จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 262: ประยุกต์ใช้การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (3)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-262

      

จากทฤษฎีการทดแทนของสิ่งเร้า (Stimulus substitution) เราจะเกิดอาการน้ำลายไหล (Salivate) เมื่อเราเห็นพิซซ่า เพราะการมองเห็นนี้ (สิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข [Conditioned stimulus]) ทำให้ระบบประสาทรับรู้ถึงพิซซ่าได้ (สิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข [Unconditioned stimulus]) เพราะแบบนี้ ทำให้การมองเห็นเข้ามาทดแทนชิ้นพิซซ่า

ดังนั้นเพียงแค่การมองเห็นพิซซ่า ก็สามารถทำให้เกิดอาการน้ำลายไหลได้ (การตอบสนองที่ถูกวางเงื่อนไข [Conditioned response]) อย่างไรก็ตาม นักวิจัย (Researcher) ได้ค้นพบว่าการกระตุ้นการตอบสนองด้วยสิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข มักจะได้ผลที่แตกต่างจากการกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าดูตามสิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข สุนัขจะเกิดอาการน้ำลายไหล และขบเคี้ยว (Chew) อยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าดูจากสิ่งเร้าที่ถูกวางเงื่อนไข ถึงสุนัขจะเกิดอาการน้ำลายไหล แต่ก็น้อยมากที่จะมีการขบเคี้ยว จากผลลัพธ์นี้และคำวิจารณ์ (Criticisms) อื่นๆ เกี่ยวกับทฤษฎีการทดแทนของสิ่งเร้าของนักจิตวิทยา ปัฟลอฟ (Pavlov) นักวิจัยเห็นว่ามีคำอธิบายอื่นอีกที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรียกว่า ทฤษฎีความต่อเนื่อง (Contiguity Theory)

ทฤษฎีความต่อเนื่องกล่าวว่า เพราะการมองเห็น (เพียงอย่างเดียว) พิซซ่าในระยะเวลาที่ใกล้จะรับประทานเข้าไป จึงกระตุ้นให้เกิดอาการน้ำลายไหล ทฤษฎีความต่อเนื่องนี้ เป็นคำอธิบายยอดนิยมที่สุดในการอธิบายเกี่ยวกับการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค จนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1960s เมื่อคำอธิบายนี้ถูกโต้แย้งจากนักจิตวิทยาท่านหนึ่งชื่อ โรเบิร์ต เรสคอร์ล่า (Robert Rescola)

โรเบิร์ต เรสคอร์ล่า เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ (Cognitive processes) ในการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค โดยมุ่งเน้น (Focus) ไปยังเรื่องของการเรียนรู้และพฤติกรรมของสัตว์และมนุษย์ ด้วยผลงานอันโดดเด่น (Achievement) เขาได้รับรางวัลจากสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association)

คุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific contribution) ที่เขาได้สร้างให้ไว้แก่สาขาวิชาจิตวิทยา (Psychology) ร่วมกับอลัน แวกเนอร์ (Allan Wagner) ก็คือแบบจำลองการวางเงื่อนไข (Rescorla-Wagner Model of conditioning) แบบจำลองนี้ขยายความรู้ในเรื่องกระบวนการเรียนรู้

นอกจากนี้เขายังพัฒนาการวิจัยเรื่องการวางเงื่อนไขของนักจิตวิทยา ปัฟลอฟ และการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant or Instrumental training) ซึ่งเป็นการเพิ่มหรือลดความน่าจะเป็นของการให้คุณ (Reinforcement) และการให้โทษ (Punishment) ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์

แบบจำลองนี้มีอิทธิพลสูงมาก (Extremely influential) ในการนำไปสู่การทดลองจนค้นพบ (Experimental findings) การพัฒนาทฤษฎีใหม่ๆ ในเวลาต่อมา

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Conditioninghttps://www.britannica.com/science/conditioning [2020, April 18].
  3. Robert A. Rescorla - https://en.wikipedia.org/wiki/Robert_A._Rescorla [2020, April 18].