กลุ่มอาการจีบีเอส กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (GBS หรือ Guillain-Barre syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กลุ่มอาการที่เรียกย่อว่า กลุ่มอาการ/โรคจีบีเอส (GBS) หรือ กลุ่มอาการ/โรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome) คือ โรค/กลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทหลายๆเส้นพร้อมๆกันจนก่อให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน ซึ่งในรายที่รุนแรง อาจถึงขั้นเป็นอัมพาต, อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยสาเหตุจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาต, อาจก่อให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อจนเกิดปอดบวม จนเป็นสาเหตุให้ตายได้, หรืออาจก่อให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติจนส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ตายได้เช่นกัน

กลุ่มอาการจีบีเอส เป็นโรคพบทุกเชื้อชาติทั่วโลก มีรายงานจากประเทศตะวันตก ในแต่ละปีพบอัตราเกิดประมาณ 0.9-1.9 รายต่อประชากร 100,000 คน เป็นโรคพบทุกอายุ แต่พบน้อยในเด็กอ่อน(นิยามคำว่าเด็ก) และอัตราเกิดจะค่อยๆสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งอายุที่พบโรคได้สูงสุดมี 2 ช่วงอายุ คือที่ประมาณ 15-35 ปี และ 50-75 ปี ทั้งนี้ พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงประมาณ 1.5-1.8 เท่า

อนึ่ง:โรคนี้ได้ชื่อจากแพทย์ชาวฝรั่งเศส 2 คนคือ นพ. Georges Guillain และ นพ.Jean Alexandre Barré ที่ร่วมกันรายงานถึงวิธีวินิจฉัยโรคนี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459)

กลุ่มอาการจีบีเอสมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

จีบีเอส

โรค/กลุ่มอาการจีบีเอส เกิดจากร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve)หลายๆเส้นพร้อมๆกัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนที่เรียกว่า ‘ปลอกประสาท (Myelin sheath)’ ซึ่งโรคนี้ จัดเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองแต่เป็นชนิดที่สารภูมิต้านทาน ต้านตนเองเฉพาะเส้นประสาทส่วนปลายเท่านั้น ไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานเหล่านี้ แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มอาการจีบีเอส มีอาการเกิดตามหลังโรคติดเชื้อไวรัส และติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ/โรคระบบทางเดินหายใจ (เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ) หรือโรคระบบทางเดินอาหาร (เช่น มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้อง) โดยมักมีอาการเกิดตามหลังการติดเชื้อเหล่านั้นประมาณ 3 สัปดาห์
  • ส่วนผู้ป่วยอีก 1 ใน 3 แพทย์หาปัจจัยเสี่ยงไม่พบ

นอกจากนั้น มีรายงานประปรายว่า กลุ่มอาการจีบีเอส สามารถเกิดตามหลัง

  • การได้รับวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนโรคหัด(ปัจจุบันเป็นวัคซีนรวมหลายโรคในเข็มเดียวกันที่เรียกว่า วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์)
  • ตามหลังการผ่าตัด
  • ตามหลังการเกิดภาวะความเครียด
  • อาจเกิดร่วมกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

กลุ่มอาการจีบีเอสมีอาการอย่างไร?

โรค/อาการของกลุ่มอาการจีบีเอส เป็นอาการที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน โดยมักเกิดอ่อนแรงของกล้ามเนื้อทั้งสองข้างซ้ายขวาเท่าๆกันและในลักษณะเหมือนๆกัน (Symmetric weakness) และมักเริ่มเกิดที่กล้ามเนื้อขาก่อน ต่อจากนั้น การอ่อนแรงจึงลุกลามไปยังกล้ามเนื้อต่างๆทั่วตัว ที่สำคัญและเป็นสาเหตุให้ตายได้ คือ กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรงจนไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเองจนจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา

ทั้งนี้ บางคนที่อาการรุนแรง อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจลุกลามทั่วตัวภายในระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง แต่ที่รุนแรงน้อยกว่า อาการจะลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนถึงขีดสูงสุดภายในระยะเวลาประมาณ 28 วัน (ประมาณ 70% ของผู้ป่วยอาการจะถึงขีดสูงสุดภายใน 1 สัปดาห์)

ซึ่งหลังจากอาการถึงขีดสุดแล้ว อาการจะทรงตัว และค่อยๆฟื้นตัวช้าๆ อาจใช้ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือ เป็นปี โดย

