ำ ฯลฯ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการชักรุนแรงขึ้น
- เกิดอุบัติเหตุจากการชัก
- สงสัยว่าจะแพ้ยากันชัก เช่น ขึ้นผื่น หรือปวดหัวมากหลังกินยา
- มีอาการเจ็บป่วย ที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากเข้ารับการรักษาจากแพทย์ใกล้บ้าน
- ยากันชักฯที่ทานอยู่หมดก่อนกำหนด ดังนั้นต้องคอยตรวจนับยา ถ้ายาไม่พอต้องรีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด อย่าให้ขาดยา
- กังวลในอาการ
การพบแพทย์แต่ละครั้งควรเตรียมตัวอย่างไร?
การพบแพทย์ที่ดีทุกๆครั้ง:
- ควรเตรียมการจดบันทึกประวัติการชักว่า มีจำนวนกี่ครั้ง, ชักรูปแบบไหนบ้าง, วันที่เท่าไหร่, และมีปัจจัยกระตุ้นการชักหรือไม่,
- ควรจดบันทึกการทานยากันชัก ว่าสม่ำเสมอหรือไม่, ขาดยาวันไหนบ้าง, เพราะอะไร, มีผลเสีย/ผลข้างเคียงจากการทานยาฯหรือไม่, รวมทั้งข้อสงสัยต่างๆ, เพื่อป้องกันการลืม ควรมีการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวันลงสมุดบันทึกอาการ และนำมาแจ้งและปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
ชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยขึ้นกับหลากหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ, ความรุนแรงของอาการ, การตอบสนองต่อวิธีรักษาโดยเฉพาะการตอบสนองต่อยากันชัก, พื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละรายที่จะเป็นข้อจำกัดในการใช้ยากันชัก, และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสม(ดังกล่าวแล้วใน หัวข้อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหมาะสม)
ดังนั้นแพทย์ผู้รักษา จะเป็นผู้ให้การพยากรณ์โรคเป็นกรณีไป ทั้งนี้มีได้ตั้งแต่ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการชักได้ดีหลังกินยากันชัก 3 ปีก็หยุดยาฯได้ ไปจนถึงที่ต้องกินยาฯตลอดไป
ป้องกันชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างไร?
การป้องกันการชัก/ลมชักเฉพาะที่ตามด้วยชักเกร็งกระตุกทั้งตัว คือ การป้องกันสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ ซึ่งมีได้หลากหลายสาเหตุมาก ที่สำคัญ คือ
- การป้องกันอุบัติเหตุทางสมอง/อุบัติเหตุต่อศีรษะ ซึ่งที่สำคัญ คือ การสวมหมวกนิรภัย และการใช้เข็มขัดนิรภัยในการใช้ยวดยานต์
- ส่วนสาเหตุจากโรคต่างๆ แนะนำอ่านเพิ่มรายละเอียดในแต่ละโรคที่รวมถึงวิธีป้องกัน ได้ในเว็บ haamor.com เช่น อัมพาต: โรคหลอดเลือดสมอง, สมองอักเสบ, โรคสมองเสื่อม, เนื้องอก/ มะเร็งสมอง