จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 328 : การวิ่งในผู้สูงวัย 3

จิตวิทยาผู้สูงวัย-328

      

จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 328 : การวิ่งในผู้สูงวัย 3

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคสมองเสื่อม (40% เป็นค่ายา) และค่าดูแลผู้ป่วย (อีก 60% เป็นภาระของลูกหลาน หรือของรัฐในประเทศที่มีสวัสดิการ) รวมทั้งสิ้น อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 1.25% ของรายได้ประชาชาติของโลก ซึ่งเป็นภาระทางการเงินที่หนักอึ้ง สำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศ

งานวิจัยพบว่า ผู้ที่สมองเริ่มมีปัญหา จะเดินช้าลง คนที่เดินโดยความเร็วชั่วโมงละ 3 กิโลเมตร หรือต่ำกว่านั้น เริ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ผู้คนส่วนใหญ่จะเดินได้ชั่วโมงละ 5 ถึง 6 กิโลเมตร การประเมินความเสี่ยง จะทำได้ง่าย เพียงเดินแล้ว ลองใช้สมองคิดอะไรง่ายๆ ไปด้วย อาทิ นับถอยหลัง หรือบวกเลขไปด้วย

ตามปรกติ คนเราจะสามารถเดินไปด้วยและคิดไปด้วย โดยใช้ความเร็วเท่าเดิม แต่สำหรับคนที่เริ่มมีปัญหาโรคสมองเสื่อม จะเดินช้าลง 25% หากต้องเดินไปและใช้สมองไปพร้อมกัน อันที่จริง การเดินหรือวิ่งนั้น เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองประสานงานกับหลายส่วนของร่างกาย เพื่อการเคลื่อนที่และเปลี่ยนทิศทาง รวมทั้งหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่ดักขวางอยู่ข้างหน้า และรักษาความสมดุลของร่างกายมิให้ล้มลง

ในการป้องกันโรคสมองเสื่อม คำแนะนำอันดับแรกในการออกกำลังกาย มักจะให้เดินเร็ว สัปดาห์ละ 3 ถึง 4 ครั้ง เป็นเวลาสัปดาห์ละ 180 ถึง 240 นาที โดยให้มีความเร็วชั่วโมงละ 6 กิโลเมตร (การเดินปรกติจะได้ชั่วโมงละ 4 กิโลเมตร) เพื่อให้หัวใจเต้นเร็ว 60% ของการเต้นที่เร็วสุดของหัวใจ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก (University of Pittsburgh) ในปี ค.ศ. 2018 แสดงว่า การที่หลอดเลือดใหญ่ (Aorta) แข็งตัวและตีบตันจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอ น่าจะเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสื่อมถอยของสมอง แล้วนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ส (Alzheimer’s) ในที่สุด โดยที่ 80% มักเป็นโรคหัวใจด้วย

เดิมทีเราเชื่อกันว่า เซลล์ในสมองจะค่อยๆ ตายไป ทำให้เซลล์ลดจำนวนลงเรื่อยๆ ตามอายุขัยที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุด แสดงว่า สมองคนเรามิได้ค่อยๆ เสื่อมถอยลง แต่สามารถฟื้นฟูและปรับตัวเองได้ (Neuro-plasticity) แล้วยังผลิตเซลล์สมองเพิ่มเติมขึ้นได้อีกด้วย (Neuro-genesis)

โปรตีนมีส่วนสำคัญมากในกระบวนการฟื้นฟูสมองและเพิ่มเซลล์สมอง (Brain-derived, neuro-trophic factor : BDNF) และยังมีข้อสรุปทางวิชาการว่า ความผิดปรกติเกือบทุกประเภทขของสมองนั้น เกิดจากการมีระดับ BDNF ต่ำ จนประสบปัญหาชราภาพเร็ว และภาวะอ้วนเกินอีกด้วย

เราสามารถกระตุ้นให้ BDNF สูงขึ้น โดยการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว (Aerobics) เท่ากับ 60 ถึง 75% ของอัตราการเต้นเร็วสุด เมื่อหลอดเลือดในร่างกายแข็งแรง สมองก็จะแข็งแรงพร้อมกันไปด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Jennifer Bieman, (2018). Study Probes Possibility of Walking-Talking Test to Predict Dementia. The London Free Press. Last modified September 19, 2018.
  2. University of Pittsburgh School of Health Sciences (2018). Modifiable Dementia Risk Factor in Older Adults Identified. ScienceDaily, October 16, 2018.
  3. Karsten Mueller, et al. (2015). Physical Exercise in Overweight to Obese Individuals Induces Metabolic- and Neurotrhphic-related Structural rain Plasticity. Frontiers in Human Neuroscience. V. 9 (372), July 2015.