  • อาจฟื้นตัวได้เป็นปกติ หรือ
  • ยังคงมีกล้ามเนื้อบางตำแหน่งอ่อนแรงบ้าง
  • ประมาณ 10-20% จะมีความพิการตลอดไป และ
  • ประมาณ 10-15% จะตายจาก ภาวะหายใจล้มเหลว, และ/หรือ ปอดบวมรุนแรง,

ทั้งนี้ อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น

  • ปวดกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการอ่อนแรง
  • เจ็บแปลบ ซ่า ชา กล้ามเนื้อมัดที่อ่อนแรง
  • ปวดหลัง
  • อาจเคลื่อนไหว ตา กล้ามเนื้อใบหน้า และ/หรือ เคี้ยวอาหาร/ กลืนอาหาร ไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเส้นประสาทกล้ามเนื้อมัดใดอักเสบ/ เสื่อม
  • หายใจไม่ได้ ถ้าเส้นประสาทกล้ามเนื้อซี่โครง/กล้ามเนื้อหายใจ อักเสบ/เสื่อม
  • ถ้าเส้นประสาทกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เสื่อม จะเกิดหัวใจเต้นผิดปกติ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • ถ้าเส้นประสาทกล้ามเนื้อลำไส้ และ/หรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ อักเสบ/เสื่อม จะมีอาการผิดปกติทางการขับถ่าย เช่น ท้องผูกอย่างมากเพราะลำไส้ไม่เคลื่อนไหว และ/หรือ ปัสสาวะไม่ออกเพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่บีบตัว ต้องใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ เป็นต้น
  • อาจมีความดันโลหิตสูง หรือความดันโลหิตต่ำ
  • อาจมีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดต่างๆ เช่น หลอดเลือดในปอด, หลอดเลือดที่ขา

แพทย์วินิจฉัยลุ่มอาการจีบีเอสอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรค/กลุ่มอาการจีบีเอสได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา ประวัติการฉีดวัคซีน
  • การเจาะน้ำไขสัน: เพื่อน้ำไขสันหลัง/น้ำในโพรงสมองและไขสันหลัง(ซีเอสเอฟ:CSF)มาตรวจ โดยโรคนี้มักมีโปรตีนปนในน้ำไขสันหลัง และตรวจไม่พบมีเซลล์อักเสบหรือมีเซลล์อักเสบน้อยมาก น้อยกว่า 10 เซลล์
  • นอกจากนั้น เป็นการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เพื่อแยกจากโรคต่างๆของ สมอง ไขสันหลัง หรือ กล้ามเนื้อ เช่น
    • ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานของโรคต่างๆที่แพทย์สงสัย
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG, Electroencephalogram)
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyogram)
    • การตรวจการสื่อนำหรือการชักนำของเส้นประสาท (Nerve conduction studies)
    • การตรวจภาพสมองและ/หรือไขสันหลังด้วย เอมอาร์ไอ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)

รักษากลุ่มอาการจีบีเอสอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรค/กลุ่มอาการจีบีเอส ได้แก่ การรักษาตามอาการ, และการรักษาตัวโรค

ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ: เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุดในผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งมักต้องเป็นการรักษาในโรงพยาบาล โดยอาจต้อง

  • เจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาว
  • ดูแลในเรื่องอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วนในช่วงที่ปัญหาในการเคี้ยว กลืน และย่อย
  • ดูแลเพื่อป้องกันการติดเชื้อของปอด
  • รักษาภาวะผิดปกติของการเต้นของหัวใจ
  • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ป้องกันภาวะเกิดลิ่มเลือดจากการต้องนอนนานๆ
  • ดูแลการขับถ่าย
  • ดูแลด้านกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อต่างๆลีบจากไม่ได้เคลื่อนไหว
  • ต้องดูแลด้านสภาพจิตใจ เพราะสมองของผู้ป่วยยังปกติ จึงรับรู้ได้ทุกเรื่อง และมักจะมีความเครียด ความกลัว และการซึมเศร้าสูงจากอาการต่างๆที่เกิดขึ้น

ข. การรักษาตัวกลุ่มอาการจีบีเอสเอง: เช่น

  • การให้ยาสารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin)
  • การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลืองของเลือดซึ่งอาจช่วยกำจัดสารภูมิต้านทานตัวก่อโรคนี้ได้ (Plasma exchange หรือ Plasmapheresis)

