จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 60 : การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมอง (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ใหญ่ประมาณ 1.5 ล้ายคน (ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี) ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)สาเหตุมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม (Genetic) และสภาพแวดล้อม (Environmental) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายจากโรคนี้

คนส่วนใหญ่พบว่า การใช้ยา “แอล-โดปา” (L-dopa) มากกว่า 10 ปีขึ้นไป ในการรักษาโรคพาร์กินสัน ทำให้เกิดผลเคียงที่ไม่พึงปราถนา (Unwanted side effect) อาทิ การเคลื่อนไหวอย่างไม่อิสระ (Involuntary movement) และการกลับคืนมา (Return) ของกลุ่มอาการดั้งเดิม (Original)

เนื่องจากผลกระทบที่ผิดจากความคาดหวัง (Disappointing) ในระยะยาวของการใช้ยาแอล-โดปาในการรักษาโรคพาร์กินสัน จึงมีการค้นหาทางเลือกการรักษา (Alternative treatment) อาทิ วิธีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ (Fetal tissue transplant) ก่อนหน้านี้นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ในหนู ได้ถูกปลูกถ่ายเข้าไปในหนูที่มีอายุแก่กว่า เซลล์ประสาทของเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ สามารถทำให้หนูที่มีอายุแก่กว่ามีชีวิตอยู่ต่อไปได้

นอกจากนี้ เซลล์ประสาทดังกล่าวยังเจริญงอกงาม และยอมให้สมองที่ถูกทำลายในหนูที่มีอายุแก่กว่า เรียนรู้ใหม่ (Re-learning) เกี่ยวกับทางออกของเขาวงกต (Maze) หลังจากที่ได้รับการนปลูกถ่ายเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ ในหนูและในลิง ทำให้นักวิจัยเริ่มการปลูกถ่ายดังกล่าว เข้าไปในผู้ป่วยที่ทนทุกข์ทรมานจากโรคพาร์กินสัน

เหตุผลหลัก (Primary) สำหรับการใช้เนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ที่มีอายุ 6 ถึง 8 สัปดาห์ สำหรับการปลูกถ่าย ก็คือ เนื้อเยื่อสมองนี้มีความสามารถที่โดดเด่น (Unique ability) ในการอยู่รอด (Survive) และในการเชื่อมโยงกับสมองหรือร่างกายของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น เซลล์ประสาทจากทารกในครรภ์ที่มีอายุ 8 สัปดาห์ แทบจะไม่มี “ใยประสาทนำเข้า” (Dendrite) [ไขสันหลัง] แต่เป็นจุดหลัก (Prime) ของพัฒนาการ

หลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว เซลล์ประสาทจากทารกในครรภ์ ก็จะพัฒนา “ใยประสาทนำเข้า” ที่แตกกิ่งก้านสาขาไปทั่ว ส่วนเซลล์ประสาทจากสมองของผู้ใหญ่ จะเต็มไปด้วยกิ่งก้านสาขาของ “ใยประสาทนำเข้า” กล่าวคือ เมื่อเซลล์ประสาทเจริญเต็มที่ (Mature) ได้รับการปลูกถ่าย มันก็จะพัฒนากิ่งก้านสาขาใหม่ได้ไม่มาก (ถ้าได้)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เนื่องจากเนื้อเยื่อสมองจากทารกในครรภ์ เป็นส่วนสำคัญของการเจริญเติบโต มันมีโอกาสของการอยู่รอด หลังการปลูกถ่าย ได้มากกว่าเนื้อเยื่อจากสมองที่เติบโตเต็มที่แล้ว แต่ประเด็นทางด้านจริยธรรม (Ethical) และกฎหมาย (Legal) ของการใช้เซลล์ทารกในครรภ์ของมนุษย์ ทำให้นักวิจัยต้องใช้เซลล์จากสมองจากหมูทารกในครรภ์แทน

ในการทดลองผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันขั้นร้ายแรง จำนวน 10 คน โดยที่แต่ละคนได้รับการปลูกถ่ายจาก 12 ล้านเซลล์สมองของหมูทารกในครรภ์ หลังจากการปลูกถ่าย 3 ปี พบว่า ผู้ป่วย 6 คน แสดงผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเล็กน้อยถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม การปลูกถ่ายเซลล์ของสัตว์เข้าไปในสมองของมนุษย์ เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องการปลูกถ่ายแบคทีเรีย เชื้อโรค หรือไวรัส จากสัตว์สู่คนด้วย แม้ว่าในปัจจุบัน ยังไม่พบโรคในสัตว์หรือปัญหาที่สืบเนื่องในผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่ได้รับการปลูกถ่าย

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Fetal tissue implant - https://en.wikipedia.org/wiki/Fetal_tissue_implant [2016, June 4].