จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 338 : สุดท้ายปลายทาง 1
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 13 ตุลาคม 2564
- Tweet
จากวันที่ 22 เมษายน 2015 ผมได้เริ่มต้นนำเสนอจิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 1 จวบมาถึงวันนี้ ซึ่งกำลังผมกำลังพาคุณผู้อ่าน เข้าสู่โค้งสุดท้ายด้วย 4 ตอนอวสาน โดยขอนำเสนอในรูปแบบสรุปภาพรวม ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นด้วย ชราภาพ (Aging) มี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นชราภาพตามปรกติ ซึ่งเป็นกระบวนการไปตามธรรมชาติที่ค่อยๆ ชะลอลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนประเภทที่ 2 เป็นชราภาพตามพยาธิ (Pathological) ซึ่งมีสาเหตุจากความบกพร่องทางพันธุกรรม (Genetics), ปัญหาทางสรีระ (Physiological), หรือเชื้อโรค ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งกระบวนการชราภาพ
จุดมุ่งหมายหนึ่งของการศึกษาเรื่องชราภาพ (Gerontology) ก็คือการแยกสาเหตุของชราภาพตามปรกติ ออกจากชราภาพตามพยาธิสภาพ การศึกษาในเรื่องนี้ นับวันจะมีทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยมีจำนวนเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชียรองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น โดยได้เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้พยากรณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2565 เมื่อสัดส่วนของประชากรสูงวัยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ
สาเหตุหลักของการตายในโลกที่พัฒนาแล้ว คือโรคเรื้อรัง (Chronic) ที่ยาวนาน อาทิ โรคมะเร็ง, ปัญหายืดเยื้อของหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular), และปอด (Pulmonary) ซึ่งนักวิจัยคาดว่า จะเป็น 90% ของภาระสุขภาพ (Health burden) ในปี พ.ศ. 2573 กล่าวคือใน 10 ปีข้างหน้า
สำหรับในประเทศที่กำลังพัฒนา (รวมทั้งประเทศไทย) ปัญหาเหล่านี้จะลดลงเหลือเป็นเพียง 54% ของภาระสุขภาพ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคติดต่อ (Communicable diseases) และปัญหาอื่นๆ ที่เกิดจากโภชนาการ และปริกำเนิด (Perinatal) ซึ่งเป็น 32% ของภาระสุขภาพ แต่เป็นเพียง 3% ของภาระสุขภาพในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในสังคมที่ด้อยความมั่งคั่ง ผู้คนมักจะมีอายุคาด (Life expectancy) ที่ต่ำ และด้อยโอกาสที่จะมีชีวิตที่แข็งแรง ปรากฏการณ์เช่นนี้ อธิบายได้ด้วยเหตุผลของระดับความเครียด (Stress), โภชนาการ, และการเข้าถึง (Access) บริการดูแลสุขภาพ แต่ความแปรปรวนทั้งหมดของอายุคาด ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยวิถีชีวิต (Life style) ที่มีบทบาทสำคัญไม่น้อย
ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า ในชุมชนที่ผู้คนสนับสนุนซึ่งกันและกัน พร้อมด้วยชีวิตสังคมที่ยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง (Family-centered) จะมีแนวโน้มของอายุคาดที่สูงขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบที่กว้างไกลในพยากรณ์อายุคาด
เมื่อประเด็นภาระสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาได้รับการแก้ไขแล้ว อายุคาด (จากประสบการณ์ในอดีตของประเทศพัฒนาแล้ว) ก็น่าจะพุ่งกระฉูดเหมือนติดจรวด (Sky-rocket) ซึ่งก็มีสัญญาณที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย ที่ผู้ชายและผู้หญิงมีอายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 76 ปี และ 83 ปีตามลำดับ
แหล่งข้อมูล:
- Old age - http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2021, October 5].
- ประชากรสูงวัย - https://intelligence.businesseventsthailand.com/th/insight/aging-trends-01-th [2021, October 5].