จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 331 : การวิ่งในผู้สูงวัย 6

จิตวิทยาผู้สูงวัย-331

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 331 : การวิ่งในผู้สูงวัย 6

มีงานวิจัยในปี ค.ศ. 1995 โดยใช้วิธีสอบถามอดีตนักกีฬาอาชีพจำนวน 1,000 คน เปรียบเทียบกับคนที่มิใช่นักกีฬาอาชีพจำนวน 620 คน สรุปผลว่า ทั้ง 2 กลุ่มมิได้มีปัญหาปวดหลังที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในการตรวจร่างกายนักกีฬาอย่างละเอียด 24 คน โดยการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging : MRI) พบว่า กลุ่มนักกีฬานี้มีปัญหาปวดหลังหรือปวดเอวน้อยกว่าคนทั่วไปอย่างมาก และนักวิ่งมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูก (Disc) ที่เอวน้อยกว่านักกีฬาที่เล่นฟุตบอลและยกน้ำหนัก

นอกจากนี้ยังมีการสรุปว่า กระดูกสันหลังของนักวิ่ง แข็งแรงกว่าคนที่ไม่วิ่งอย่างมาก และการวิ่งอย่างหนักหน่วง มิได้ส่งผลเสีย ในแง่ที่ทำให้เจ็บหลัง อย่างแน่นอน

งานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยดีคิน (Deakin University) ในออสเตรเลีย ในปี ค.ศ. 2017 ได้เก็บข้อมูลชาย-หญิง 79 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักวิ่งประมาณ 2 ใน 3 โดยแบ่งกลุ่มเป็นนักวิ่งระยะไกล (มากกว่าสัปดาห์ละ 50 กิโลเมตร) และระยะปานกลาง (สัปดาห์ละ 20 ถึง 40 กิโลเมตร) แล้วเปรียบเทียบกับคนที่ไม่วิ่งเลย

ทั้งนี้ได้ใช้ MRI เพื่อวัดขนาดและคุณภาพของกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลังของผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคน ปรากฏว่า หมอนรองกระดูกของนักวิ่ง มีขนาดใหญ่กว่า และมีของเหลวมากกว่าคนที่ไม่วิ่งเลย แสดงว่า นักวิ่งมีกระดูกสันหลังที่แข็งแรงกว่าคนที่ไม่วิ่งเลย

แต่ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องวิ่งหักโหมหนัก เพราะกระดูกสันหลังของกลุ่มคนที่วิ่งสัปดาห์ละ 20 ถึง 40 กิโลเมตร มีความแข็งแรงไม่แตกต่างจากกลุ่มคนที่วิ่งมากกว่าสัปดาห์ละ 50 กิโลเมตร

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่า การวิ่งเพื่อให้หมอนรองกระดูกสันหลังแข็งแรงนั้น ไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว กล่าวคือ หากเดินเร็ว หรือวิ่งเพียงชั่วโมงละ 7.5 ถึง 8 กิโลเมตร ก็เพียงพอที่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลัง มีความแข็งแรงไม่แตกต่างจากกลุ่มคนที่วิ่งเร็วกว่านั้น

คริสโตเฟอร์ แม็คดูกัลล์ (Christopher McDougall) ผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ “เกิดมาเพื่อวิ่ง” (Born to Run) ได้เล่าเรื่องชนเผ่าทาราฮูมารา (Tarahumara) ในประเทศเม็กซิโก ที่สามารถวิ่งทั้งวันทั้งคืนเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร โดยสวมใส่รองเท้าแตะที่ทำจากยางรถยนต์

หนังสือเล่มนี้ยังอ้างอิงถึงงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูท่าห์ (University of Utah) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในปี ค.ศ. 2004 ที่นำเสนอทฤษฎีใหม่ว่า ร่างกายมนุษย์ที่มีวิวัฒนาการมานานไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านปีนั้น มิใช่เพื่อให้ลุกขึ้นยืนและเดินอย่างเดียว แต่ถูกออกแบบมาให้วิ่งทนได้ดีกว่าสัตว์ทุกชนิดในโลกนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. Daniel L. Belavy, et al. (2017). Running Exercise Strengthens the Intervertebral Disc. Scientific Reports. V 7 (45975), April 2017.
  2. Gretchen Reynolds (2017). Why Running May Be Good for Your Back. New York Time. June 7, 2017.
  3. Christopher McDougall (2009). Born to Run: A Hidden Tribe, Super-athletes, and the Greatest Race the World Has Never Seen. New York: Alfred A. Knof.