จิตวิทยาผู้ใหญ่ ตอนที่ 245: การบำบัดรักษาผู้เสพติด (5)

จิตวิทยาผู้ใหญ่-245

      

      นักวิจัยพบว่า ในบรรดาผู้เคยดื่มเหล้าจัด (ประมาณเดือนละ 25 วัน) ก่อนการบำบัดรักษา 35% รายงานว่า ไม่ดื่มอีกเลย 1 ปีหลังการบำบัดรักษา ในขณะที่อีก 65% ดื่มบ้าง (Slip) หรือกลับคืนสู่สภาพเดิม (Relapse) ในการดื่ม โดยที่ในจำนวนนี้ 40% รายงานว่า ดื่มจัดอย่างน้อย 3 วันติดต่อกัน (Consecutive)

      การค้นพบที่ไม่คาดคิดมาก่อน (Unexpected) ก็คือการบำบัดรักษาทั้ง 3 วิธีมีประสิทธิผลพอๆ กัน (Equally effective) ในการลดการดื่ม แม้ว่าทั้ง 3 วิธีจะดูเหมือนแตกต่างกัน แต่เหมือนกันในแง่ประสิทธิผล กล่าวคือประเภทเฉพาะ (Specific) ของวิธีการบำบัดรักษาที่ใช้ ไม่สำคัญเท่ากับการค้นพบหนทางที่จะสนับสนุนให้ผู้เสพติดรับรู้ (Recognize) ปัญหา และแสวงหาความช่วยเหลือในการแก้ปัญหา

      ประสิทธิผลของการบำบัดรักษาการเสพติด มักจะวัดผลด้วยจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงละเว้น (Abstinent) การเสพติด ในช่วงเวลา 1 ปี อัตราส่วนของผู้ประสบผลสำเร็จ มีตั้งแต่ 30 ถึง 45% ซึ่งหมายความว่า 55 ถึง 70% ของผู้เสพติด กลับคืนสู่สภาพเดิมของการเสพติด ในช่วง 1 ปีหลังการบำบัดรักษา

      เกือบทุกโปรแกรมของการบำบัดรักษา อาทิ “ขี้เหล้านิรนาม” (Alcohol Anonymous : AA) ต้องการให้ละเว้นอย่างเด็ดขาด (Total abstinence) อย่างไรก็ตาม การถกเถียงที่ยังดำเนินอยู่ (On-going debate) ในเรื่องที่ว่า พวกขี้เหล้าเมายาสามารถเรียนรู้การเสพในปริมาณพอประมาณ (Moderate) อย่างรับผิดชอบ (Responsibly) หรือไม่? จนถึงปัจจุบันนี้ มีงานวิจัยน้อยมากที่แสดงถึงการตอบคำถามในประเด็นในเรื่องนี้

      ผู้เสพติดหนัก (Severe addicts) มีอีกทางเลือกหนึ่งที่เรียกว่า โปรแกรม “ลดสารพิษ” (Detox) ก่อนเข้าสู่โปรแกรมฟื้นฟู (Rehabilitation) หรืออาจเลือกเป็นผู้ป่วยใน (In-patient) หรือผู้ป่วยนอก (Out-patient) ของสถานพยาบาลก็ได้ แต่ในขั้นตอนสุดท้าย หลังผู้ป่วยในออกจากโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยนอกกลับจากคลินิก ในโปรแกรมการบำบัดรักษา จะมีการฟื้นฟู (Recovering) ผู้ป่วย โดยเขาจะได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนหลังการบำบัดรักษา (After-care support) ในชุมชนของเขา เพื่อต่อสู้กับความเย้ายวน (Temptation) ที่จะกลับไปสู่การเสพติดเหมือนเดิม

      โปรแกรมยอดนิยมที่สัมฤทธิ์ผล ได้แก่ “ขี้เหล้านิรนาม” และ “ขี้ยานิรนาม” (Narcotics Anonymous : NA) โปรแกรมเหล่านี้ สอนผู้ที่เคยเป็นทั้งขี้เหล้าเมายาในวิธีการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะกระตุ้น (Trigger) ให้กลับไปเสพติด และ เผชิญ (Cope) กับตัวสร้างความเครียด (Stressors) ที่จะนำไปสู่การเสพติด โดยสร้างการประเมินคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ให้สูงขึ้นอย่างมั่นใจ (Confidence)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. What Are My Addiction Treatment Options? https://www.addictioncenter.com/treatment/ [2019, December 21].