จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 332 : แนวทางชะลอวัย 1
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 25 สิงหาคม 2564
- Tweet
เราเคยเชื่อกันว่า การชราภาพของคนเรา เหมือนเครื่องจักรที่ถูกใช้งานมาก ก็ย่อมต้องเสื่อมสึกหรอไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการศึกษาค้นคว้าใน 30 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s) สรุปผลว่า เมื่อเซลล์ทำงาน อาทิ ย่อยอาหารเพื่อสร้างพลังงาน หรือเมื่อเราหายใจ, ดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, หรือเมื่อร่างกายถูกแสงแดด จะเกิดผลข้างเคียงต่ออนุมูลอิสระ (Free radical)
กล่าวคือ จะมีการสร้างอนุมูลอิสระไร้อิเล็กตรอน ทำให้ตัวอนุมูลอิสระต้องไป “ขโมย” โปรตีนและดีเอ็นเอ (DNA = Deoxyribo-nucleic acid) ซึ่งส่งผลให้โปรตีนและดีเอ็นเอเสียหาย จนเป็นสาเหตุสำคัญของชราภาพในตัวเซลล์ ทำให้ในที่สุดกลายเป็น โรคภัยต่างๆ นานา
ร่างกายคนเราสามารถต่อสู้กับอนุมูลอิสระได้โดยการกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant) แต่การผลิตสารต้านอนุมูลอิสระจะลดลงตามอายุที่สูงขึ้นด้วย สารต้านอนุมูลอิสระมีสรรพคุณที่สำคัญ มีอิเล็กตรอนส่วนเกินมาแจกให้ดีเอ็นเอที่ถูกอนุมูลอิสระ “ขโมย” อิเล็กตรอนไป จึงเกิดการตื่นตัวขึ้นอย่างมากในการกินอาหารเสริมเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยที่สนับสนุนให้กินอาหารเสริม อาทิ วิตามิน C, วิตามิน A, ซีลีเนียม (Selenium), แมงกานีส (Manganese), และโคคิวเทน (CoQ10) มีจำมากชิ้นในประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีผู้ร่วมโครงการกว่าแสนคน ได้บทสรุปว่า ประโยชน์ที่ได้จากการกินอาหารเสริมดังกล่าวแทบไม่มีเลย แถมยังอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายบางโรคอีกด้วย
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยอย่างกว้างขวางใน 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา งานวิจัยดังกล่าวใช้มาตรฐานการทดลองแบบอำพราง (Double-blind) โดยแบ่งผู้เข้าร่วมวิจัยออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกให้กินอาหารเสริมแท้ เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ และกลุ่มหลังให้กินอาหารเสริมเทียม (Placebo) แต่ทั้งสองกลุ่ม ไม่มีใครทราบว่า ใครได้กินอาหารเสริมแท้ ใครได้กินอาหารเสริมเทียม โดยที่ผู้แจกอาหารเสริมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่สรุปผลจากงานวิจัยประเภทนี้แต่ละชิ้น ได้ดังนี้
- การศึกษา Women’s Health Study2 ใน ปี ค.ศ. 2005 ผู้หญิงสุขภาพดี จำนวน 39,876 คน (อายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี ณ ตอนเริ่มงานวิจัย) ได้รับการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยที่กลุ่มหนึ่งกินวิตามิน E 600 IU (= International unit) วันเว้นวัน อีกกลุ่มหนึ่ง กินอาหารเสริมเทียม หลังจาก 10 ปี คนที่กินวิตามิน E ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดในสมองตีบตัน, โรคมะเร็ง, และโรคจอประสาทตาเสื่อมจากชราภาพ (Age-Related Macular Degeneration: AMD) น้อยไปกว่าคนที่ไม่ได้กินวิตามิน E แม้ว่าคนที่กินวิตามิน E เสียชีวิตจากการเป็นหัวใจ น้อยกว่าคนที่ไม่ได้กินวิตามิน E แต่ทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเสียชีวิต (หรืออายุยืน) เท่ากัน
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- I-Min Lee, et al. (2005). Vitamin E in the Primary Prevention of Cardiovascular Disease and Cancer. The Women’ Health Study: A randomized Controlled Trial. JAMA. V 294 (1), pp. 56 – 65, July 2005.