จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 308 : สูงวัยอย่างมีคุณภาพ 1
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 10 มีนาคม 2564
- Tweet
ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ได้หันมาศึกษาเรื่องสุขภาพอย่างจริงจังในบั้นปลายของชีวิตการทำงาน โดยอาศัยทักษะการวิเคราะห์เศรษฐกิจ มาประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลอันซับซ้อนในเชิงลึกของวงการสุขภาพ จนตกผลึกมาเป็นความคิดอ่านที่สะท้อนอยู่ในหนังสือชื่อ Healthy Aging
หนังสือดังกล่าว มีชื่อรอง (Sub-title) ว่า “เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย – สูงวัยอย่างมีคุณภาพ” โดยเขาออกตัวว่า ไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องสุขภาพมาก่อนหน้านี้เลย แต่สิ่งที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ของเขา เป็นข้อมูลและผลงานของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาทางการแพทย์ ที่กลั่นกรองมานำเสนอ เพื่อให้ชีวิตชราภาพ ไม่จำเป็นต้องชราสุขภาพ
ความคิดของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมองว่า ต้นตอของการเป็นโรคร้ายที่ไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases : NCD) [อันได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ, โรคความดัน, โรคสมองเสื่อม เป็นต้น] นั้น เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อสูงวัย ดังนั้น โรคที่จะต้องรักษา คือ โรคชราภาพ
เราถูกสอนมาตลอดชีวิตถึงการ “เกิด, แก่, เจ็บ, ตาย” แต่เมื่อได้ศึกษาข้อมูลทางชีววิทยา ก็พบความเข้าใจในเรื่องเซลล์ (Cell) และโมเลกุล (Molecule) ที่เป็นส่วนประกอบของเซลล์ แล้วก็เชื่อมโยงไปถึงศาสตราจารย์โยชิโนริ โอซูมิ (Yoshinori Ohsumi) ผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel prize) ในปี ค.ศ. 2016 จากการค้นพบกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy)
การกลืนกินตัวเองของเซลล์ เป็นเรื่องที่ได้รับการค้นพบมากว่า 50 ปี ก่อนหน้างานวิจัยของ ศาสตราจารย์โอซูมิ แต่ที่เขาได้รับรางวัลโนเบลนั้น เนื่องจากสามารถทดลองกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์ผ่านการอดอาหาร และต่อมก็สามารถระบุได้ว่า ยีนตัวใดเป็นปัจจัยสำคัญในกลไกดังกล่าว
งานวิจัยของศาสตราจารย์โอซูมิทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการกลืนกินตัวเองของเซลล์ว่า หากควบคุมสภาวะดังกล่าว มิได้มันทำหน้าที่ตามปรกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ จนไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียและไวรัสที่เข้ามาทำให้ร่างกายเสื่อมสมรรถนะลง รวมทั้งทำลายโปรตีนที่ชำรุด (อันเป็นกลไกต้านทานชราภาพ) อีกด้วย
การขัดขวางกลไกกลืนกินตัวเองนั้นเชื่อมโยงกับโรคผู้สูงวัยต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง, และโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s) จึงสรุปได้ว่า ยารักษาโรคชราภาพ น่าจะถูกค้นพบได้จากงานวิจัยในระดับเซลล์ โดยเฉพาะยีนที่ควบคุมการทำงานและชราภาพของเซลล์ ดังนั้น การจัดการให้ยีนดังกล่าวมีความแข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นคำตอบสุดท้าย
เนื่องจากการกระตุ้นการกลืนกินและซ่อมแซมเซลล์นั้น ทำได้โดยการอดอาหาร และกดดัน (Stress) ร่างกาย กล่าวคือเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง เราจำต้องบริโภคอาหารพอประมาณ [มิให้อิ่มเกินไป] และออกกำลังกาย จนเป็นกิจวัตรประจำวัน อันจะนำไปสู่การมีอายุยืนโดยปริยาย
แหล่งข้อมูล:
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร. (2562). Healthy Aging: เกิด แก่ (ไม่) เจ็บ ตาย - สูงวัยอย่างมีคุณภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Openbooks ในเครือบริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด
- Ageing - http://en.wikipedia.org/wiki/Ageing [2021, March 9].
- Yoshinori_Ohsumi - https://en.wikipedia.org/wiki/Yoshinori_Ohsumi [2021, March 9].