*อนึ่ง การรักษาทั้ง 2 วิธีการยังให้ผลการรักษาไม่ดีนัก

กลุ่มอาการจีบีเอสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มอาการจีบีเอส มีความรุนแรงสูง และมีผลต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย ได้แก่

  • อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ธรรมชาติของโรคตั้งแต่เริ่มมีอาการ รุนแรงอย่างรวดเร็ว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งตัวภายใน 1-2 วัน เป็นต้น
  • ผลการตรวจการสื่อนำของเส้นประสาทผิดปกติมาก
  • ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่นานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
  • มีโรคปอดเดิมอยู่แล้วก่อนเกิดกลุ่มอาการจีบีเอส
  • ได้รับการรักษาล่าช้า

ทั้งนี้ โดยทั่วไป:

  • ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้สูงสุดกลับมาเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 18 เดือนหลังจากมีอาการ (ประมาณ 80-85% ของผู้ป่วย)
  • บางรายอาจฟื้นตัวได้ภายใน 6 เดือน โดยบางรายอาจยังมีกล้ามเนื้อบางมัดอ่อนแรง, หรือมีอาการชาอยู่บ้างเล็กน้อย
  • ประมาณ 10-20% มีความพิการที่รุนแรง เช่น เท้าไม่มีแรง เดินเซ พูดไม่ชัด
  • ประมาณ 10-15% จะตายจาก ภาวะหายใจล้มเหลว และ/หรือ จากภาวะหัวใจล้มเหลว

ทั้งนี้ โรคจีบีเอสนี้ พบการย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 3-5% โดยไม่สามารถคาดการระยะเวลาในการกลับเป็นซ้ำ หรือปัจจัยเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำได้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

*การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการ ‘กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน’ โดยเฉพาะเมื่อเกิดตามหลังปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ เกิดหลังการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือ การติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร, หรือการได้รับวัคซีน, ควรรีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยหลังจากพบแพทย์แล้ว ให้ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ

อนึ่ง ในโรคนี้ ผู้ป่วยมักมีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ ดังนั้น การดูแลตนเองที่สำคัญ อีกประการ คือ การดูแลด้านอารมณ์/จิตใจ เข้าใจทั้งตัวเราและทั้งครอบครัว ยอมรับธรรมชาติของโรค ธรรมชาติของชีวิต ปรับตัว และคิดบวกเสมอ เมื่อมีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ทั้งตัวเราและครอบครัวก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี รับกับปัญหาสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

ผลข้างเคียงจากโรค/กลุ่มอาการจีบีเอส:

ก. ผลข้างเคียงของโรคนี้ในระยะเฉียบพลันที่สำคัญ คือ

  • ภาวะหายใจล้มเหลวจากการหายใจเองไม่ได้, ปอดติดเชื้อ/ปอดบวม, และมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดเลือดของปอด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลวจากการเต้นผิดปกติของหัวใจ (หัวใจเต้นผิดจังหวะ)
  • และปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจของผู้ป่วย

ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาว คือ

  • ความพิการจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปัญหาในการขับถ่ายจากล้ามเนื้อการขับถ่ายอ่อนแรงเช่นกัน
  • ที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจของผู้ป่วยจากคุณภาพชีวิตที่ลดลงจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ป้องกันกลุ่มอาการจีบีเอสอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค การป้องกันเต็ม100% จึงเป็นไปไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซึ่งคือ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ(โรคระบบทางเดินหายใจ) และในโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่ค้าง ดื่มแต่น้ำที่สะอาด โดยเฉพาะน้ำแข็ง และรู้จักป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทาง หรือท่องเที่ยว
  • รู้จักการใช้หน้ากากอนามัยเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคระบาดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หรือต้องสัมผัสผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และรู้จักรักษาระยห่างทางสังคม

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Newswanger, D., and Warren, C. (2004). Guillain-Barre syndrome. 69, 2405-2410.
  3. Van Doorn, P. et al. (2008). Clinical features, pathogenesis, and treatment of Guillain-Barre syndrome. Lancet neurol. 7, 939-950.
  4. Yuki, N., and Hartung, H. (2012). Guillain-Barre syndrome. N Engl J Med. 366, 22942304.
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Guillain%E2%80%93Barr%C3%A9_syndrome [2021,July3]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/315632-overview#showall [2021,July3]