จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 378: - การวัดค่าทางจิต (2)
- โดย ภู ภักดิ์วิไลเกียรติ
- 10 กรกฎาคม 2565
- Tweet
จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 378: - การวัดค่าทางจิต (2)
บุคคลที่ 4 คือ สตีฟ ลู (Steve Lu) ในขณะที่เขาอายุได้ 5 ขวบ เขาสามารถทำแบบทดสอบวัดค่าสติปัญญา (Intelligence quotient [IQ] Test) ได้ถึง 194 คะแนนโดยที่ค่าเฉลี่ยของบุคคลทั่วไปจะสามารถทำได้เพียง 100 คะแนน
ในขณะที่สตีฟ ลูอายุได้ 9 ขวบ เขาสามารถทำคะแนนการทดสอบทางคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมปลาย (Scholastic Aptitude Test: SAT) ได้ถึง 710 จาก 800 คะแนน และเขาใช้เวลาเพียง 5 ปี ในการสำเร็จการศึกษาจากระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา ซึ่งโดยทั่วไปหลักสูตรนี้จะต้องใช้ระยะเวลาเรียนถึง 12 ปี
ต่อมาในขณะที่สตีฟ ลูอายุได้ 10 ขวบ เขาได้เริ่มเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษาที่ 1 และในวัย 15 ปีเขาได้รับยอมรับให้เป็นนักศึกษาที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) อันเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลกด้วย
บุคคลระดับโลกคนสุดท้ายคือมิโดริ (Midori) ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น เธอได้เริ่มเล่นไวโอลินเมื่อเธออายุได้เพียง 3 ปี ในขณะที่เธออายุ 10 ขวบ ทุกคนได้ยอมรับว่า เธอคืออัจฉริยะในวงการดนตรี (Musical prodigy)
มิโดริ มีบทบาทมากมายในวงการดนตรีคลาสสิก (Classical music) โดยที่เธอได้เข้าร่วมแสดงในฐานะมืออาชีพกับวงดนตรีออร์เคสตราชื่อนิวยอร์ก ฟิลาโมนิก (New York Philharmonic Orchestra) เมื่ออายุเพียง 11 ปี โดยเป็นศิลปินเดี่ยวไวโอลิน (Violin soloist) ในงานราตรีสโมสรส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (New Year’s Eve Gala) ในปี ค.ศ. 1982
ความน่าทึ่งของมิโดริคือ เธอสามารถจดจำและทำการแสดงได้อย่างไม่มีที่ติกับโน้ตเพลงคลาสสิกที่มีความซับซ้อนและยืดยาว อันสืบเนื่องมาจากการที่มารดาของเธอ เริ่มสอนไวโอลินแก่เธอ ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เธอเริ่มแสดงไวโอลินต่อหน้าสาธารชนครั้งแรก เมื่อายุ 6 ขวบ ที่เมืองโอซากา บ้านเกิดเมืองนอนของเธอเอง
เมื่ออายุ 15 ปี เธอได้กลายเป็นนักไวโอลินมืออาชีพ (Professional violinist) และเมื่ออายุ 18 ปี เธอได้เปิดตัว (Debut) แสดงในวงออร์เคสตรา ณ คาร์เนกี ฮอลล์ (Carnegie Hall) สถานแสดงดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
จาก 5 บุคคลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทำให้นักจิตวิทยาตระหนักถึงความหมายของคำว่าอัจฉริยะ เมื่อปีคริสตทศวรรษ 1800s มีการถกเถียงมากมายระหว่างนักจิตวิทยาหลายท่านเกี่ยวกับความหมายของคำว่าอัจฉริยะ โดยทำให้เกิดการพัฒนาแบบทดสอบมากมายเพื่อวัดตัวเลขของค่าสติปัญญา (Psychometrics)
การวัดค่าสติปัญญาคือหัวข้อย่อยของสาขาจิตวิทยา ที่ว่าด้วยการพัฒนาแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่เข้าถึงความสามารถ, ทักษะ, ความเชื่อ, และบุคลิกส่วนบุคคล โดยอิงจากสถานที่และวัฒนธรรมของบุคคลนั้นๆ
การวัดค่าความอัจฉริยะและการพัฒนาแบบทดสอบทางสติปัญญาจัดอยู่ในหมวดของแบบทดสอบการวัดค่าสติปัญญา อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันในบรรดานักจิตวิทยาด้วยกัน จนถึงทุกวันนี้ ว่าเป็นการวัดผลที่สะท้อนความเป็นจริงของอัจฉริยภาพ จริงหรือไม่
แหล่งข้อมูล
- Plotnik (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth - Thompson Learning.
- Intelligence - https://en.wikipedia.org/wiki/Intelligence [2022, July 9].
- Midori - https://en.wikipedia.org/wiki/Midori_(violinist) [2022, July 9].