จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 316 : อดอาหารกับลดน้ำหนัก 2
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 5 พฤษภาคม 2564
- Tweet
การอดมื้อ กินมื้อ (Intermittent fasting : IF) หรือการอดอหารเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่องกัน กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่มีการนำเสนอแนวทางนี้ต่อสาธารณชน ผ่านรายการสุขภาพของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง โดยที่ส่วนใหญ่จะถือเป็นแนวทางปฏิบัติของการอดอาหาร 2 วัน ต่อ 1 สัปดาห์
ตัวอย่างเช่น ไม่กินอะไรเลย หรือกินเพียง 500 แคลอรี่ (Calorie) ในวันอังคารและวันพฤหัสบดี แต่ในวันอื่นๆ ของสัปดาห์ ให้กินได้ตามปรกติ แต่ระมัดระวังประเภทอาหารที่กิน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีตัวอย่างในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ ส่วนมากแล้วไปไม่รอด เพราะมีอาการหิวและอ่อนเพลียมากในวันที่อดอาหาร
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการกินอาหารแบบจำกัดช่วงเวลาในการกิน (Time-restricted eating : TRE) อาทิ เวลากินในแต่ละวัน อยู่ระหว่าง 8 – 10 ชั่วโมง ถ้ากินมื้อเช้าเวลา 8.00 น. ก็ต้องกินมื้อเย็นไม่ล่าช้ากว่าเวลา 18.00 น. ทำให้ร่างกายว่างเว้นจากอาหาร 14 – 18 ชั่วโมง เพื่อการย่อยอาหารที่ยาวนานขึ้น
หากทำไม่ได้จริงๆ ก็ควรลองกินเพียงวันละ 2 มื้อ โดยมีช่วงที่ร่างกายเว้นจากการกินอาหารไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ชาวอเมริกันนั้น โดยเฉลี่ยกินอาหารวันละ 15 ชั่วโมง แม้จะไม่มีสถิติในประเทศไทย แต่ก็น่าจะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งสามารถหาซื้ออาหารได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สาเหตุที่จำกัดเวลากินนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ “นาฬิกาชีวภาพ” (Circadian rhythm) ตามที่นักวิทยาศาสตร์ทราบกันมานานหลายสิบปีแล้วว่า ร่างกายมนุษย์มีการปรับเปลี่ยนการทำงานตามเวลารอบ (หรือวัน) ละ 24 ชั่วโมง นาฬิกาชีวภาพนั้นมิได้อยู่ที่สมอง (Hypo-thalamus) แต่จุดเดียว
เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ได้มีการค้นพบเพิ่มเติมว่า อวัยวะทุกประเภท ก็มีนาฬิกาของตนเอง อาทิ ตับอ่อนจะผลิตอินซูลิน (Insulin) เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในช่วงเวลากลางวัน และจดลดการผลิตอินซูลินในเวลากลางคืน ดังนั้น ถ้าเรากินอาหารหวานตอนดึก ก็จะมีโอกาสสูงที่จะมีระดับน้ำตาลสูงในเลือด เพราะตับอ่อนจะผลิตอินซูลินออกมาน้อย
เช่นเดียวกัน ลำไส้ก็มีนาฬิกาของตนเองในการย่อยอาหารและระบายของเสียออก การกินอาหารพร่ำเพรื่อ จึงเป็นการบังคับให้ระบบย่อยอาหารต้องทำงานหนักกว่าปรกติ และเป็นอุปสรรคต่อระบบความคุมการทำงานที่ได้วิวัฒนามานับล้านปี อันดำเนินไปตามการโคจรของโลกที่มีทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน
แต่ความเป็นอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน ดำเนินวิถีชีวิตที่ไม่ถูกกำหนดโดยช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน เพราะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการปรับเปลี่ยนเวลาตามความต้องการของมนุษย์ ข้อสำคัญคือการค้นพบว่า นาฬิกาชีวภาพนั้น มียีน (Gene) ที่ควบคุมการทำงานในระดับเซลล์
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Intermittent fasting - https://en.wikipedia.org/wiki/Intermittent_fasting [2021, May 4].
- Time-Restricted Eating: A Beginner’s Guide - https://www.healthline.com/nutrition/time-restricted-eating [2021, May 4].