จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 381: - ทฤษฎีความฉลาดแบบหลายปัจจัย (1)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 31 กรกฎาคม 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 381: - ทฤษฎีความฉลาดแบบหลายปัจจัย (1)
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อเฮาเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ปฏิเสธแนวคิดที่ว่า สติปัญญาหรือความฉลาดของคนเราสามารถวัดค่าได้โดยปัจจัย G (คะแนนจากแบบทดสอบ IQ) โดยเขาเชื่อว่าการตีความหมายของค่าสติปัญญา ควรรวมถึงความสามารถประเภทอื่น ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า ทฤษฎีความฉลาดแบบหลายปัจจัย (Multiple-intelligence theory)
ทฤษฎีข้างต้นหมายถึง นอกเหนือจากความฉลาดทั่วไปแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 7 ประเภท อันได้แก่สติปัญญาทางด้านการพูดและภาษา (Linguistic), ทางด้านดนตรี, ทางด้านคณิตศาสตร์, ทางด้านสถานที่ (Spatial), ทางด้านการเคลื่อนไหว (Kinesthetic), ทางด้านการเข้าใจตนเอง (Interpersonal), และทางด้านการเข้าใจผู้อื่น (Intrapersonal)
การ์ดเนอร์กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว มาตรฐานแบบทดสอบ IQ ทั่วไปวัดค่าสติปัญญาการพูดและคณิตศาสตร์ แต่ไม่ได้เกี่ยวโยงถึงความสามารถทางสติปัญญาประเภทอื่น ตามที่ระบุไว้ข้างต้น
การ์ดเนอร์ได้จำแนกทฤษฎีเกี่ยวกับสติปัญญาออกเป็นหลายประเภท หลังจากที่เขาศึกษาแล้วพบว่า ความสามารถของคนเราด้านไหนที่จะยังหลงเหลืออยู่บ้างหากเกิดความเสียหายในสมองคนเรา เขายังศึกษาวิธีที่นักปราชญ์และอัจฉริยบุคคลได้พัฒนาความฉลาดเฉพาะทาง รวมทั้งบุคคลที่เกิดจากต่างถิ่น มีการพัฒนาประเภทสติปัญญาที่ต่างกันและยังสามารถปรับตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้
จากทฤษฎีความฉลาดแบบหลายปัจจัย เราเรียนรู้ว่า ความสามารถทางสติปัญญาแบบทั่วไปไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่วัดค่าสติปัญญาของแต่ละบุคคล ในมุมมองของการ์ดเนอร์ ความสามารถพิเศษของ วีนัส วิลเลียมส์ (Venus Williams) (นักเทนนิสหญิงระดับโลก) และมิโดริ (Midori) (นักดนตรีระดับโลก) แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางสติปัญญาประเภทอื่น
การ์ดเนอร์แย้งว่า ไม่มีความสามารถทางสติปัญญาประเภทไหน จาก 5 ประเภทของสติปัญญาที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จะมีความโดดเด่นกว่ากัน อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเภทของสติปัญญาแสดงให้เห็นประเภทความสามารถที่แตกต่างกันและยังสามารถปรับใช้เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้นๆ
มี 2 ข้อเสียของการศึกษานี้คือ เราไม่สามารถรู้จำนวนที่แน่ชัดของประเภทของสติปัญญา และไม่มีเทคนิคการวัดค่าเพื่อเข้าถึงแต่ละประเภทของสติปัญญาที่เป็นรูปแบบมาตรฐาน หลายคนเห็นด้วยกับทฤษฎีของเขาที่ว่าปัจจัยจ G เป็นมุมมองที่แคบเกินไปสำหรับการวัดค่าของสติปัญญา
จากข้อจำกัดสำหรับแบบทดสอบ IQ มีอยู่ในปัจจุบัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน นามว่า โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) จึงได้นำเสนอทฤษฎีความฉลาด 3 ด้าน (Triarchic theories of intelligence) โดยเขากล่าวว่า สติปัญญาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทของกระบวนการการใช้เหตุและผลของคนเรา เริ่มจากด้านแกรคือการใช้ความคิดในเชิงวิเคราะห์และตรรกะที่สามารถวัดค่าได้จากแบบทดสอบ IQ ทั่วไป, ต่อมาด้านที่ 2 เป็นการใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาจากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถที่เคยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์, และด้านสุดท้ายคือการใช้ความคิดในเชิงปฏิบัติที่ช่วยให้คนเราปรับเปลี่ยนและเข้าถึงสภาพแวดล้อมของตนเองได้
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Howard Gardner - https://en.wikipedia.org/wiki/Howard_Gardner, [2022 July 30].
- Charles Spearman - https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Spearman, [2022 July 30].
- Robert Sternberg - https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_Sternberg, [2022 July 30].