จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 336 : วิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 3

จิตวิทยาผู้สูงวัย-336

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 336 : วิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพ 3

คนอายุยืน 100 ปี มีอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น แต่ที่มีหนาแน่นมากก็คือเกาะโอกินาวา ที่มีคนอายุยืนมากเป็นพิเศษ จึงได้มีการทำวิจัยว่า อะไรทำให้อายุยืนและสรุปวิถีชีวิตได้ออกมาเป็น “อิคิไก” (Ikigai ) ซึ่งก็คือ ศาสตร์ที่จะช่วยให้รู้สึกว่า คุณอยากตื่นขึ้นมาในทุกๆ วัน ด้วยชีวิตที่มีความหมาย

ชิคาโกะ โอซาวา-เดอ สิลวา (Chikako Ozawa-de Silva) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยา (Anthropologist) กล่าวว่า สำหรับชั่วอายุคนรุ่นเก่าในญี่ปุ่น “อิคิไก” คือการปรับตัวให้เข้ากับแม่พิมพ์มาตรฐาน (Standard mold) ขององค์กรและครอบครัว แต่สำหรับชั่วอายุคนรุ่นใหม่ “อิคิไก” หมายถึงการใฝ่ฝันถึงสิ่งที่อาจกลายเป็นในอนาคต

ในการศึกษา ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สุขภาพระดับโลก (Global Journal of Health Science) พบว่า “อิคิไก” มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) งานวิจัยบางชิ้นแสดงว่า ผู้คนที่มิได้รู้สึก “อิคิไก” มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardio-vascular disease) แต่ไม่มีประจักษ์หลักฐานของความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของเนื้องอกร้าย (Malignant tumor)

เฮ็กเต้อร์ การ์เชีย (Hector Garcia) ผู้ประพันธ์ร่วมของหนังสือยอดนิยมที่ไขความลับสุดยอดของชาวญี่ปุ่น ในการมีชีวิตยืนนานอย่างมีความสุข กล่าวว่า มนุษย์มีตัณหา (Lust) ในเรื่องวัตถุนิยมและเงิน ตั้งแต่เช้าตรู่ของทุกวัน บางคนรู้สึกไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ แล้วแสวงหาชื่อเสียงและความมั่งคั่งทางวัตถุเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

“อิคิไก” เป็นสิ่งที่พูดและปฏิบัติกันมาหลายปี ซึ่งก็คือการให้ความสนใจกลับไปที่แกนกลางของความหมายในชีวิต (Meaning-fulness in life) กล่าวคือ “อิคิไก” ของคุณเชื่อมโยง (Intersection) กับสิ่งที่คุณเชี่ยวชาญและสิ่งที่คุณชอบทำ

อันที่จริง “อิคิไก” คือ ศาสตร์ที่ช่วยไขข้อข้องใจว่าเหตุผลในการตื่นมาใช้ชีวิตของเราในทุกๆ วันนั้น คืออะไร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือความหมายในการมีชีวิตอยู่นั่นเอง ซึ่ง “อิคิไก” นี้เป็นสิ่งซ่อนอยู่ภายในตัวเรา แต่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนในการค้นหามันให้พบ กฎ 10 ข้อของ “อิคิไก” อันเป็นศิลปะในการใช้ชีวิต ได้แก่

  • กระตือรือร้นกับชีวิตแบบไม่มีวันเกษียณ (Stay active; don’t retire) – เรียนรู้และตื่นเต้นกับสรรพสิ่งใหม่ๆ ในโลก, รักในสิ่งที่ทำ, ทำในสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่าต่อชีวิตตนเอง, ทำหน้าที่ตนเองให้ดีที่สุด, มีความก้าวหน้าทุกๆ วัน, และชื่นชมสิ่งดีๆ รอบตัว
  • ทำอะไรให้ช้าลง (Take it slow) – ที่จริงแล้วคือการคิดใคร่ครวญสรรพสิ่งก่อนลงมือทำ, มีวิสัยทัศน์และแผนงานที่ดีก่อน ว่าหากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะเกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นบ้าง, มิใช่กระตือรือร้นหรือเร่งรีบและลนลานจนไม่ได้มองภาพใหญ่ในระยะยาว

แหล่งข้อมูล:

  1. Ikigai - https://en.wikipedia.org/wiki/Ikigai [2021, September 21].
  2. Hector Garcia and Frances Milles (2017). Ikigai: The Japanese Secret to Long Life and Happiness. New York, NY: Penguin Books.