จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 408 : ความอัจฉริยะสามารถค้นพบในสมองได้ไหม (2)

จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 408 : ความอัจฉริยะสามารถค้นพบในสมองได้ไหม (2)

ชาร์ล สเปียแมน (Charles Spearman) เป็นนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ มีผลงานโดเด่นด้านสถิติ (Statistics) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor analysis) เขาสร้างแบบจำลอง (Model) สำหรับวัดสติปัญญาของมนุษย์ (Human intelligence) รวมทั้งการทดสอบการรับรู้ (Cognitive test) ที่สะท้อนปัจจัยทั่วไป (General factor) เพียงปัจจัยเดียว เรียกว่า ปัจจัย จี

นักวิจัยหลายท่านคาดเดาว่า ถ้าแนวคิด ปัจจัย จี เป็นสิ่งที่มีความแม่นยำสูง ดังนั้นส่วนใดส่วนหนึ่งในพื้นที่สมองของคนเราจะถูกเปิดใช้งาน ขณะที่คนเรากำลังนึกคิดเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่ถูกนำมาใช้ในแบบทดสอบทางสติปัญญา หรือ IQ (= Intelligence quotient)

ในอีกด้านหนึ่งถ้าไม่มีปัจจัย จี ของสเปียแมน แต่มีหลากหลายประเภทของการใช้สติปัญญา (Multiple) ดังนั้นืหลายส่วนในสมองของคนเราจะถูกเปิดใช้งานในขณะที่เราใช้ความคิดเพื่อแก้ไขปัญหา

นักวิจัยได้ใช้การฉายรังสีเพทสแกน (PET scan; PET = Positron emission tomography) เพื่ออมองลึกลงไปในสมองที่กำลังทำงานอยู่ของผู้ชายและผู้หญิงรวม 13 คนในขณะที่กลุ่มคนที่เข้าทดลองกำลังแก้ไขโจทย์ที่ต้องใช้สติปัญญาผ่านวาจาและมิติสัมพันธ์ (Verbal and spatial) อันคล้ายคลึงกับสิ่งที่ใช้ในแบบทดสอบทาง IQ

PET scan ทำงานโดยวัดอัตราการไหลเวียนของเลือดสู่เส้นประสาท ฉะนั้นการไหลเวียนของเลือดมากบ่งชี้ให้เห็นกิจกรรมของระบบประสาทที่เกิดขึ้นมาก และการไหลเวียนของเลือดน้อย ชี้ให้เห็นกิจกรรมของระบบประสาทที่น้อย

การสแกนข้างต้น ทำให้นักวิจัยเห็นภาพของกิจกรรมของระบบประสาทภายในสมองที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยนักวิจัยพบว่า ไม่ว่าผู้เข้าทดลองจะแก้ไขแบบทดสอบผ่านวาจาหรือมิติสัมพันธ์ มีเพียงส่วนทั่วไปของสมองกลีบหน้าผากส่วนด้านข้าง (Lateral prefrontal cortex) ที่มีการทำงานอยู่

เนื่องจากมีแค่พื้นที่เดียวในสมองของคนเราที่เปิดระบบทำงานอยู่ นักวิจัยจึงสรุปว่า พื้นที่เดียวดังกล่าวของสมองทำงานขณะผู้เข้าทดลองทำแบบทดสอบทั้งแบบวาจาและมิติสัมพันธ์ ซึ่งพื้นที่สมองส่วนนี้อาจเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของระบบประสาทสำหรับความสามารถทางสติปัญญาแบบทั่วไป หรือปัจจัย จี ของสเปียแมน

อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต สเตอร์นเบอร์ก (Robert Sternberg) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านพัฒนามนุษย์ (Human development) ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) ที่มีผลงานมากมายทางด้านนี้ ให้ความเห็นที่แตกต่าง

เขาชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์จากการทดลองข้างต้นแสดงเพียงความเชื่อมโยง (Correlation) ระหว่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของสมองกับผลของงาน  (Performance) จากการใช้สติปัญญา แต่ไม่อาจใช้กับความคิดสร้างสรรค์ (Creative) หรือเชิงปฏิบัติ (Practical)

และความสัมพันธ์ส่วนนี้ไม่สามารถแสดงผลลัพธ์อย่างชัดเจนให้เห็นว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง จึงทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดประเภทปัจจัย จี ของสเปียแมนเพียงอย่างเดียวจริงหรือไม่

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed).  Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
  2. Charles Spearman - https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Spearman [2023, March 4].
  3. Robert Sternberg - https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Sternberg [2023, March 4].