ชักขณะหลับ (Nocturnal seizure)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 11 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะชักขณะหลับคืออะไร?
- ภาวะชักขณะหลับมีการชักได้กี่รูปแบบ?
- ภาวะชักขณะหลับมีสาเหตุจากอะไร?
- ทำไมถึงเกิดอาการชัก้ฉพาะขณะหลับเท่านั้น?
- แพทย์วินิจฉัยอาการชักขณะหลับอย่างไร?
- ภาวะชักขณะหลับมีอาการคล้ายโรคอื่นอะไรบ้าง?
- เมื่อมีอาการชักขณะหลับ ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะชักขณะหลับ?
- แพทย์ให้การรักษาภาวะชักขณะหลับอย่างไร?
- ผลการรักษาภาวะชักขณะหลับดีหรือไม่?
- ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ผู้ป่วยภาวะชักขณะหลับสามารถขับขี่รถได้หรือไม่?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ญาติหรือคนในครอบครัวควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
- ป้องกันภาวะชักขณะหลับได้หรือไม่?
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ลมชัก (Epilepsy)
- กล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง (Sleep myoclonus)
- ขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement disorder)
- การตรวจร่างกาย (Physical examination)
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคระบบประสาท ตอน1:การตรวจร่างกาย (Neurological Examination)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
บทนำ
อาการชัก สามารถเกิดขึ้นได้กับคน ทุกเพศ ทุกวัย แล้วยังสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลา กลางวัน กลางคืน ขณะตื่น หรือขณะนอนหลับ ซึ่งการเกิดอาการ/ภาวะชักขณะนอนหลับ/อาการ/ภาวะชักขณะหลับ(Nocturnal seizure หรือ Nocturnal epilepsy)นั้น ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อเทียบกับการชักตอนกลางวันขณะตื่นนอน ลองติดตามบทความนี้ดูนะครับเพื่อความเข้าใจต่ออาการ/ภาวะนี้มากขึ้น
ภาวะชักขณะหลับคืออะไร?
ภาวะชักขณะหลับ คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักแบบหนึ่งที่มีอาการชักเฉพาะขณะหลับเท่านั้น ไม่ว่าจะหลับกลางวันหรือหลับกลางคืน โดยขณะที่ตื่น จะไม่มีอาการชักเลย จึงเรียกว่า ภาวะชักขณะหลับ
ภาวะชักขณะหลับมีการชักได้กี่รูปแบบ?
ภาวะชักขณะหลับนั้นมีได้ทุกรูปแบบการชัก ทั้งชนิดชักเกร็งกระตุกเฉพาะส่วน ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว หรือชนิดที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
ภาวะชักขณะหลับมีสาเหตุจากอะไร?
ภาวะชักขณะหลับ มีสาเหตุการเกิดเหมือนกับการชัก/ลมชักทั่วๆไป โดยสาเหตุขึ้นกับกลุ่มอายุ เช่น
- วัยรุ่น: สาเหตุ เช่น อุบัติเหตุต่อศีรษะ การติดเชื้อที่สมอง การดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ใหญ่/ผู้สูงอายุ: สาเหตุ เช่น เนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ทำไมถึงเกิดอาการชักเฉพาะขณะหลับเท่านั้น?
กลไกที่ทำไมจึงเกิดอาการชักเฉพาะขณะหลับเท่านั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยภาวะ/อาการนี้ จะพบว่า มีรอยโรคที่บริเวณสมองส่วนหน้า (Frontal lobe)
แพทย์วินิจฉัยอาการชักขณะหลับอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะชักขณะหลับได้จาก ประวัติอาการชักที่เกิดในขณะหลับ ประวัติโรคต่างๆที่รวมถึงการเคยได้รับอุบัติเหตุต่างๆโดยเฉพาะที่เกิดกับศีรษะ/สมอง การมีโรคประจำตัวทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือการตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า(เอมอาร์ไอ)สมอง ถ้ามีคลิป(รูปถ่าย)ที่ถ่ายขณะมีอาการชัก นำมาให้แพทย์ดูด้วย ก็จะช่วยทำให้การวินิจฉัยภาวะนี้ ทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
ภาวะชักขณะหลับมีอาการคล้ายโรคอื่นอะไรบ้าง?
ภาวะ/โรคอื่นๆที่อาจมีลักษณะคล้ายกันได้กับภาวะชักขณะหลับ คือ
- ภาวะขากระตุกขณะหลับ
- ภาวะขาอยู่ไม่สุข
- ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับที่ไม่รุนแรง
- การเคลื่อนไหวผิดปกติส่วนปลายของแขน ขา (Chorea)
ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่แยกอาการ/ภาวะที่คล้ายกันเหล่านี้ออกจากกัน แพทย์ต้องได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติขณะเกิดอาการ ก็จะสามารถช่วยวินิจฉัยแยกโรคได้อย่างชัดเจน
อาการชักขณะหลับ ถ้าเป็นกลุ่มอาการชักแบบลมบ้าหมู ก็จะแยกได้ง่าย เพราะมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ และอาจมีปัสสาวะราดได้ แต่ถ้าเป็นอาการชักแบบเฉพาะส่วนของแขน ขา แพทย์ต้องได้เห็นภาพอาการชักผิดปกติ จึงจะแยกได้ถูกต้อง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ และมีคนเห็นเหตุการณ์ แนะนำว่า ควรถ่ายภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วย จะได้ช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้มากที่สุด
เมื่อมีอาการชักขณะหลับ ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร?
