จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 38 : ภาพแสดงความคิด

จิตวิทยาผู้ใหญ่

ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางจิตวิทยาชีวภาพ (Biological psychology) ที่น่าตื่นเต้นที่สุด โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ประสาทการรับรู้ (Cognitive neuro-science) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้วิธีการฉายภาพ (Imaging technique) ที่ค่อยๆ จุดประกายความคิด (Light up thought) คือวิธีการที่เรียกว่า เพ็ทสแกน (PET scan)

คำว่า PET ย่อมาจาก Position emission tomography ซึ่งเป็นการฉีด (Inject) สารละลายกัมมันตรังสี (Radioactive solution) เข้าไปในหลอดเลือด แล้ววัดปริมาณกัมมันตรังสีที่เซลล์ประสาท (Neuron) ดูดซึม (Absorb) ไป คอมพิวเตอร์จะ แปลงโฉม (Transform) ระดับต่างๆ กันของการดูดซึม ให้กลายเป็นนานาสีที่บ่งชี้ถึงความไว (Activity) ของเซลล์สมอง

สีแดงและสีเหลือง แสดงถึงความไวสูงสุดของเซลล์สมอง ในขณะที่สีฟ้าและเขียว แสดงถึงความไวต่ำสุดของเซลล์สมอง ตัวอย่างเช่น ส่วนของความไวเมื่อผู้เข้ารับการวิจัย (Subject) ถูกร้องขอให้มองที่คำ (Looking at words) เปรียบเทียบกับเมื่อเขาถูกร้องขอให้พูดเป็นคำ (Speaking words)

นักวิจัยพบว่า ในกรณีที่ผู้เข้ารับการวิจัยถูกร้องขอให้มองที่คำ แต่มิให้พูด ความไวของเซลล์สมอง จะเกิดขึ้นใกล้ด้านหลังของสมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวล (Process) ข้อมูลการเห็น (Visual) ในกรณีผู้เข้ารับการวิจัยถูกร้องขอให้พูด แทนที่จะคิดถึงมัน ความไวของเซลล์สมอง จะเกิดขึ้นใกล้ด้านกลางหน้า (Front-middle) ของสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับการพูดวาจา

เมื่อใช้ PET scan นักวิจัยสามารถจับคู่ (Map) ความไวของเซลล์สมองกับสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน ในขณะที่เรากำลังทำงานการรับรู้ (Cognitive task) ที่ซับซ้อน (Complex) อาทิ การคิดและการพูด โดยนักวิจัยจับคู่ความไวของเซลล์ประสาท ซึ่งแสดงถึงอาณาบริเวณ (Area) ส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเอ่ย (Name) ถึงสัตว์และวัตถุ (Object)

นักวิจัยรายงานว่าสมองถูกเชื่อมโดยทางยีน (Genetically wired) ให้จัดวางสิ่งของ (อาทิ เครื่องมือ สัตว์ ใบหน้า และผัก) อยู่ในประเภท (Category) ที่แตกต่างกัน เพื่อว่าเราจะมองเห็น (Perceive) และเข้าใจเหตุผล (Make sense) ของสรรพสิ่งในโลกอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

การใช้ PET scan ทำให้นักวิจัยสามารถแยกแยะ (Identify) อาณาบริเวณของสมองที่ถูกกระตุ้น (Activated) เมื่อเราใช้ความคิดเฉพาะ (Specific) อย่างเบาๆ (Silent) ในการเอ่ยถึงสัตว์ และเครื่องมือ (Tool)

ในกรณีความคิดของผู้เข้ารับการวิจัย เมื่อเขาเอ่ยถึงสัตว์ด้วยเสียงเบาๆ ก็จะเกิดการกระตุ้นที่สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของการประมวลข้อมูลการเห็น นักวิจัยเชื่อว่า อาณาบริเวณการเห็นนี้ ช่วยให้เราแยกแยะความแตกต่าง (Distinguish) ของขนาด รูปร่าง และสี อาทิ การแยกแยะอูฐที่แตกต่างจากม้า

แต่ในกรณีความคิดของผู้เข้ารับการวิจัย เมื่อเขาเอ่ยถึงเครื่องมือ (อาทิ คีม และค้อน) ด้วยเสียงเบาๆ ก็จะเกิดการกระตุ้นที่สมองส่วนกลาง-หน้า ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่จะช่วยเราคิดว่า จะใช้เครื่องมืออย่างไร? ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า สมองมี 2 ระบบที่แยกจากกัน ดังระบบในตัวอย่างข้างต้น

แหล่งข้อมูล

1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.

2. Position emission tomography - https://en.wikipedia.org/wiki/Positron_emission_tomography [2015, January 2].