จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 310 : สูงวัยอย่างมีคุณภาพ 3

จิตวิทยาผู้สูงวัย-310

      

เมื่อดูจากค่าเฉลี่ย ชาวอเมริกันในช่วงอายุ 15 ถึง 34 ปี มีโอกาสจะเสียชีวิต จาก 5 โรคร้าย (อันได้แก่ โรคหัวใจ [Heart disease], โรคมะเร็ง [Cancer], โรคเบาหวาน [Diabetes], โรคหลอดเลือดสมอง [Stroke], และโรคอัลไซเมอร์ส [Alzheimer’s] เพียง 11% (หรือ 1 ใน 9 คน) แต่เมื่อายุ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสจะเสียชีวิตจาก 5 โรคร้ายสูงถึง 60% (หรือกว่า 1 ใน 2 คน)

ดร. เลียวนารด์ กาเรนเต (Leonard Guarente) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ชีววิทยา ที่สถาบันเทคโนโลยี แมสสาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) กล่าวถึง วิวัฒนาการเพื่อลดความเสี่ยงที่มนุษย์จะสูญพันธุ์ เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร จนเกิดความอดอยากอย่างรุนแรงและกว้างใหญ่ไพศาล

ในอดีตหลายแสนปีมาแล้ว คงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เผ่าพันธุ์ที่อยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ ร่างกายจะต้องทนต่อการอดอาหารเป็นเวลายาวนาน จึงสามารถรอดตายมาได้ อันที่จริง มียีน (Gene) ในเซลล์มนุษย์ที่วิวัฒนามาให้ร่างกายแข็งแรง พอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ แม้ปราศจากอาหาร 20 ถึง 30 วัน โดยไม่ได้รับอันตรายถึงชีวิต

ยีนที่เกี่ยวข้องกับการอดอาหาร คือกุญแจสำคัญเพื่อชะลอวัย หรือแม้กระทั่งย้อนเวลาชราภาพ การอดอาหารเป็นกิจวัตร เป็นการส่งสัญญาณไปยังเซลล์ว่า ต้องซ่อมแซมและบำรุงตัวเอง เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างแข็งแกร่งไปอีกนาน การทำงานของยีน และองค์ประกอบอื่นๆ น่าจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ ค้นหาวิธีการและผลิตอาหารเสริมที่ช่วยรักษาโรคชราภาพได้ในที่สุด

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเก็บข้อมูลการดำเนินชีวิตของผู้หญิง 73,196 คน เป็นเวลา 34 ปี และของชาย 38,366 คน เป็นเวลา 28 ปี สรุปได้ว่า หากต้องการมีอายุยาวนานขึ้นอีก 12 ถึง 14 ปี ต้องดำเนินชีวิตตามกฎเหล็ก 5 ข้ออย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มันมากหรือหวานเกินไป

2. ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที

3. มีดัชนีมวลกาย (Body mass index : BMI) อยู่ระหว่าง 18.5 ถึง 24.9

4. ดื่มไวน์ไม่เกินวันละ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง และไม่เกินวันละ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย

5. ห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

ในบริบทของสังคมไทย อาจไม่มีข้อ 4 และ 5 ให้กังวล แต่อาจต้องเพิ่มอีกข้อหนึ่งซึ่งงานวิจัยที่ มิได้กล่าวถึง นั่นคือการนอนหลับให้เพียงพอ ทั้งหลับลึกและหลับฝัน (Rapid eye movement : REM) ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคร้ายทั้งหลาย ดังกล่าวข้างต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
  2. Leonard P. Guarente - https://en.wikipedia.org/wiki/Leonard_P._Guarente [2021, March 23].
  3. Karen Feldscher (2018). Five Healthy Habits to Live By. The Harvard Gazette. April 30, 2018.