ถ้าผู้ป่วยมีอาการชัก เพียงแค่สงสัย ก็ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องรอให้มีอาการซ้ำหลายๆครั้ง และควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลร่วมกับผู้เห็นเหตุการณ์ด้วยก็จะดีกว่าไปเพียงผู้ป่วยคนเดียว
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะชักขณะหลับ?
ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะชักขณะหลับ ได้แก่
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอกสมอง
- ผู้เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะรุนแรง
- ผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นประจำ
- ผู้ป่วยโรคตับวาย
- ผู้ป่วยโรคไตวาย
แพทย์ให้การรักษาภาวะชักขณะหลับอย่างไร?
การรักษาภาวะชักขณะหลับนั้น วิธีการรักษาเหมือนกับอาการชักในเวลากลางวัน หรือขณะตื่น/ในโรคลมชักทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ลมชัก) เพียงแต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักขณะหลับนั้นจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่ำกว่า เพราะเป็นขณะนอนหลับ ยกเว้นจะตกเตียง หรือกระแทกกับสิ่งของข้างเตียง
การรักษาภาวะชักขณะหลับ สิ่งที่ยากกว่าการรักษาอาการชักที่เกิดในเวลาตื่น คือ การประเมินว่ามีอาการชักหรือไม่ เพราะผู้ป่วยเอง อาจไม่ทราบว่าตนเองชักหรือไม่ ดังนั้นต้องมีการสังเกตจากคนรอบข้างที่อยู่ด้วย หรือใช้กล้องวงจรปิดบันทึกภาพขณะนอนหลับ โดยสังเกตว่า ตื่นเช้าขึ้นมามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ปัสสาวะราดหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องสงสัยว่ามีอาการชักนขณะหลับเกิดขึ้น
ผลการรักษาภาวะชักขณะหลับดีหรือไม่?
ผลการรักษาภาวะ/อาการชักขณะหลับ ไม่ได้แตกต่างกับผลการรักษาภาวะชักในขณะตื่น โดยจะขึ้นกับสาเหตของอาการชักและการดูแลตนเองที่ดี(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ลมชัก)
ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยภาวะชักขณะหลับ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- มีอาการชักบ่อยขึ้น และ/หรือ อาการชักรุนแรงขึ้น
- เกิดอุบัติเหตุจากการชัก
- มีอาการสงสัยว่าจะแพ้ยาที่แพทย์สั่ง
- มีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้สูง เป็นต้น
- กังวลในอาการ
ผู้ป่วยภาวะชักขณะหลับสามารถขับขี่รถได้หรือไม่?
ผู้ป่วยภาวะชักขณะหลับ ถ้าไม่เคยมีอาการชักร่วมด้วยที่เกิดในเวลากลางวัน หรือในขณะตื่นเลยในช่วงระยะเวลานาน 3 ปีติดต่อกันและยังมาพบแพทย์/มาโรง พยาบาลตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ ก็สามารถขับขี่รถได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะชักขณะหลับ เช่นเดียวกับการดูแลตนเองในโรคลมชักทั่วไป(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ลมชัก) ที่สำคัญ เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ดูแลห้องนอน อุปกรณ์การนอน ในช่วงเวลานอนหลับ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการชัก เช่น ในเรื่องการตกเตียง ไม่ควรใช้หมอนในการนอน เพราะอาจอุดกั้นการหายใจขณะชัก ดูแลเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากไฟขณะชัก ดูแลแสงสว่างในห้องให้เพียงพอในการดูแลเมื่อเกิดอาการชัก
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ญาติหรือคนในครอบครัวควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ญาติ/ครอบครัวควรช่วยกันดูแลผู้ป่วยภาวะชักขณะหลับ ที่สำคัญคือ ควรเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย สอบถามเรื่องการทานยากันชักเพื่อช่วยไม่ให้ผู้ป่วยขาดยา การพักผ่อนที่เพียงพอ การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด และคอยสังเกตอาการผู้ป่วยขณะนอนหลับ รวมถึงควรมาพบแพทย์ร่วมกับผู้ป่วยเสมอ
ป้องกันภาวะชักขณะหลับได้หรือไม่?
การป้องกันภาวะชักขณะหลับ คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ ดังได้กล่าวในหัวข้อ “สาเหตุ/ปัจจัยเสียง” เช่น การระมัดระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะ/สมอง ด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อขับรถยนต์นั่ง หรือสวมใส่หมวกนิรภัยเมื่อขับขี่จักรยานยนต์หรือเมื่อทำงานที่อาจเกิดอุบัติเหตุต่อสมองได้ตามมาตรฐานสากลในการป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะขณะทำงาน เป็นต้น