จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 321 : ออกกำลังกายกับอายุยืน 4
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 9 มิถุนายน 2564
- Tweet
ดังนั้น ผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แล้วรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยใช้เวลาพักฟื้นนานหลายสัปดาห์นั้น จะประสบอันตรายข้างเคียงต่อสุขภาพในระยะยาวได้
สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service Agency) ของอังกฤษได้รายงานผลวิจัย ที่นำเสนอในวารสารการแพทย์ The Lancet ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2012 (ช่วงจังหวะเดียวกันกับการเตรียมตัวของกีฬาโอลิมปิกส์) ว่า การปราศจากการออกกำลังกายนั้น เป็นอันตรายต่อชีวิต ไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่ โดยสรุปผลดังนี้
- ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ทั่วโลก ปราศจากการออกกำลังกาย (Physical activity) อย่างเพียงพอ จนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 5.3 ล้านคนในปี 2008 คิดเป็นเกือบ 10% ของการเสียชีวิตทั้งหมด 57 ล้านคนทั่วโลก ในปีเดียวกัน
- การปราศจากการออกกำลังกายเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ (Heart disease), ความดันโลหิตสูง (High blood pressure), โรคเบาหวาน (Diabetes), โรคมะเร็งเต้านม (Breast cancer), และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำใส่ใหญ่นั้น 18.7% มีสาเหตุจากการปราศจากการออกกำลังกาย ซึ่งสูงกว่าโรคหัวใจที่มีการเสียชีวิต 10.5%
- ในปี ค.ศ. 2017 มีผู้เสียชีวิตเพราะการสูบบุหรี่ถึง 7 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า การปราศจากการออกกำลังกายนั้น มีผลเสียที่ร้ายแรงกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก นักวิจัยในทีมงาน 33 คน จากทั่วโลก กล่าวว่า ปัญหานี้เลวร้ายราวกับการแพร่ระบาดของโรคไปทั่วโลก (Pandemic)
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นการสรุปที่เกินความจริง เพราะสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่ในประชากรทั้งหมด ย่อมต่ำกว่า ประชากรที่ปราศจากการออกกำลังกาย ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่เป็นกิจกรรมอันตรายสูงสุด และเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างไม่มีเงื่อนไข
ทีมงานนักวิจัยเสนอแนะว่า ในการแก้ปัญหาการปราศจากการออกกำลังกาย รัฐบาลทั่วโลกควรเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยการเตือนให้ประชาชนของตนเองทราบถึงมหันตภัยของการปราศจการการออกกำลังกาย พร้อมทั้งทำให้การออกกำลังกายมีความสะดวก, ปลอดภัย, และเข้าถึงง่ายอย่างไม่มีค่าใช้จ่ายเกินเอื้อม (Affordable)
การศึกษาครั้งนี้ พบว่าผู้คนในประเทศที่มีรายได้สูง มีการออกกำลังกายน้อยกว่าผู้คนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะชาวอังกฤษอยู่ในกลุ่มที่เลวร้ายสุด เพราะประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ใหญ่ไม่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ ทีมนักวิจัยยอมรับว่าการเปรียบเทียบข้ามประเทศอาจทำได้ยาก เพราะวิถีการออกกำลังกายแตกต่างกันระหว่างประเทศ แต่เชื่อว่าบทสรุปโดยรวม (Overall conclusion) จะสมเหตุผล (Valid) เหมือนกัน
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- BBC News : Inactivity killing as many as smoking https://www.bbc.com/news/uk-wales-politics-18876880 [2021, June 8].