จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 390: - 2 คุณสมบัติของแบบทดสอบทางไอคิว (2)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 30 ตุลาคม 2565
- Tweet
อย่างไรก็ตาม ถ้าคะแนนจากแบบทดสอบไอคิว (IQ Score) มีความเป็นเหตุและผลในการวัดคความสามารถทางสติปัญญา (Cognitive Ability) และมีความเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพ (Performance) ทางการศึกษา แต่ทำไมมีบุคคลบางกลุ่มที่สามารถทำคะแนนแบบทดสอบไอคิวได้ดี แต่ไม่สามารถทำคะแนนได้ดีในมหาวิทยาลัย
นักจิตวิทยาพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนนามว่าเอ็ดเวิร์ด ซิกเลอร์ (Edward Zigler) เชื่อว่าประสิทธิภาพทางด้านการศึกษาขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย กล่าวคือ
(1) ความสามารถทางสติปัญญา,
(2) ความสำเร็จหรือจำนวนความรู้ที่บุคคลนั้นๆ ได้สั่งสมไว้, และ
(3) แรงบันดาลใจ
อันหมายความว่าคนเราอาจมีความสามารถทางสติปัญญาที่ดีแต่ยังขาดอะไรบางอย่าง เช่น ความสำเร็จหรือแรงบันดาลใจที่จะประสบความสำเร็จในมหาวิทยาลัย
นอกจากปัจจัยเรื่องของเหตุและผล (Validity) แล้ว สิ่งที่แบบทดสอบทางสติปัญญาที่ดีควรมีคือความน่าเชื่อถือ (Reliability) ถ้าลายมือคนเราคงสภาพเหมือนเดิมตลอดเวลาเช่นความเข้มของตัวเขียนเหมือนเดิมทุกครั้งสิ่งนี้จึงมีความน่าเชื่อถือ
ความน่าเชื่อถืออิงถึงความมั่นคงเช่น หากคะแนนที่คนเราสามารถทำในข้อสอบได้ในตอนนี้ จำเป็นต้องได้คะแนนที่ใกล้เคียงกันกับข้อสอบในอนาคตที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
หากพวกเราได้ทำแบบทดสอบ WAIS-III ตอนศึกษาช่วงมัธยมและต่อมาได้ทำแบบทดสอบอีกครั้งตอนเริ่มเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 พวกเราจะพบว่าคะแนนแบบทดสอบที่พวกเราได้รับจะมีคะแนนเท่าเดิม เพราะในแต่ละครั้งคะแนนสอบของพวกเราจะถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน แม้ว่าคะแนนแบบทดสอบที่คุณได้รับจะเหมือนเดิมแม้เวลาผ่านไป นั่นหมายความว่าแบบทดสอบของ WAIS-III มีมาตรฐานในการวัดระดับทางสติปัญญาและมีความน่าเชื่อถือ
ยกตัวอย่างเช่น ผลคะแนนในหมวดหมู่การพูดจากแบบทดสอบทางไอคิวจาก 7 กลุ่มช่วงอายุ ที่ทำแบบทดสอบ WAIS-III พบว่าคะแนนของแบบทดสอบค่อนข้างคงที่จากกลุ่มคนอายุ 20-74 ปีโดยบ่งชี้ให้เห็นว่าแบบทดสอบนี้มีความน่าเชื่อถือสูงแต่ในส่วนของการวัดค่าประสิทธิภาพจาก 7 กลุ่มช่วงอายุเดิม อาจแสดงให้เห็นผลคะแนนที่ลดลงในช่วงคนอายุ 20-74 ปี
การลดลงของคะแนนทางด้านประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและการทำงานทางจิตอันไม่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของแบบทดสอบ
นักวิจัยสรุปว่าแบบทดสอบทางสติปัญญาในปัจจุบันที่วัดค่าหลักเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญามีความเป็นเหตุและผลและน่าเชื่อถือ แม้ว่าคะแนนจากแบบทดสอบทางไอคิวสามารถวัดค่า 2 ลักษณะดังกล่าวได้ดี คำถามที่เกิดขึ้นต่อไปคือทำไมเราจำเป็นต้องทำแบบทดสอบนี้
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Intelligence - https://en.wikipedia.org/wiki/Intelligence [2022, October 29].
- Edward Zigler - https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Zigler [2022, October].
- David Wechsler - https://en.wikipedia.org/wiki/David_Wechsler [2022, October 22].